xs
xsm
sm
md
lg

สภามหาวิทยาลัย เป็น “ เจว็ด” เป็น”ตรายาง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญหาในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูงสุดของชาติ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปรากฎเป็นข่าวออกมาเป็นระยะๆ ทั้งเรื่อง การจัดการศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน นักศึกษาจบมาแล้วไม่มีคุณภาพ ปัญหาหลักสูตรที่ไม่ได้รับการรับรอง จากองค์กรวิชาชีพ ซึ่งกว่าเรื่องจะแดงออกมา นักศึกษาที่หลงเชื่อไปลงทะเบียนเรียนก็เรียนไปถึงปีสามปีสี่จวนจะจบอยู่แล้ว ปัญหาการตั้งศูนย์การศึกษานอกสถานศึกษา เพื่อ “ขายปริญญา” ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารกับนักศึกษา และปํญหาการทุจริต โกงกินของผู้บริหาร

ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงความเสื่อมในภาพรวม ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ แต่เป็นการขยายตัวด้านปริมาณ สวนทางกับคุณภาพ และคุณธรรมที่ลดต่ำลงไปเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย

ความเสื่อมของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เกิดขึ้นท่ามกลาง ความงียบของสภามหาวิทยาลัย ไม่เคยมีใครได้ยินเลยว่า นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยที่เกิดเรื่องฉาวโฉ่ มีความเห็นอย่างไรต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และคิดว่า ตัวเองในฐานะผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย จะมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร

กรณีล่าสุด ที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ( ส.ก.อ.) มีคำสั่งไล่นายคิม ไชยแสนสุข อธิการบดี นายรังสรรค์ แสนสุข อดีตอธิการบดี และนายเฉลิมพล ศรีหงส์ อดีตรองอธิการบดี เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ชี้มูลความผิดทั้งทางวินัยร้ายแรง และทางอาญา กรณีขยายอายุราชการโดยขัดต่อกฎหมาย และ การทุจริตสร้างอาคารมุลค่า 500 ล้านบาท

เรื่องนี้ ป.ป.ช.ชี้มูลมาตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว แต่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งมีนายประจวบ ไชยสาส์น เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ก็นิ่งเฉย ไม่ทำอะไร ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย ในการแต่งตั้ง และถอดถอน อธิการบดี และรองอธิการบดี ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป จน เลขาธิการ ส.ก.อ. ต้องเป็นผู้ออกคำสั่งไล่ออกเอง

การที่นายประจวบ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่กล้าไล่นายคิม นายรังสรรค์ และนายเฉลิมพลออกจากราชการนั้น ก็เป็นเพราะว่า ระบบการแต่งตั้ง กรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศไทยนั้น เป็นระบบอุปถัมภ์ สภามหาวิทยาลัยประกอบด้วย อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ซึ่งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดีที่เป็นกรรมการสภมหาวิทยาลัยคัดเลือกเข้ามา

ดังนั้นแล้ว นายประจวบ ไชยสาส์น ซึ่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ด้วยการผลักดันของนายรังสรรค์ซึ่งเป็นอธิการบดีในขณะนั้น จะกล้าไล่นายรังสรรค์ นายคิม และนายเฉลิมพลออกจากราขชการได้อย่างไร

อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เรี่ยกันคือ เรื่องที่กลุ่มนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา(มบส.)กว่า 30 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากสภาเทคนิคการแพทย์มีมติไม่รับรองหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ หลังจากที่มีการเปิดหลักสูตรนี้ มาตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบัน มีนักศึกษาปี 1-3 ประมาณ 180 คน ซึ่งเมื่อเรียนจบไปแล้วจะหางานทำไม่ได้ เพราะหลักสูตรไม่ผ่านการรับรอง

เรื่องที่เกิดกับนักศีกษาเทคนิคการแพทย์ ม.บ้านสมเด็จนี้ เป็นเรื่องซ้ำซากที่เกิดขึ้นเป็นประจำ มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรใหม่ เพื่อขยายอาณาจักรของผู้บริหาร เพิ่มรายได้ของผู้สอน นักศึกษาเรียนไปจนใกล้จะจบแล้ว เสียทั้งเวลาเสียทั้งเงิน จึงเพิ่งมารู้ว่า หลักสูตรไม่ผ่านการรับรอง

สภามหาวิทยาลัย มีหน้าที่อนุมัติ การเปิดหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัย การที่หลักสูตรไม่ผ่านการรับรองนั้น ก็แสดงว่า การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย มีความบกพร่อง หรือ สภามหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เพียงแค่ตรายาง ให้ความเห็นชอบในสิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องการเท่านั้น

บทบาทของสภามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ในประเทศไทย ที่เป็นที่รับทราบกัน มีอยู่เรื่องเดียวคือ การอนุมัติให้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ หรือมหาบัณฑิตกิติมศักดิ์ ซึ่งบางกรณี บุคคลที่ได้รับมีความเหมาะสมเป็นที่ยอมรับได้ แต่ก็มีไม่น้อยที่เป็นนักการเมือง ผู้มีอำนาจ นักธุรกิจ พ่อค้า ผู้มีอุปการคุณต่อมหาวิทยาลัย หรือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องการเป็น “ ดอกเตอร์” แบบจ่ายเงินซื้อเอา ซึ่งทำให้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ในปัจจุบัน แทบจะไม่มีความหมายเลย เพราะเป็นปริญญาที่ซื้อได โดยมีสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้รับรอง

สภามหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย จึงมีสถานะเป็นเพียง เจว็ด และเป็นเพียง ตรายางเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น