หลายคนอาจจะรู้สึกแปลกใจว่า การต่อสู้คดีในศาล จำเลยมีสิทธิยื่นฟ้องผู้พิพากษา และขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาได้ด้วยหรือ?
ด้วยเหตุเพราะว่า ช่วงที่ผ่านมา ไม่เคยปรากฎเป็นข่าวว่า จำเลยในคดีใดๆ..ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องผู้พิพากษาเจ้าของคดีเพื่อให้เป็นคู่พิพาทกับจำเลย และใช้สิทธิขอยื่นเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา แต่เมื่อ"จตุพร พรหมพันธุ์"จำเลยคดีที่ถูก"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"ฟ้องฐานหมิ่นประมาท รวม 4 สำนวน เขาใช้สิทธิดังกล่าว
โดยที่เขาอ้างว่า“นายสมศักดิ์ วงศ์ยืน”องค์คณะผู้พิพากษาไม่ให้ความเป็นธรรมกับเขา จนสุดท้าย วิธีการต่อสู้ของ"จตุพร"ก็ได้รับการตอบสนองจากศาล ด้วยเหตุ“นายสมศักดิ์ วงศ์ยืน”ขอถอนตัว ส่งผลให้การเปลี่ยนองค์คณะเกิดตามที่เขาร้องขอ ทั้ง 4 สำนวน
นอกจากนั้น หลังเปลี่ยนผู้พิพากษาองค์คณะใหม่ ก็ได้เปิดโอกาสให้เขา ยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมเพื่อสืบพยานใหม่ ทั้งในสำนวนที่กระบวนการพิจารณาในศาลเสร็จสิ้นและนัดวันพิพากษาแล้ว ก็ต้องมาเริ่มสืบพยาน อีก 6-7 ปาก ใช้เวลา 3 นัด โดยศาลนัดพร้อมคู่ความเพื่อตรวจความพร้อมการเตรียมพยานและกำหนดวันสืบพยาน ในวันที่ 25 ม.ค. 54 เวลา 10.00 น.เพื่อเติมเต็มความเป็นธรรมให้กับจำเลยที่ชื่อ"จตุพร พรหมพันธุ์"
การต่อสู้คดีของ"จตุพร"ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่คดีที่ถูก"อภิสิทธิ์"ฟ้องร้องเท่านั้น!!! แต่เขาได้มอบหมายให้"คารม พลทะกลาง"ทนายความ ยื่นคำร้องต่อ "นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์"อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อขอเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษาในคดีที่พวกเขา ถูกฟ้องเป็นจำเลยฐานก่อการร้าย กรณีปลุกม็อบเผาบ้าน เผาเมือง โดยผู้ก่อการร้ายแก๊งนี้อ้างว่า เนื่องจากองค์คณะไม่ให้โอกาสจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย เนื่องจากไม่อนุญาตให้กลุ่มคนเสื้อแดงร่วมฟังการพิจารณาคดี
อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าสู่กระบวนการยื่นขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา "ณัฐวุฒิ และกลุ่มจำเลย"ก็ได้ทำตามขั้นตอน คือ ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการตุลาการ หรือ กต.และหาก เขาไม่ได้รับการตอบสนองจาก กต.พวกเขาก็เตรียมยื่นฟ้องผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบสำนวนคดี ต่อศาล เพื่อให้เป็น คู่พิพาทกับจำเลย ภายใต้สิทธิ์ตามบทบัญญัติประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11 (6) ที่กำหนดเหตุการณ์คัดค้านผู้พิพากษาไว้ว่าถ้าผู้พิพากษานั้นมีคดีข้อพิพาท กับคู่ความสามารถคัดค้านได้
สำนวนคดีประวัติศาสตร์คดีนี้ ผลที่จะตามมาคือ...กต.จะตอบสนองจำเลยก่อการร้ายคดีนี้หรือไม่? องค์คณะเดิมจะขอถอนตัวหรือไม่? และศาลจะยอมเปลี่ยนองค์คณะตามที่ จำเลยเสื้อแดงร้องขอหรือไม่? วันที่ 28 ก.พ.นี้ เวลา 09.00 น.ซึ่งเป็นวันสืบพยานนัดแรก น่าจะมีคำตอบ
ส่วนขั้นตอนการแจกจ่ายสำนวนคดีให้องค์คณะผู้พิพากษาของศาลอาญา"เกริกฤทธิ์ อิฐรัตน์"เลขานุการศาลอาญา ชี้แจงไว้ว่า ตามปกติแล้วการแจกจ่ายสำนวนคดีให้องค์คณะผู้พิพากษาจะเป็นแบบเรียงลำดับ ไม่ได้กำหนดตายตัวว่า จะให้องค์คณะนี้รับผิดชอบคดีไหน
แต่สำหรับคดีที่มีความสำคัญ และอยู่ในความสนใจของประชาชน เช่นคดีที่นายกรัฐมนตรีฟ้องหมิ่นประมาท นายจตุพร พรหมพันธุ์ หรือคดีที่แกนนำ นปช.ตกเป็นจำเลยฐานก่อการร้าย นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาล จึงจะพิจารณาจ่ายสำนวนให้ผู้พิพากษาอาวุโสรับผิดชอบเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของศาลอาญา
ดังนั้น จากวิธีการต่อสู้คดี ที่ไม่เคยมีจำเลยคดีใดกล้าท้าทายอำนาจศาล ด้วยการฟ้องและขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่(ที่ผิดๆ)ในการต่อสู้ให้กับจำเลยคดีอื่นๆในศาล หรือไม่ และหากวันต่อไป จำเลยคดีใด เห็นว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ศาลไม่เปิดโอกาสให้เขาได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และแนวโน้มรู้แน่ว่า เขาแพ้คดีแน่ จึงถือโอกาสยึดมาตรฐานคดี"จตุพร"ด้วยการยื่นขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา แล้ว ศาลจะว่าอย่างไร ยอมเปิดโอกาสให้จำเลยเหล่านั้นหรือไม่ หรือ เทคติกการเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา สงวนสิทธิ์ไว้เฉพาะจำเลย(โจร)ที่ชื่อ"จตุพร พรหมพันธุ์"เท่านั้น....เรื่องนี้ น่าคิด!