xs
xsm
sm
md
lg

มองการเมืองและสังคมรอบบ้าน สู่การออกแบบรูปแบบการปกครองสำหรับสังคมไทย (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส
“ปัญญาพลวัตร”
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยรูปแบบที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขรอบบ้านเราที่โดดเด่นคือ ประเทศเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แต่ละประเทศมีเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจ การมีเสถียรภาพทางการเมือง ความสมานฉันท์ของสังคม และเสรีภาพทางการเมืองและสังคม ที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน

ภายหลังได้รับเอกราชใน ค.ศ 1945 ประเทศเกาหลีใต้มีเส้นทางการพัฒนาที่น่าสนใจมาก กล่าวคือเริ่มจากการเป็นประเทศยากจน มีระบอบการเมืองเป็นเผด็จการ และมีประชาชนยึดติดกับวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ก้าวไปสู่ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า มีเสถียรภาพการเมือง มีความสมานฉันท์ทางสังคมค่อนข้างสูง และประชาชนมีเสรีภาพทางการเมืองค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน

การพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของเกาหลีใต้เกิดจากการวางรากฐานของ ประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี ผู้ได้อำนาจมาโดยการรัฐประหารและเป็นผู้นำของประเทศระหว่าง ค.ศ. 1963-1979 ภาพของปัก จุง ฮี มี 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีการกำหนดนโยบายและวางแผนการบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร มีการพัฒนาการศึกษา และอบรมข้าราชการอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญคือเป็นคนที่ดำเนินชีวิตค่อนข้างสมถะและแทบไม่มีชื่อเสียงอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต

แต่ภาพอีกด้านหนึ่งของปัก จุง ฮี คือการใช้อำนาจแบบเผด็จการ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และปราบปรามประชาชนชาวเกาหลีที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรงและโหดร้าย จนท้ายที่สุดเขาถูกลอบสังหาร ใน ค.ศ. 1979 หลังจากนั้นเกาหลีใต้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองระยะหนึ่ง และ ชุน ดู วาน ก็ทำรัฐประหารและดำเนินแนวทางการบริหารประเทศไปในทิศทางเดียวกับปัก จุง ฮี คือ การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนชาวเกาหลีใต้ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรงและป่าเถื่อน โดยเฉพาะกรณีการสังหารหมู่นักศึกษาที่เมืองกวางจู ใน ค.ศ.1980

แต่การปราบปรามของรัฐบาล มิได้ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนชาวเกาหลีใต้หยุดลงแต่ประการใด ตรงกันข้ามกลับทำให้มีการขยายตัวของผู้คนที่เข้าร่วมขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น สำนึกทางการเมืองได้แพร่กลายไปสู่ประชาชนชาวเกาหลีใต้อย่างกว้างขวาง และกลายเป็นพลังกดดันจนกระทั่งทำให้รัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงตั้งแต่ ค.ศ.1987 โดยประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้วาระเดียวคราวละ 5 ปี

ใน ค.ศ. 1996 มีอดีตประธานาธิบดีที่ถูกฟ้องและถูกพิพากษาลงโทษ 2 คน คนแรกคือ ชุน ดู วาน ถูกตัดสินประหารชีวิต กรณีการสังหารหมู่นักศึกษาที่กวางจู ต่อมาคือ โร แต วู ซึ่งเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยคนแรกของเกาหลีใต้ ถูกตัดสินจำคุก 17 ปี แต่ทั้งสองได้รับนิรโทษกรรมจากประธานาธิบดีคิม ยอง ซัม ใน ค.ศ. 1997

คิม ยอง ซัม เป็นพลเรือนคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1993 ต่อ จาก โร แต วู รัฐบาล คิม ยอง ซัม มีนโยบายในการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบทั้งในภาคการเมือง ราชการ และธุรกิจอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตลกร้ายก็เกิดขึ้น เมื่อบุตรคนที่สองของเขามีส่วนพัวพันในการทุจริตเสียเอง จึงทำให้ความน่าเชื่อถือของเขาลดลง

ใน ค.ศ. 1998 คิม แด จุง ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีต่อจาก คิม ยอง ซัม และต่อมาเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ใน ค.ศ. 2000 ระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คิม แด จุง ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีให้กลายเป็นยุคแห่งความโปร่งใสทางเศรษฐกิจ และทำให้เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก

โรห์ มู ฮุน เป็นประธานาธิบดีต่อจากคิม แด จุงเมื่อ ค.ศ. 2003 ตอนที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังของประชาชนชาวเกาหลีใต้ เพราะเขาเป็นผู้เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนและสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นมาก่อน รวมทั้งเป็นผู้มีภาพลักษณ์ใจซื่อมือสะอาด อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นประธานาธิบดีได้ไม่นานความหวังดังกล่าวค่อยมลายหายไป เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดความสามารถในการบริหารประเทศ และมีบุคลิกที่สร้างความขัดแย้งกับสื่อมวลชนและฝ่ายค้านอยู่ตลอดเวลา ต่อมาเมื่อเขาพ้นจากตำแหน่งเพียงปีเศษๆ โรห์ กลายเป็นศูนย์กลางของเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต ต่อมาเขาได้ฆ่าตัวตายโดยการกระโดดลงจากภูเขา เพราะไม่อาจทนการติเตียนจากมโนธรรมของตนเองได้ อันเนื่องมาจากการที่ภรรยาของเขาไปรับสินบน

ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศเกาหลีใต้มีสี่ประการคือ ประการแรก การที่นักการเมืองส่วนใหญ่โดยเฉพาะประธานาธิบดีทั้งที่มาจากการรัฐประหารและมาจากเลือกตั้ง มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศและมีความสามารถผลักดันวิสัยทัศน์นั้นให้ปรากฏเป็นจริงได้ โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ในการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบจนทำให้นักเรียนและนักศึกษาเกาหลีใต้มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณภาพในระดับแนวหน้าของโลก

ประการที่สอง ผู้บริหารสูงสุดของเขาส่วนใหญ่มีความจริงจังในการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบทางการเมืองสูง ดังที่เห็นได้จากเมื่อมีข่าวคราวพัวพันเกี่ยวกับการทุจริตของคนใกล้ชิด แม้ตนจะไม่ได้เป็นผู้กระทำเอง ก็เกิดความรู้สึกสำนึกผิดจนไม่สามารถแบกหน้าทนอยู่ในโลกได้ต้องฆ่าตัวตายเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของตนเอง

ประการที่สาม นักศึกษาและประชาชนเกาหลีใต้มีจิตสำนึกทางการเมืองสูง มีการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างยืดหยัด อดทน เสียสละ และกล้าหาญ แม้จะถูกปราบปรามอย่างทารุณ โหดร้ายจากรัฐบาลเผด็จการ พวกเขาก็ไม่ยอมจำนนและไม่ท้อถอย แต่กลับต่อสู้ต่อไปอย่างถึงที่สุด รุ่นแล้ว รุ่นเล่า ไม่ขาดสาย มีการสืบทอด รักษาและขยายจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งกว่านั้นภาคประชาชนของเกาหลีใต้ก็ยังมีการจัดตั้งองค์กรตรวจสอบพฤติกรรมของนักการเมืองซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ และมีความกล้าหาญเพียงพอในการเปิดเผยพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของนักการเมือง รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนไม่เลือกนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไร้คุณธรรมอีกด้วย

ประการที่สี่ การมีกระบวนการยุติธรรมที่มีสมรรถภาพสูง บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความสามารถในปฏิบัติงานสูงทั้งด้านการสืบสวนและสอบสวนและมีความกล้าหาญไม่เกรงกลัวอิทธิพลของนักการเมือง เมื่อแสวงหาหลักฐานที่แน่นหนาได้แล้วก็ฟ้องอดีตประธานาธิบดี จนทำให้อดีตประธานาธิบดีถูกตัดสินประหารชีวิตหนึ่งคนและถูกตัดสินจำคุกอีกหนึ่งคน

สำหรับประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีความสำเร็จในการพัฒนาประเทศค่อนข้างน้อย เหตุผลที่สำคัญคือ ทั้งสองประเทศขาดผู้นำทางการเมืองที่มีวิสัยทัศน์และไร้ความกล้าหาญในการจัดการกับปัญหาสังคมและการเมือง แม้ว่าบางช่วงเวลาอาจมีผู้นำทางการเมืองที่ดูดีพอที่จะเป็นความหวังแก่ประชาชนได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วนักการเมืองของประเทศทั้งสองก็มิได้มีความแตกต่างจากนักการเมืองของประเทศไทยเท่าไรนัก

ในฟิลิบปินส์ อดีตประธานาธิบดีมาร์กอส และ เอสตราดาเป็นบุคคลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับใช้อำนาจทำลายประชาธิปไตย กดขี่ข่มเหงประชาชน และทุจริตฉ้อฉล แสวงหาผลประโยชน์จนร่ำรวยมหาศาล อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ก็ไร้สมรรถภาพและฉ้อฉลคล้ายกับจากประเทศไทย ผนวกกับภาคประชาชนของฟิลิปินส์แม้จะมีการต่อสู้กับความเลวร้ายของนักการเมืองเป็นระยะๆ แต่ก็ขาดความเหนียวแน่นและเป็นเอกภาพทำให้พลังในการกดดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีไม่เพียงพอ ผลที่ตามมาคือประเทศฟิลิปปินส์ต้องตกอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างยากจน ทั้งที่ในอดีตประเทศนี้ดูมีอนาคตมากกว่าประเทศไทยเสียอีก กรณีประเทศฟิลิปปินส์จึงเป็นตัวอย่างที่สะท้อนความล้มเหลวของการใช้ระบอบประชาธิปไตยที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง

ส่วนประเทศอินโดนีเซียก็มีความแตกต่างจากฟิลิปปินส์ไม่มากนักทั้งด้านนักการเมือง กระบวนการยุติธรรม และพลังจากภาคประชาชน จึงทำให้พลังการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาประเทศอินโดนีเซียไม่เข้มแข็ง เมื่อเทียบกับประเทศเกาหลีใต้

กรณีทั้งสองประเทศนี้ย่อมเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการมีประธานาธิบดีเป็นประมุขหาได้เป็นยาวิเศษที่จะทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมให้ดีขึ้นเสมอไปแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับทำให้ประเทศเหล่านั้นต้องเผชิญหน้ากับปัญหาและวิกฤติการณ์เรื้อรังที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ อีกด้วย ใครที่คิดจะให้ประเทศไทยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขจึงควรสำเนียกเอาไว้ และศึกษาเรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้านให้มากๆ
โจเซฟ เอสตราด้า
กำลังโหลดความคิดเห็น