ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จากการสนธิกำลังของตำรวจหลายหน่วย เพื่อปฏิบัติการ “รื้อส้วม” และบุกเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อยามฟ้าสางของวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนคนไทยได้รู้ซึ้งและสิ้นสงสัยกันโดยทั่วไปแล้วว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บรรลุถึงแล้วซึ่งแก้วสามประการของการเป็นรัฐบาลและผู้นำที่ “ห่วยแตก” และ “ไม่เอาไหน” ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แก้วสามประการที่ว่านั้นก็คือการ “ลุแก่อำนาจ ขี้ขลาดตาขาว และไร้จิตสำนึก” อย่างเหนือคำบรรยาย สุดที่จะพรรณนา และเกินที่จะจินตนาการ จริงๆ!
อย่างไรก็ตาม จากการที่ตำรวจหลายหน่วยนำกำลังเข้าปฏิบัติการรื้อส้วมและสลายการชุมนุมครั้งนี้ ได้ทำให้ประชาชนที่อยู่ทางบ้านและอยู่นอกการชุมนุมเดินทางเข้ามาสมทบร่วมกับผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ เป็นจำนวนมาก โดยการเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมของมวลชนในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการเป่านกหวีดของแกนนำแต่อย่างใด แต่เกิดจากการกระทำและพฤติกรรมของรัฐบาลและผู้นำนั้นเองที่เป็นการ “เรียกแขก” ให้พันธมิตรฯ
เพราะเนื่องจากมีข่าวที่น่าเชื่อถือได้ว่า เวลาตี 4 ตำรวจจะเข้ามาสลายการชุมนุม ซึ่งเมื่อถึงเวลา ทางตำรวจก็มีทีท่าเช่นนั้นจริงๆ เพราะมีการจัดกำลังปิดทุกช่องทางที่จะเข้าสู่พื้นที่การชุมนุม ทั้งด้านสะพานชมัยมรุเชฐ แยกมิสกวัน แยกวังแดง และด้านหลังเวทีสะพานมัฆวานฯ รวมทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ กทม. พร้อมรถน้ำ และเครื่องทุบรื้อห้องสุขา มาเตรียมพร้อม และพอถึงเวลาตี 5 เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วย พร้อมแก๊สน้ำตา โล่ และกระบอง ก็เริ่มปฏิบัติการทุบรื้อ "ส้วม" ของชาวบ้าน ทำให้มวลชนต้องออกไปขัดขวาง โดยช่วงแรก การปิดล้อมของเจ้าหน้าที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในการข่มขวัญ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไป พันธมิตรฯ รอบนอกก็เดินทางเข้ามาสมทบได้ทันเวลาและเข้าปฏิบัติการ “แซนด์วิช” ประกบอัดแนวตำรวจจากด้านนอกโดยไม่มีอาวุธ ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยต้องล่าถอยออกไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการสลายการชุมนุมครั้งนี้ ความจริงแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ได้ต้องการพื้นที่บางส่วน หรือเพียงห้องส้วมเท่านั้น เพราะจากในหนังสือที่ทางตำรวจได้ยื่นคำขาดให้กลุ่มพันธมิตรฯ นั้น ระบุชัดว่า ต้องให้ออกจากพื้นที่การชุมนุมทั้งหมด และจากการตรวจสอบของแกนนำพันธมิตรฯ พบว่า การสั่งการไม่ได้มีลายลักษณ์อักษร หากเกิดเหตุการณ์เหมือนเมื่อครั้งวันที่ 7 ต.ค.51 และเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่งหากมีการดำเนินการทางกฎหมาย ก็จะเอาผิดได้เพียงข้าราชการ ส่วนนักการเมืองที่เป็นผู้สั่งการ ก็จะลอยตัวทุกครั้ง
"...พันธมิตรฯ ไม่ได้มาชุมนุมเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่มาชุมนุมเพื่อปกป้องดินแดน อย่างไรก็ตาม เรื่องการรื้อห้องส้วมนั้น เชื่อว่าไม่ได้เป็นความคิดของ กทม. แต่เป็นแนวคิดของรัฐบาล ที่ต้องการให้ผู้ชุมนุมอยู่ลำบาก และออกไปเอง เพราะหากปล่อยเราไว้ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ เพราะมีการเปิดโปงการทำผิดของรัฐบาล ทั้งเรื่องการรักษาดินแดน ข้าวยากหมากแพง และการทุจริตคอร์รัปชั่น” พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์
ขณะที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ได้ขึ้นปราศรัยบนเวที ระบุว่า เหตุที่ตำรวจพยายามสลายการชุมนุมในครั้งนี้ เพราะต้องการให้การประชุมสภาฯ เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 15 มี.ค. เป็นไปอย่างมีความสุข เนื่องจากเกรงว่าพันธมิตรฯ จะเคลื่อนมวลชนไปล้อมรัฐสภา
"พวกเรามาทำหน้าที่ปกป้องบ้านเมือง ดังนั้น, คนที่จะมาสลายพวกเรา ก็คือคนขายชาติ ต่อจากนี้ไป ต้องมีการยันไม่ให้ตำรวจเข้ามาได้อีก และหากใครถูกทำร้าย ก็ให้ตะโกนดังๆ ว่า ตำรวจรังแกประชาชน!" นายสนธิกล่าว
นอกจากนี้ นายสนธิ ยังกล่าวอีกว่า นายอภิสิทธิ์นั้น เป็นคนที่ตอแหล และเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่นมานานแล้ว โดยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2551 นายอภิสิทธิ์ยังได้พูดประชดประชัน นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นนอมินี ซึ่งถ้าเขาจะขึ้นเป็นนายกฯ เขาจะต่อสู้ด้วยตนเองไม่เป็นนอมินีหุ่นเชิดให้ใคร อยากถามว่า นายอภิสิทธิ์พูดตอนนั้นได้ขออนุญาตนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายเนวิน ชิดชอบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือยัง!?
“...นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเหยียบศพประชาชนขึ้นมาเป็นใหญ่แล้วถุยน้ำลายใส่ พอขึ้นมาก็บอกว่าทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงคือตัวป่วนบ้านป่วนเมือง เพื่อจะเป็นพระเอกเสียเอง โดยที่ไม่ดูว่าแต่ละฝ่ายเรียกร้องต่อสู้เพื่ออะไร”
นายสนธิให้ความเห็นว่า สีเหลืองนั้นเรียกร้องในหลักการที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับผลพวงได้เป็นรัฐบาล แต่พอได้เป็นแล้วก็อ้างหลักนิติรัฐ ไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่กลับเรียกอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ไปประชุมเพื่อยกเลิกมติฟ้องบริษัทบุหรี่ที่หนีภาษี 68,000 ล้านบาท แล้วเคยมีไหมที่มีมติ ครม.ให้ช่วยประกันตัวคนเสื้อแดง ก็ฝีมือนายอภิสิทธิ์ทั้งนั้น บางคนไม่เสียเงินแม้แต่บาทเดียวก็ได้
“ประกันตัวออกมา มาวันนี้ก็ยังมาทำร้ายทำลายประชาชนที่ออกมาสู้เพื่อบ้านเพื่อเมือง ถึงวันนี้คนที่จะลงคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์คงเหลือไม่ถึงร้อยละ 17 เหลือแต่คนที่ยังดูไม่ออกว่า รัฐบาลนี้เลวกว่าทุกรัฐบาล เป็นเวรกรรมของประเทศไทยที่มีนายกฯ ชื่ออภิสิทธิ์ ผมไปดูข้อมูลเก่าๆ เพิ่งนึกได้ว่านายอภิสิทธิ์นั้นไม่ใช่เพิ่งจะเป็นแบบนี้ แต่เป็นมา 10 กว่าปีแล้ว เพียงแต่เรามองไม่เห็น มามองเห็นตอนเขามีอำนาจ”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่รัฐบาลและนายอภิสิทธิ์กำลังถูกตั้งข้อสังเกต และถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายในตอนนี้ก็คือ ขณะที่รัฐบาลมุ่งที่จะสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ดูเหมือนว่าจะโอนอ่อนผ่อนปรนให้กับม็อบคนเสื้อแดงที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้บงการใหญ่ ซึ่งยังคงออกมาเคลื่อนไหวปลุกระดมสร้างความแตกแยกระส่ำระสายในชาติและสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บรรดาแกนนำคนเสื้อแดงซึ่งเป็นผู้ต้องหาหนีหมายจับฐานก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมืองซึ่งทยอยเข้ามอบตัวกลับได้รับการอนุญาตประกันตัวโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อย่างง่ายดาย ทั้งๆ ที่โทษก่อการร้ายนั้นสูงถึงขั้นประหารชีวิต และก่อนหน้านี้ รัฐบาลพยายามไล่ล่าผู้ต้องหาก่อการร้ายเหล่านี้อย่างเอาเป็นเอาตายแทบจะพลิกแผ่นดิน!!
นี่จึงนับเป็นความชัดเจนอีกประการหนึ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่ารัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ นอกจากจะไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศแล้ว ยังไร้มาตรฐาน และหมดความน่าเชื่อถือในทุกเรื่องและทุกสิ่ง!
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ภายในประเทศ รัฐบาลและนายอภิสิทธิ์มีความมุ่งมั่นที่จะทำร้ายและทำลายประชาชนที่ออกมาเรียกร้องต่อสู้เพื่อบ้านเมืองของตัวเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ขณะเดียวกัน รัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ กลับเมินเฉยต่อการให้ความช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ 2 คนไทยที่เสียสละต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนไทย ที่ยังถูกคุมขังอยู่ในคุกเขมร อย่างไม่น่าให้อภัย!
โดยล่าสุด นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ออกมายอมรับว่า 2 คนไทย ยังไม่ได้ลงนามในหนังสือเพื่อขอถอนคำอุทธรณ์ และขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะทางการกัมพูชาไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยเข้าพบนายวีระ และน.ส.ราตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัปยศอดสูใจเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยไม่รู้จักใช้สิทธิที่จะเข้าพบผู้ต้องขังที่เป็นคนไทย ทั้งที่เป็นรัฐซึ่งมีสิทธิเข้าพบผู้ต้องหาที่เป็นพลเมืองของตนเองได้ตลอดเวลา ไม่ว่าโดยหลักกฎหมาย หรือสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอ้างว่าติดเงื่อนไขต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งที่ นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล เลขานุการศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้เสนอแนวคิดการโอนย้ายตัวผู้ต้องโทษ ระบุชัดเจนว่า ที่ผ่านมาไทยส่งนักโทษกลับกัมพูชา 800 กว่าคน ขณะที่กัมพูชาส่งกลับมาไทยเพียง 8 คน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องต่างตอบแทน ที่จะสามารถไปเจรจาในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆได้
แต่ทว่า แม้แต่ข้อเสนอการขอโอนย้ายผู้ต้องโทษจากกัมพูชา ที่มีสนธิสัญญากันอยู่ รัฐบาลก็ไม่ทำ ทั้งที่เป็นช่องทางที่ประนีประนอมที่สุดแล้ว รัฐบาลก็ยังไม่เดินหน้าใดๆ เลย ขณะที่ญาติของทั้ง 2 คนได้แจ้งความประสงค์ต่อรัฐบาลไปแล้ว ดังนั้น, การที่รัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ละเลยเพิกเฉยต่อความเป็นความตายของคนไทยอย่างนี้ มันหมายความว่าอย่างไร เพราะล่าสุด, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกเอกสารข่าว ชี้แจงความคืบหน้าการคุ้มครองสิทธิ นายวีระ และน.ส.ราตรี ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำในประเทศกัมพูชา ว่า กก.สิทธิฯได้ติดตาม ตรวจสอบข้อเท็จจริง และความคืบหน้าในการดำเนินการของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา นายปริญญา ศิริสารการ กก.สิทธิฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯได้เดินทางไปพบ นายวีระ และ น.ส.ราตรี ที่เรือนจำประเทศกัมพูชา และทราบข้อมูลว่า การเจ็บป่วยของนายวีระ มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม และเท่าทันต่ออาการของโรค
ทั้งนี้ นายวีระ และน.ส.ราตรี ได้ตั้งข้อสังเกตกับทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า"รัฐบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ไม่ว่ากรณีการเจ็บป่วย หรือกรณีการยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลกัมพูชา"
รวมทั้งแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทราบว่า จะขอพระราชทานอภัยโทษ โดยต้องยื่นเรื่องขอถอนการอุทธรณ์คำพิพากษา เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ เนื่องจากหากยังอุทธรณ์ จะทำให้ระยะเวลายืดเยื้อ และหากได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว อาจต้องใช้ช่องทางการพิสูจน์ความยุติธรรม ผ่านทางศาลอาญาระหว่างประเทศ ส่วนน.ส.ราตรี ให้ข้อมูลว่า การที่ไม่ได้รับสิทธิที่จะพบทนาย ทำให้เกิดผลเสียอย่างยิ่ง เพราะไม่มีโอกาสต่อสู้คดี หรือเตรียมเอกสารใดๆ เลย ซึ่ง น.ส.ราตรี ก็จะไม่อุทธรณ์คดี ด้วยเหตุผลเดียวกับนายวีระฯ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ศาลกัมพูชาไม่เปิดโอกาสให้นำพยานบุคคล หรือเอกสารไปแก้ต่างในกระบวนการพิจารณาได้
อย่างไรก็ตาม การที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความพยายามที่จะช่วยเหลือเท่าที่ควร ทั้งที่มีช่องทางมากมาย ทำให้หลายฝ่ายสงสัยและตั้งคำถามว่า รัฐบาลไทยและกัมพูชา สมคบกันในการที่ไม่ต้องการให้นายวีระกลับประเทศไทยได้ เนื่องจากเกรงว่าจะออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง ในสิ่งที่ตัวเองได้เผชิญตลอดเวลาที่ถูกจับกุมอยู่ในกัมพูชา เพราะจะทำให้ผู้มีอำนาจเสียประโยชน์ได้ ใช่หรือไม่ !?