การรุกคืบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในแทบทุกภูมิภาคของประเทศไทย ล้วนผุดขึ้นมาบนฐานคิดที่อ้างถึงการสร้างความเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจ โดยมิได้คำนึงถึงมิติทางสังคม วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม และหัวใจความเป็นมนุษย์
ผลพวงที่เกิดจากการเข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อสูบรีดเอาทรัพยากรแร่ไปใช้เพื่อสร้างความเจริญนั้น อีกด้านหนึ่งกลับมีการลิดรอนสิทธิประชาชนในพื้นที่ถึงขั้นละเมิด ข่มขู่ คุกคาม หมายเอาชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น ซ้ำผลกำไรที่ได้จากการตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรแร่ยังถูกนำไปบำรุงบำเรอคนไม่กี่จำพวก นำมาซึ่งความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และสร้างความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรง ดังปรากฏเป็นวิกฤตการณ์ “สงครามชนชั้น” และ “สังคมสองมาตรฐาน” ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้
ปัญหาการรุกรานของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างการจัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ลุ่มน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งล้วนตกอยู่ในวิบากกรรมที่ไม่ต่างกัน
ความอ่อนด้อยของรัฐในการจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศ สืบเนื่องมาจากฐานรากทางความคิดที่จัดอยู่ในขั้นล้าหลัง โดยมองว่าสินแร่ทั้งหลายย่อมเป็นของรัฐ ดังนั้นรัฐจึงสำคัญตนว่าเป็นผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดสรรแบ่งเค้กทรัพยากรแต่เพียงผู้เดียว โดยมิได้คำนึงถึงสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยตรง
นอกจากนี้ยังไม่นับตัวบทกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่สามารถก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นเหตุให้บรรดานายทุนน้อยใหญ่หาช่องโหว่ของกฎหมายเข้าฉกฉวยช่วงชิงผลประโยชน์และทรัพยากรสาธารณะให้ตกอยู่กับฝ่ายตน
ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ ข้อพิพาทกรณี “เหมืองแร่คลิตี้” ที่มีการต่อสู้คดีระหว่างชาวบ้านกับนายทุนมานานนับสิบปี ซึ่งครั้งล่าสุดศาลได้พิพากษาให้บริษัทเจ้าของโรงแต่งแร่ผู้ก่อมลพิษ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นเงินทั้งสิ้น 35.8 ล้านบาท บวกกับคำตัดสินคดีอื่นๆ ที่ผ่านมา รวมเป็นเงินกว่า 70 ล้านบาท
นับเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของภาคประชาชนที่เพรียกหาความยุติธรรม ทว่าความเจ็บป่วยเรื้อรังของชาวบ้านและความเสื่อมโทรมของลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนด้วยพิษสารตะกั่ว ยากที่จะเยียวยาฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพปกติดังเดิมได้ และที่สำคัญเงินชดเชยทั้งหลายนั้นก็ยังไม่ถึงมือชาวบ้าน เนื่องจากคดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์และฎีกา
ผลจากความอ่อนแอเชิงนโยบายการจัดการและการบังคับใช้กฎหมายที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้ปัจจุบันมีประชาชนได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่กว่า 15 ชุมชน 395 หมู่บ้าน รวมพื้นที่กว่า 700,000 ไร่ทั่วประเทศ
สถานการณ์ปัจจุบันนับว่ายังไม่พ้นวิกฤต สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เล่าว่า หลังจากบริษัทเอกชนเข้ามาทำเหมืองแร่ในพื้นที่ ไม่นานนักก็เกิดวิกฤตในแหล่งน้ำสายหลักที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ทั้งลำห้วยฮวย ลำห้วยผุก ลำห้วยเหล็ก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใต้เหมือง 6 หมู่บ้าน รวมกว่า 3,600 คน ซึ่งต้องเสี่ยงชีวิตกับสารพิษที่เจือปนในแหล่งน้ำ
สุรพันธ์ เล่าอีกว่า หลังจากนั้นกรมทรัพยากรน้ำได้เข้ามาสำรวจคุณภาพน้ำในลำห้วย พบว่ามีสารหนู สารแคดเมียม และแมงกานีสมากเกินปกติ และยังพบการจัดเก็บสารไซยาไนด์ไม่ได้มาตรฐาน จนเกิดการรั่วไหลของสารเคมี ทำให้ชาวบ้านป่วยเป็นโรคมะเร็ง บ้างเกิดอาการผดผื่นคัน ตั้งแต่นั้นมาคนในหมู่บ้านจึงต้องซื้อน้ำมาบริโภคและไม่กล้าอาบน้ำในลำห้วยอีกเลย
“สิ่งที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้ว กลับไม่มีคำยืนยันว่าเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมือง อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรือผู้ว่าราชการเองก็ไม่สามารถช่วยได้” เขากล่าว
สุรพันธ์ ชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้ปัญหาเหมืองแร่ได้ทำให้เกิดความแตกแยกกันเองของคนในชุมชน เพราะมีทั้งชาวบ้าน ฝ่ายคัดค้าน และฝ่ายสนับสนุนเหมืองแร่ ซึ่งนับวันก็ยิ่งลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรเหมืองแร่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายของรัฐในการจัดการเหมืองแร่ไม่เคยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดความเห็นอย่างจริงจัง แต่เป็นเพียงลักษณะฉาบฉวย อีกทั้งข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น และกลุ่มนายทุนยังมีผลประโยชน์ร่วมกัน ทำให้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กลไกการตรวจสอบและการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่เกิดความหละหลวม
เลิศศักดิ์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ได้มีการรวมกลุ่มกันในการรวบรวมและผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูปทรัพยากรแร่ภาคประชาชน โดยจะเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล และคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า หลังจากเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาแล้ว ทางเครือข่ายเองก็ยังไม่อาจมั่นใจได้ว่ารัฐจะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจังแค่ไหน ซึ่งทางเครือข่ายจะดิ้นรนต่อสู้เรียกร้องทุกช่องทาง ไม่ว่าจะผ่านกรรมการสิทธิมนุษยชน องค์กรอิสระต่างๆ รวมถึงการพึ่งกระบวนการศาลเพื่อฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญา
“หากถึงที่สุดแล้ว รัฐยังไม่สามารถผลักดันนโยบายให้เป็นจริงได้ และการแก้ปัญหาไม่มีความคืบหน้า สุดท้ายภาคประชาชนก็จะลุกขึ้นสู้ด้วยวิธีการใช้มวลชนกดดันรัฐบาล อย่างน้อยที่สุดจะต้องให้ตัวแทนชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลโครงการเหมืองแร่ต่างๆ ให้ได้” เลิศศักดิ์ ระบุ
ยิ่งไปกว่านั้น เลิศศักดิ์หวังว่า หากเป็นไปได้ควรมีการกำหนดบทลงโทษแก่ข้าราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้น เพื่อเป็นการยับยั้งมิให้เกิดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง
ขณะที่ สุวิทย์ กุหลาบวงศ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ภาคอีสาน กล่าวว่า เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ จะยื่นข้อเสนอให้รัฐแก้ไขจัดการเหมืองแร่อย่างเร่งด่วน โดยให้ยึดหลักความเป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ร่วมกัน ระหว่างรัฐ ชุมชนท้องถิ่น และสาธารณะ
ที่สำคัญทางเครือข่ายมีข้อเสนอว่า รัฐต้องกำหนดให้การทำเหมืองแร่ทุกประเภทและทุกขนาด ต้องเป็น “โครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง” ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง เช่นเดียวกับที่บังคับใช้ในกรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งกำหนดเกณฑ์ชดเชยความเสียหายตามความเป็นจริง
นอกจากนี้ รัฐต้องเพิ่มการจัดเก็บค่าภาคหลวงซึ่งเป็นรายได้จากการให้สัมปทานเหมืองแร่ให้เหมาะสมกับประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนพึงได้รับ โดยประเมินถึงต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป และต้นทุนด้านสุขภาพของประชาชนเป็นหลักสำคัญด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้รับข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณาและจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติเดือน มีนาคมนี้ ก่อนที่จะผลักดันให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติต่อไป
ทุกวันนี้ยังมีประชาชนในอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศกำลังเผชิญวิบากกรรมจากการทำเหมืองแร่ที่ไร้สำนึกรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี ชาวบ้านลุ่มน้ำแม่ตาวและแม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ต้องเผชิญกับสารแดคเมียมปนเปื้อน ชาวบ้านในพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เหมืองทองคำใน จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก เหมืองแร่และโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และอีกหลายกรณีซึ่งกำลังรอการแก้ไขโดยเร่งด่วน
หากรัฐมีความจริงใจ คงไม่ต้องรอให้ประชาชนเดิมพันชีวิตด้วยการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมากไปกว่านี้