7 เดือนผ่านพ้น หลังปรับจูนความคิด ความเข้าใจของบรรดานักวิชาการ คนทำงานด้านสังคม และผู้นำความคิดระดับแถวหน้าของประเทศให้ไปในทิศทางเดียวกัน
หลังจากประชุม หารือ โต้เถียง และเดินสายรับฟังความคิดเห็นจากหลายๆ ภาคส่วน ในที่สุด คณะกรรมการปฏิรูป ที่นำโดย อานันท์ ปันยารชุน ก็ได้ยิงข้อเสนอชุดแรกออกสู่สังคมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ว่าด้วยแนวทางปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร 5 ข้อ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบริบทสังคมและการเมืองไทย ต้องถือว่าเป็นยาแรงที่มุ่งรื้อถอนโครงสร้างการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรมกันเลยทีเดียว อันประกอบด้วย
1. ให้มีการจำกัดเพดานการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรไว้ไม่เกิน 50 ไร่ต่อครัวเรือน เพื่อลดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน
2. ให้มีการจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศ เป็นข้อมูลสาธารณะเพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์และเกิดความเป็นธรรม
3. ให้จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้น เพื่อทำหน้าที่จัดซื้อที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือที่มีการถือครองล้นเกิน มาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน
4. ให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมในอัตราก้าวหน้า เพื่อลดแรงจูงใจในการสะสมที่ดินไว้โดยไม่ทำประโยชน์
5. ให้มีการกำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมาอย่างชัดเจน โดยกำหนดให้ผู้ถือครองที่ดินดังกล่าว จะต้องเป็นผู้ทำการเกษตรด้วยตนเองเท่านั้น
โดยก่อนอื่นจะต้องระงับการจับกุมดำเนินคดีประชาชน จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาที่ดินจนลุล่วงเสียก่อน
การที่คณะกรรมการฯ เลือกนำเสนอประเด็นที่ดินก่อน นั่นเพราะเห็นว่าปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินเป็นรากเหง้าสำคัญหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ทว่า เพียงข้อแรกก็เรียกเสียงฮือดังๆ ได้แล้ว เพราะยังนึกไม่ออกจะทำอย่างไรให้บรรดานักการเมือง นักธุรกิจ และแดนสนธยาต่างๆ ยอมคายที่ดินในมือออกมา แต่พูดอย่างนี้มิใช่จะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ ...ก็คงดังที่อานันท์พูดในวันแถลงข่าวที่ว่า เป็นข้อเสนอเพื่อเคลื่อนให้สังคมร่วมกันคิด ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับคณะกรรมการปฏิรูปทั้งหมด
และก็เป็นไปตามคาด หลังจากคณะกรรมการฯ แถลงข้อเสนอ ทีมไทยรีฟอร์มก็ไปสัมภาษณ์ความคิดเห็นของนักการเมือง ซึ่งก็เป็นไปตามคาด พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้มีที่ดินรวมกับคู่สมรสจำนวน 22 แปลง กว่า 508 ไร่ หรือตีมูลค่ากว่า 66 ล้านบาท กล่าวว่า
“ผมอยากให้คณะกรรมการปฏิรูปฯ กลับไปศึกษาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง อย่ามองปัญหาแบบง่ายเกินไป เพราะแต่ละประเด็นที่เสนอมานั้นต้องใช้เวลาในการแก้ไข ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ยกทั้ง 5 ปัญหามานำเสนอแล้วจะแก้ไขได้ทันที ถ้าไม่ศึกษาให้รอบคอบก็จะกลายเป็นการหักด้ามพร้าด้วยเข่าไป” (จาก thaireform.in.th)
เพียงเท่านี้ก็แลเห็นแล้วว่า ยากแค่ไหนที่จะบีบให้แลนด์ลอร์ดเหล่านี้ยอมคายที่ดินออกมา จาก ‘บทสรุป ผลการศึกษาการกระจุกตัวของที่ดิน’ ของสำนักงานปฏิรูป ระบุว่า ส.ส. 134 คน จาก 480 คน ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ โดยถือครองที่ดินรวมกัน 6,418 แปลง เท่ากับ 42,221 ไร่ รวมมูลค่า 10,875 ล้านบาท
โดยนักการเมือง 3 อันดับแรกที่ถือครองที่ดินมากที่สุดคือ
1.อำนวย คลังผา และคู่สมรส ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ครองที่ดิน 206 แปลง เนื้อที่ 2,095 ไร่ มูลค่า 60.3 ล้านบาท
2.บรรหาร ศิลปอาชา และคู่สมรส ครองที่ดิน 243 แปลง เนื้อที่ 1,915 ไร่ มูลค่า 2,062.2 ล้านบาท
3.เสนาะ เทียนทอง และคู่สมรส ครองที่ดิน 74 แปลง เนื้อที่ 1,900 ไร่ มูลค่า 189.6 ล้านบาท
ที่ว่านี้ยังไม่รวมที่ดินในมือเอกชน เช่น เจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ถือครองที่ดินทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 1 แสนไร่ หรือ ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ถือครองที่ดินกว่า 1 หมื่นไร่ทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ การจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินจึงต้องเกิดขึ้น เพื่อใช้ตรวจสอบการใช้ประโยชน์
ส่วนการจำกัดเพดานการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรให้ไม่เกิน 50 ไร่ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ หนึ่งในคณะกรรมการฯ อธิบายว่า ที่ดินจำนวน 50 ไร่ ถือว่าครอบคลุมทุกกลุ่มและระดับการผลิตที่มีในปัจจุบัน ครอบคลุมการทำการเกษตรทุกประเภท และยังเป็นกรอบเดิมที่เคยกำหนดไว้เมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งยังมีความเหมาะสมอยู่
“และเราได้กำหนดภาษีไว้ 3 ระดับ สูงสุดคือ 5 เปอร์เซ็นต์ อยู่บนหลักคิดที่ว่า ถ้าชาวนาเช่าที่ดิน 50 ไร่ทำนา ไร่หนึ่งก็ประมาณพันบาท ดังนั้น ปีหนึ่งเฉลี่ยนาปีกับนาปรังจะต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินทำนาประมาณ 8 หมื่นกว่าบาท เรานำตัวเลขนี้มาคำนวณกลับดูว่าจะเป็นสักเท่าไหร่ของมูลค่าที่ดิน ก็ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าถ้ากำหนดภาษี 5 เปอร์เซ็นต์ การเก็บที่ดินเพื่อให้เช่าจะไม่คุ้ม เก็บค่าเช่ามาเท่าไหร่ก็ต้องจ่ายภาษี จึงเป็นอัตราที่ไม่จูงใจให้เก็บที่ดินไว้ให้เช่า”
อย่างไรก็ตาม ในมุมของ ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และรองผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เห็นว่าเพดาน 50 ไร่ยังสูงเกินไป เพราะถ้าครอบครัวหนึ่งมี 4 คน ก็เท่ากับตระกูลนี้มีที่ดินอยู่ในมือ 200 ไร่ ซึ่งข้อเสนอของคณะกรรมการฯ กำหนดอัตราภาษีที่ดิน 10-50 ไร่ ที่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ และแน่นอนว่าบรรดาแลนด์ลอร์ดจะต้องกระจายที่ดินให้คนในครอบครัว หรืออาจรวมไปถึงคนขับรถ แม่บ้าน ฯลฯ เพื่อเลี่ยงภาษี
แต่โดยภาพรวมแล้ว ประยงค์เห็นกับข้อเสนอทุกข้อของคณะกรรมการฯ และเสนอเพิ่มเติมว่า
“เรื่องระบบกรรมสิทธิ์ก็สำคัญ ไม่อย่างนั้นเกษตรกรก็เอาที่ไปขายต่อ ดังนั้น จึงต้องมีระบบกรรมสิทธิ์ชุมชน หมายความว่าที่ดินจะต้องอยู่กับกลุ่มเกษตรกรหรือชุมชนให้ได้ แต่การเปลี่ยนมือไม่มีปัญหา ต้องมีการบริหารจัดการ คนที่จะใช้ที่ดินตรงนั้นก็ต้องย้ายเข้าไปเป็นสมาชิกชุมชนและรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของชุมชน ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องซับซ้อน กฎหมายปัจจุบันมีแต่ระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจก เราจึงต้องสร้างระบบกรรมสิทธิ์ชุมชนขึ้น ซึ่งรัฐบาลและคณะกรรมการปฏิรูปยังมองจุดนี้ไม่ทะลุ”
ด้าน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการแก้ปัญหาที่ดิน บอกว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการฯ และหลายเรื่องรัฐบาลก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว
“เช่น คดีคนจน ท่านนายกฯ กำลังจะลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐในเรื่องที่ดิน โดยมีท่านนายกฯ เป็นประธานเอง หรือการเก็บภาษีที่ดินก็อยู่ในกฎหมายที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกฤษฎีกาแล้ว เพียงแต่ว่าอาจจะมองต่างในแง่รายละเอียดว่า ของท่านอานันท์เสนอให้คิดตามจำนวนไร่ ซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องมูลค่า เพราะที่ดินในกรุงเทพฯ จำนวนไร่อาจน้อย แต่มูลค่าสูง หลักการเห็นตรงกันคือต้องจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า”
สาทิตย์ยังยืนยันด้วยว่า หากประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งจะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปดำเนินการต่อแน่นอน
แม้จะเป็นคำมั่นสัญญา แต่สังคมรู้ดีว่า ความพยายามปฏิรูปที่ดินที่ผ่านมาต้องเจอแรงเสียดทานจากกลุ่มผลประโยชน์มากแค่ไหน คำถามนี้เป็นคำถามเดียวกับที่ประยงค์คิด เขาบอกว่า หลังจากนี้ภาคประชาชนจะต้องเคลื่อนไหวคู่ขนานใน 3 ระดับ
“ระดับแรกคือสร้างพื้นที่ที่มีการแก้ปัญหาที่ดินได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่หน่วยงานรัฐ รัฐบาล และสังคม ข้อสอง ปฏิบัติการเพื่อให้เห็นว่ากฎหมายและนโยบายที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่ดิน และข้อที่สามคือภาคประชาชนอาจจะต้องยกร่างกฎหมายขึ้นมาเองเพื่อไปประกบ โดยร่างของประชาชนจะต้องมีความก้าวหน้ากว่า เช่น ภาษีที่ดินที่มีความก้าวหน้า และภาคประชาชนต้องร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นเอกภาพ”
สุดท้าย อานันท์ย้ำว่า อย่ามองข้อเสนอเพียงแค่ข้อใดข้อหนึ่ง เพราะทุกข้อมีความเชื่อมโยงและต้องทำไปพร้อมๆ กัน ที่สำคัญเหนืออื่นใด ข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ไม่ใช่สิ่งที่สังคมต้องเห็นด้วย แต่เป็นการเปิดประเด็นเพื่อให้สังคมช่วยกันคิดและขับเคลื่อน เพราะรู้แน่ว่าการปฏิรูปที่ดินจะไม่เกิดโดยนักการเมือง หากสังคมไม่ร่วมกันกดดัน
ก็คงต้องรอดูความจริงใจของนักการเมืองต่อไป แต่อย่าหวังมาก เพราะแลนด์ลอร์ดต่างๆ คงไม่ยอมคายที่ดินออกมาง่ายๆ และความไม่เป็นธรรมในสังคมก็จะคงอยู่ต่อไป หากภาคประชาชนยังนิ่งเฉย...
>>>>>>>>>>
เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ: ทีมภาพ CLICK