xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

การสร้างพลเมือง

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

มีข่าวที่น่ายินดีว่า กระทรวงศึกษาธิการได้จัดให้มีการสอนวิชาเสริมสร้างพลเมืองขึ้น การสอนวิชานี้มีขอบเขตกว้างกว่าการสอนหน้าที่พลเมือง แต่เดิมวิชาหน้าที่พลเมืองเป็นวิชาที่เน้นเรื่องการทำหน้าที่ของพลเมืองดีมากกว่า คล้ายๆ กับว่าเมื่อรู้สิทธิเสรีภาพแล้ว ก็ต้องรู้หน้าที่ด้วย

การสอนวิชาพลเมืองนี้ ฝรั่งเรียกว่า Civic Education เป็นที่นิยมกันมากในเยอรมนี เมื่อยี่สิบห้าปีมาแล้ว ผมได้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจังผ่านสถาบันนโยบายศึกษา ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิคอนราด อเดเนาร์ แม้ในปัจจุบันมูลนิธินี้ก็ยังให้ความช่วยเหลือสถาบันอยู่

ในปีแรกๆ งานของสถาบันนโยบายศึกษาเน้นไปที่การส่งเสริมสถาบันนิติบัญญัติ ทั้งนี้เพราะในเวลานั้นไม่ค่อยมีการช่วยเหลือรัฐสภาเท่าไร งานชิ้นแรกๆ ก็คือการพา ส.ส.ไปดูงานรัฐสภาในต่างประเทศ ให้รู้ว่างานของสภานั้นมีขอบเขตกว้างขวางอย่างไร และมีคณะเจ้าหน้าที่คอยช่วยค้นคว้าจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณากฎหมายต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การขยายงานของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา แต่เดิมงานของสำนักงานนี้เน้นการจดรายงานการประชุม เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นพนักงานชวเลข ประมาณปี พ.ศ. 2516 เมื่อผมเข้าไปช่วยงานปรับปรุงฝ่ายนิติบัญญัตินั้น เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จบปริญญาตรี ต่อมามี บุรีรักข์ นานวัฒน์ ซึ่งจบปริญญาโท

ห้องสมุดของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา เป็นห้องเล็กๆ มีเจ้าหน้าที่คนเดียว คือ คุณน้อม โลหะชาละ จะเรียกว่าเป็นผู้เฝ้าหนังสือห้องสมุดก็ว่าได้

งานสำคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนาระบบรัฐสภา คือ การเปิดโอกาสให้รัฐสภาจัดการสัมมนา เป็นการเปิดช่องทางให้ ส.ส.ได้พบกับนักวิชาการ องค์กรอาสาสมัคร และประชาชนเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดห้องประชุมรัฐสภาให้ประชาชนได้เข้ามาใช้

กิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมการสร้างพลเมืองก็คือ การมีโครงการ “รัฐสภาสัญจร” เวลานั้นสมาคมสังคมศาสตร์จัดกิจกรรมร่วมกับวิทยาลัยครูทั่วประเทศ ก็มีการเชิญ ส.ส.ไปพูดให้นักศึกษาฟังในต่างจังหวัด

สำหรับวิชาการสร้างพลเมืองหรือ Civic Education นั้น ในต่างประเทศไม่ได้ทำในระบบโรงเรียน แต่จัดโดยองค์กรอย่างมูลนิธิและพรรคการเมือง การสอนประชาธิปไตยในโรงเรียนไทยที่เคยทำมามักนิยมให้มีการเลือกสภานักเรียน เวลานี้กระทรวงศึกษาธิการก็ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้มีการประชุมสภานักเรียนทุกปี

การเรียนรู้การเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในทางการเมืองนั้น ในเบื้องแรกก็ให้รู้เรื่องสถาบันหลักๆ ทางการเมืองเสียก่อน โดยเฉพาะพรรคการเมือง ในส่วนนี้ก็ให้มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการนิติบัญญัติอีกด้วย

แต่ส่วนสำคัญของการสร้างพลเมืองก็คือ การฝึกให้เด็กๆ และประชาชนมีความสามารถ และทักษะของพลเมือง ส่วนที่เกี่ยวกับความรู้ด้านการเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านี้ก็คือ การทำให้ประชาชนมีสมรรถนะทางการเมือง ทักษะที่จำเป็นต่อการเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบก็คือ การแสดงออกซึ่งความคิดเห็น การมีทักษะในการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาสาธารณะ การรู้จักค้นคว้าหาข้อมูลข่าวสาร และการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร

หากกระทรวงศึกษาธิการจะจัดให้มีกิจกรรมเสริมสร้างพลเมือง ก็จะต้องมีกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งสองด้านควบคู่กันไปคือ ด้านสาระกับด้านทักษะ จะต้องมีเวลาให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะ ปัญหามีอยู่ว่าจะมีครูในระบบโรงเรียนสักกี่คนที่สามารถฝึกทักษะได้ ส่วนใหญ่จะมุ่งการสอนสาระเกี่ยวกับประชาธิปไตยเสียมากกว่า

การสร้างพลเมืองนี้มีขอบเขตกว้างกว่าการศึกษาในโรงเรียน และเกินหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จริงแล้วพรรคการเมืองควรมีบทบาทสำคัญ เพราะได้มีการจัดงบประมาณให้พรรคการเมืองทุกพรรคอยู่แล้ว

ปัจจัยและเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้ทางการเมืองก็คือ สื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ หากสังเกตการณ์ออกอากาศของเคเบิลทีวีที่เรียกว่า ช่องเหลือง ช่องแดง แล้วก็จะเห็นว่าได้เน้นเรื่องการเมืองเป็นหลัก และก็มีส่วนประกอบอยู่สองส่วนคือ การให้ข้อมูลข่าวสารกับการวิจารณ์ การให้ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ไม่ว่ากรณีการให้ความรู้เกี่ยวกับเขาพระวิหาร และเรื่องอื่นๆ นอกจากนั้นก็ยังมีการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากด้วย

ในต่างประเทศอย่างเช่น เยอรมนี มูลนิธิที่พรรคการเมืองจัดตั้งขึ้นมีสถาบันที่ทำงานด้านนี้โดยตรงมีหลักสูตรหลายหลักสูตร และมีการฝึกทักษะการคิดด้วย โดยมีการนำวิธีการประชุม และการอภิปรายแสดงความคิดเห็นโดยเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม

สำหรับเมืองไทยเรานั้น ไปๆ มาๆ การเรียนรู้ของประชาชนกลับเป็นการเข้ามีส่วนร่วมในการชุมนุมโดยตรง และการติดตามข้อมูลข่าวสาร และการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านทางเคเบิลทีวี ในอเมริกามีสถานีโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดการประชุมสภา และการประชุมคณะกรรมาธิการตลอดเวลาคือ ช่อง C-Span

สิ่งที่เคเบิลทีวีให้จะเป็นการเสริมสร้างพลเมืองในทางที่สร้างสรรค์หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกัน บ้างก็เห็นว่ารายการมักเน้นการให้ความเห็นทางเดียว และเป็นการปลุกระดม ผมคิดว่าถึงอย่างไรก็ยังมีคุณค่าเพราะได้ให้ข้อมูลข่าวสารประเภทที่หนังสือพิมพ์ไม่ได้ให้ ส่วนวิทยุชุมชนนั้น มีศักยภาพมาก เพราะสามารถเข้าถึงประชาชนได้โดยตรง และเป็นที่นิยมของชาวบ้าน เสียดายที่ผู้จัดรายการบางแห่งมีการเสนอเรื่องราว และปลุกปั่นให้มีความรุนแรง

เวลานี้ เรายังไม่มีคู่มือที่จะช่วยชี้แนะให้ครู และองค์กรที่สนใจส่งเสริมกิจกรรมด้านนี้ใช้ประโยชน์ ผมเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องน่ามาทำงานร่วมกัน หลายปีมาแล้ว ผมและ Rex Bloomfield คนนิวซีแลนด์ที่เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับพลเมืองได้ทำหนังสือมาเล่มหนึ่งชื่อ “พลเมือง-พลโลก” ตั้งใจให้เป็นคู่มือทางด้านนี้โดยตรง และกระทรวงศึกษาธิการได้จัดพิมพ์ขึ้น ทางกระทรวง และผู้เกี่ยวข้องน่าจะไปหามาดูเพื่อประกอบการจัดทำคู่มือการเสริมสร้างพลเมืองต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น