xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ยกความเสมอภาค คือ ปชต.ที่แท้จริงเหนือเสียงข้างมาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
“มาร์ค” ปลุกจิตวิญญาณทนายความเร่งสร้างความเชื่อมั่นในวิชาชีพ ลบคำสองมาตรฐาน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย บนความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน กันปัญหานำไปสู่การทำลายระบบนิติรัฐ และประชาธิปไตย แนะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ชี้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหนือกว่าเสียงข้างมาก

วันที่ 20 ก.พ.2554 เมื่อเวลา 18.50 น. ที่อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบโล่เชิดชูเกียรติแก่อดีตนายกสภาทนายความและปาฐกถาพิเศษเนื่องในวันทนายความปี 54 ในหัวข้อ “ทนายความกับบทบาททางการเมือง การปกครอง” ตอนหนึ่งว่า สภาทนายความจะเป็นหนึ่งในองค์กรหลักที่เป็นที่พึ่งของประชาชนทางด้านกฎหมาย ต้องยอมรับว่า ทนายความและนักกฎหมายจำนวนมาก เป็นผู้บทบาททางการเมือง การปกครองของไทยมาโดยตลอด ซึ่งว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ว่าการเมืองการปกครองในหลายๆ ประเทศ เราได้เห็นบทบาทเด่นของทนายความ และนักกฎหมาย ด้านการเมืองการปกครอง ซึ่งประเทศไทยมีตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ตลอดจนการทำงานของรัฐบาลในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องอาศัยความรู้ ความเห็นทางกฎหมาย เพื่อที่จะช่วยกลั่นกรอง และให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการทั้งเรื่องของนโยบาย และการตัดสินใจในหลายๆ เรื่องด้วยกัน

นายกฯ กล่าวต่อว่า ที่จริงแล้วตนก็เรียนนิติศาสตร์ ตัดสินใจเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2526 เหตุผลที่ตัดสินใจเรียนทางด้านกฎหมายตามคำแนะนำของคุณพ่อ ซึ่งทราบว่า ตนตั้งใจมาทำงานทางการเมือง ให้คำแนะนำชัดเจนว่า แม้ตนจะศึกษาอยู่ต่างประเทศ เรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์ เรียนทางด้านการเมือง หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องการทำงานด้านการเมือง แต่ท่านแนะนำว่าหากไม่รู้กฎหมายหรือระบบกฎหมายของไทยแล้ว การทำหน้าที่ในฐานะนักการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งความตั้งใจเป็นนักการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาจะทำได้ยาก หากขาดความเข้าใจในเรื่อของกฎหมายแล้ว จะเห็นได้ว่าการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติอันเป็นหน้าที่เบื้องต้นของผู้แทนที่เป็นปวงชนชาวไทยก็จะทำได้ยากมาก ตนสนใจอยากจะเป็นทนายความเหมือนกัน ที่อาจเป็นโชคดีของประเทศ อาจจะเป็นโชคไม่ดีของตน เรียนมาได้ 2 ปี กฎหมายปี 2528 ออกมา ทำให้จบนิติศาสตร์แล้วเป็นทนายความไม่ได้ ต้องสอบก่อน ก็ไม่มีโอกาสได้สอบ เพราะตัดสินใจไปเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์ แล้วกลับมารับราชการ แล้วเข้าสู่การเมืองในที่สุด

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า งานทางด้านการเมือง การปกครอง กฎหมายแทบแยกออกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมมีการพัฒนา มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น รวมไปถึงประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองก็ต้องมีการพัฒนาไปเช่นเดียวกันในทุกสังคม เราจะเห็นได้ชัดว่า ความสำคัญเรื่องกฎหมายที่ผูกพันการเมือง การปกครอง ยิ่งแน่นเฟ้น ละเอียดอ่อนมากขึ้น สภาพการเมืองทั้งในประเทศ และทั่วโลกในขณะนี้ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะการเมืองการปกครองที่เรายึดมั่น ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กระบวนการแสวงหาเจตนารมณ์ของสังคมผ่านการเลือกตั้ง และการใช้เสียงข้างมาก ในกำหนดทิศทางต่างๆ ของการบริหารประเทศ เพื่อเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่อีกส่วนที่ขาดไม่ได้ถ้าลำพังการเมือง การปกครองยึดแต่เสียงข้างมาก ซึ่งเป็นกติกาที่บอกว่านั้นเป็นเจตนารมณ์ของสังคมแล้ว แต่ปราศจากกฎเกณฑ์กติกาในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ปราศจากการมีกติกาที่ต้องอำนวยความยุติธรรม ในเรื่องความถูก ผิดของสังคม แม้สังคมใช้เสียงข้างมากในการกำหนดทิศทาง ก็ไม่อาจได้รู้ได้ว่า เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

นายกฯ กล่าวต่อว่า เพราะระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการนับคะแนนเสียง แต่เป็นหลักการสำคัญในการยึดถือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนบนความเสมอภาค การคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายไม่ว่าจะอยู่เสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย เป็นองค์ประกอบสำคัญตามระบอบประชาธิปไตย ตรงนี้คือสิ่งที่ท้าทายในปัจจุบัน

“เพราะความขัดแย้งในปัจจุบันเป็นความขัดแย้งทางการเมือง แต่บางครั้งก็เป็นความขัดแย้งจากการบังคับใช้กฎหมาย และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายครั้งก็สร้างความสับสนให้กับพี่น้องประชาชน และสังคมในภาพรวม แม้เราจะต้องยอมรับว่าความขัดแย้งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับโอกาสที่เกี่ยวข้องกระบวนการยุติธรรมกับกฎหมายก็ตาม แต่บ่อยครั้งความขัดแย้งที่เกิดจากเพียงความไม่พอใจคำวินิจฉัย คำตัดสินคดีความต่างๆ เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องง่ายฝ่ายที่ไม่พอใจข้อยุติที่มาจากกระบวนการยุติธรรม ที่จะร้องว่าสองมาตรฐาน หรือไม่เป็นธรรม กลายเป็นคำพูดใครที่ไม่พึ่งพอใจคำตัดสินก็กล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องกระบวนการยุติธรรม ตรงนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย คนที่เกี่ยวข้องกระบวนการยุติธรรมต้องท้าทาย และให้ความกระจ่างสังคม ว่ากระบวนการตัดสินมีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เพราะอย่างนั้นจะมีคนร้องออกมาจะต้องต่อต้านกระบวนการยุติธรรม วันข้างหน้าเราก็จะไม่มีหลักที่ยึดถือในการตัดสินถูกผิด แต่กลายเป็นว่าเสียงใครจะดังกล่าวกัน ไม่เพียงแต่ทำลายนิติรัฐ แต่เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วย” นายกฯ กล่าวว่า

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จึงหวังว่าผู้รู้ด้านกฎหมายจะเป็นผู้ช่วยอธิบายถึงกระบวนการต่างๆ เพื่อพิทักษ์กระบวนการยุติธรรม หลักระบบนิติรัฐ ระบอบประชาธิปไตยต่อไปด้วย และเรามีความจำเป็นต้องทบทวนถึงปัญหาที่มีอยู่ในกระบวนการยุติธรรม และการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ที่ยังประสบปัญหาด้านโอกาส และความเหลื่อมล้ำด้วย ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทุกอาชีพถูกเรียกร้องเรื่องจรรยาบรรณ ทนายความประกอบอาชีพอิสระ แต่ก็ต้องมีใบอนุญาต องค์กรสภาทนายความดูแลเรื่องนี้เป็นหลักให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นอาชีพในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น