xs
xsm
sm
md
lg

การขอให้ศาลใช้อำนาจตุลาการคานอำนาจบริหาร เพื่อคุ้มครองอำนาจประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ
อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และศาลภาษีอากรกลาง

บทความนี้เป็นกรณีศึกษาทางวิชาการที่ผู้เขียนมีเจตนาที่จะให้สาธารณชนได้ทราบถึงหลักการทางวิชาการตามกฎหมายของอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ และอำนาจของประชาชน ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและมีความเกี่ยวพันกันตามรัฐธรรมนูญกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศ

1. เป็นที่ทราบจากข่าวอันเป็นสาธารณะแล้วว่า ประชาชนหลายกลุ่มได้ร่วมกันชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ MOU’43 ให้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์กรมรดกโลกหรือยูเนสโก เพราะมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้แก่ประเทศกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะมีผลสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายน 2554 อันจะมีผลผูกพันให้ไทยต้องเสียอำนาจอธิปไตยในดินแดนรอบบริเวณปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตรในเขตอุทยานแห่งชาติ และจะมีผลผูกพันให้ไทยต้องใช้อาณาเขตประเทศตามมาตราส่วน 1 :200,000 ซึ่งจะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนทางบกตลอดเส้นอาณาเขตดินแดนที่ติดกับกัมพูชาทั้งหมด ซึ่งเป็นเนื้อที่อีกจำนวนมหาศาล อันจะมีผลกระทบต่อสิทธิและความเป็นอยู่ของพลเมืองชายแดนจนนับไม่ถ้วน จะผูกพันให้ไทยต้องใช้มาตราส่วน 1:200,000 ในพื้นที่ทางทะเล ซึ่งทำให้ไทยต้องเสียพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในทะเลอ่าวไทยให้แก่กัมพูชา อันมีมูลค่าที่ไม่อาจคณานับได้ ผู้ชุมนุมเห็นว่าหากรัฐบาลไทยยกเลิกข้อผูกพัน MOU’43 แล้วลาออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรมรดกโลก และผลักดันให้กองกำลังทหารของกัมพูชาออกจากเขตแดนประเทศไทยเสีย

ปัญหาดังกล่าวก็จะถูกขจัดให้สิ้นไปได้ในทันทีและไทยไม่ต้องเป็นเบี้ยล่างให้แก่กัมพูชา ในกรณีที่กัมพูชาเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติและนานาชาติเข้ามาจัดการในเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เพราะไทยอยู่ในฐานะเสียเปรียบกัมพูชา เพราะรัฐบาลไทยได้ดำเนินการในทางการทูต (Diplomatic Means) ที่ทำให้ไทยต้องอยู่ในฐานะเสียเปรียบกัมพูชา โดยการทำหนังสือ MOU’43 ทับที่เขตอุทยานแห่งชาติของรัฐไทยเอง

ไทยยินยอมหรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นปล่อยให้กัมพูชาเข้ามาสร้างวัดในบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติรัฐไทย ไทยได้ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้กัมพูชาทำถนนและนำกองกำลังทหารพร้อมอาวุธเข้ามายึดครองพื้นที่ในบริเวณรอบปราสาทเขาพระวิหาร ไทยได้ทำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Communique ยินยอมให้พื้นที่บริเวณนอกปราสาทให้กับกัมพูชาเพื่อใช้บริหารจัดการของ ICC ตามแผนแม่บทมรดกโลกของกัมพูชา ไทยและกัมพูชาต่างก็ละเมิดข้อตกลงตาม MOU’43 ตลอดมา โดยไทยยินยอมให้กัมพูชาสร้างถนน สร้างถาวรวัตถุสิ่งปลูกสร้าง วัด อาคารร้านค้า ที่อยู่อาศัย และนำกองกำลังและอุปกรณ์การรบเข้ามาตั้งอยู่ในเขตแดนไทย อันเป็นการยินยอมให้กัมพูชายึดครองพื้นที่ในอาณาเขตที่เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้เกิดพยานหลักฐานที่เป็นถาวรวัตถุ สิ่งปลูกสร้างและการเข้ายึดครองเขตแดนประเทศไทย โดยกองกำลังทหารของกัมพูชา

การร่วมกันละเมิดข้อตกลง MOU’43 ทั้งของไทยและกัมพูชาดังกล่าว ย่อมเป็นการร่วมกันสร้างพยานหลักฐานเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กัมพูชา แม้จะปรากฏจากข่าวสาธารณะว่า ไทยได้มีหนังสือทักท้วงกัมพูชาไปหลายครั้งถึงการที่กัมพูชาละเมิดข้อตกลง MOU’43 โดยไม่ปรากฏว่ากัมพูชายอมปฏิบัติตามหนังสือทักท้วงของไทยแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่าไทยได้แสดงออกต่อสาธารณชนในประเทศหรือต่อประชาคมโลกถึงการใช้มาตรการทางการทูตที่จะบังคับหรือเรียกร้องให้กัมพูชาปฏิบัติตาม MOU’43 ตามที่มีหนังสือทักท้วงไปแต่อย่างใด (เช่น การให้ทูตกลับประเทศ หรือการปิดชายแดน หรือทำการกดดันให้กองกำลังกัมพูชาออกไปจากดินแดนไทย) หนังสือทักท้วงของไทยดังกล่าว ยิ่งมีเป็นจำนวนมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นการยืนยันให้เห็นได้ว่า ไทยได้ร่วมกันสร้างพยานหลักฐานเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กัมพูชาทั้งสิ้น

และเมื่อคนไทยถูกนำไปดำเนินคดีที่ศาลกัมพูชา รัฐไทยก็ไม่ได้ยึดหลักปฏิบัติตาม MOU’43 หรือหลักทางการทูต (Diplomatic Means) เรียกร้องให้กัมพูชาระงับข้อพิพาทด้วยการเจรจาในกรณีคนไทยไปตรวจสอบเขตแดนไทย-กัมพูชา อันอาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติงานในราชการไทย เพราะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยร่วมไปด้วย แต่คนไทยกลับถูกคนในรัฐบาลไทยผลักไสให้ไปถูกดำเนินคดีที่ศาลกัมพูชาในการกระทำที่ไปตรวจดูเขตแดนประเทศไทย โดยถูกจำคุกโดยศาลกัมพูชาเป็นเวลานานหลายปี ผลของการที่คนไทยถูกพิพากษาลงโทษโดยรัฐไทยได้ละเว้นไม่ใช้ MOU’43 และไม่ใช้วิธีการทางการทูต เพื่อไม่ให้คนไทยต้องถูกดำเนินคดีในข้อหารุกล้ำเขตแดนกัมพูชาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นพยานหลักฐานที่จะทำให้ไทยต้องเสียอำนาจอธิปไตยในเขตดินแดนของไทยได้

ไทยได้ทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไทยได้เคยแสดงอาณาเขตปราสาทพระวิหาร เมื่อไทยต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลกโดยไทยได้รื้อรั้วที่ไทยได้เคยกั้นบริเวณปราสาทพระวิหารออกไปเพื่อไม่ให้เห็นร่องรอยของอาณาเขตเฉพาะปราสาทพระวิหารตามที่อยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาโดยคำพิพากษาของศาลโลก ไทยได้ลืมเลื่อนละทิ้งข้อสงวนสิทธิ์ของไทยที่ได้ตั้งข้อสงวนไม่ยอมรับคำพิพากษาศาลโลก รวมทั้งข้อสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกปราสาทพระวิหารคืนมาเสียทั้งสิ้น

ไทยได้ทำลายหลักฐานทั้งความเป็นจริงและหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยการจ้างนักวิชาการเพื่อศึกษาวิจัยกรณีเขตแดนไทย-กัมพูชา โดยอ้างว่าเขตแดนไทย-กัมพูชาใช้มาตราส่วน 1:200,000 เพื่อให้สอดคล้องหรือสนับสนุนกับข้อต่อสู้ของกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาอ้างแผนที่ที่ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียวใช้ในคดีกล่าว การศึกษาวิจัยของนักวิชาการดังกล่าว เพื่อเป็นหลักฐานที่สนับสนุนเบื้องหลังการทำMOU’43 ที่ไทยใช้มาตราส่วน 1:200,000 เพื่อให้เห็นว่าการใช้มาตราส่วน 1: 200,000 ในการทำMOU’43 นั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว การดำเนินการของไทยไม่ว่าการทำ MOU’43, MOU’44, TOR’46, Joint Communique การประชุม JBC ล้วนเป็นการกระทำตามหลักปฏิบัติทางการทูต หรือ Diplomatic Means ทั้งสิ้น

แต่การกระทำตามหลักปฏิบัติทางการทูตของไทยได้กลายเป็นพยานหลักฐานและเป็นข้อผูกมัดไทยทางกฎหมาย ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางกฎหมาย (Legal Means) แก่กัมพูชาทั้งสิ้นด้วย ในขณะเดียวกันการปฏิบัติหรือการกระทำของกัมพูชาจะอยู่บนพื้นฐานตามนัยทางกฎหมาย (Legal Means) และแทบจะไม่มีนัยทางการทูตเลย ไทยจึงอยู่ในฐานะเป็นเบี้ยล่างของกัมพูชาในปัญหาความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศเกือบทั้งหมดทั้งในสภาพของความเป็นจริง สภาพนัยทางกฎหมาย (Legal Means) และสภาพทางประวัติศาสตร์ อันเกิดจากการกระทำของฝ่ายไทยทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อมีข้อพิพาทกันจนต้องถึงขั้นต้องเข้ากระบวนการชี้ขาดตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว คือ มีการนำคดีไปสู่ศาล หรือนำปัญหาข้อขัดแย้งไปยังองค์กรที่วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อขัดแย้งได้แล้ว

พยานหลักฐานที่ไทยได้ทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ทางการทูตของไทยนั้น จะเป็นหลักฐานที่มัดคอไทยให้ต้องเสียอำนาจอธิปไตยแห่งดินแดนได้อย่างง่ายดาย เพราะได้เกิดพยานหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ การยึดครองดินแดนของไทยบริเวณปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติโดยกองกำลังทหารกัมพูชาไปแล้ว โดยไทยได้นิ่งเงียบ (Silence) ไม่ได้แสดงอาณาเขตประเทศไทยให้สาธารณชนหรือประชาคมโลกได้ทราบเลย ทั้งๆ ที่ไทยมีอาณาเขตประเทศโดยชัดแจ้งตามสนธิสัญญาที่ไทยได้ทำกับฝรั่งเศส และตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติฯ พ.ศ. 2541 แล้ว การกระทำผู้บริหารของไทยส่อให้เห็นพฤติการณ์ของการกระทำความผิดอาญา ตามกฎหมายแห่งของรัฐไทย เพราะทำให้ไทยสุ่มเสี่ยงต่อการเสียอำนาจอธิปไตยในดินแดนของรัฐไทยมาอย่างต่อเนื่อง

2. การชุมนุมของผู้ชุมนุมข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในกรณีนี้ จึงมีนัยที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการชุมนุมประท้วง ต่อต้านไม่ให้รัฐบาลกระทำความผิดอาญา หรือให้รัฐบาลไทยหยุดการกระทำความผิดอาญาในข้อหาความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เมื่อรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารเป็นผู้แทนของประชาชน เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ทำหน้าที่บริหารประเทศ หากรัฐบาลโดยอาศัยความไว้วางใจของประชาชนเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศแล้วอาศัยการมีอาชีพนักการเมืองที่เข้ามามีอำนาจบริหารประเทศนั้น กระทำผิดกฎหมายหลายประการจนถึงขั้นทำผิดกฎหมายอาญาแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงย่อมเข้าข่ายการประกอบอาชญากรรมซึ่งเรียกว่า อาชญากรรมปลอกคอขาว หรือ White collar crime

การชุมนุมของผู้ชุมนุมเพื่อหยุดยั้งไม่ให้รัฐบาลก่ออาชญากรรมต่อไปโดยให้ยกเลิก MOU’43 ให้ถอนตัวจากสมาชิกองค์กรมรดกโลก และให้ผลักดันกัมพูชาออกไปจากแผ่นดินไทยนั้น ล้วนเป็นการชุมนุมตามอำนาจของประชาชนซึ่งมีหน้าที่และมีสิทธิเสรีภาพที่จะชุมนุมได้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลเป็นผู้แทนของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 เมื่อรัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบหรือปฏิบัตินอกอำนาจหน้าที่จนเป็นที่เสียหาย อันจะทำให้อำนาจอธิปไตยในดินแดนของประเทศต้องสูญเสียไป หรือได้กระทำการตามหน้าที่หรือนอกอำนาจหน้าที่อันเป็นการกระทำในการก่ออาชญากรรมแล้ว ประชาชนซึ่งเป็นตัวการย่อมห้ามปรามทักท้วงและให้รัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนแก้ไขการกระทำของรัฐบาลให้ถูกต้องไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือให้ยุติการกระทำอันเป็นอาชญากรรมนั้นได้ เพราะประชาชนซึ่งเป็นตัวการสามารถมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครอง ตลอดจนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรมตามที่ได้บัญญัติไว้ในของรัฐธรรมนูญได้

โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นบริบทว่า “ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างเป็นรูปธรรม” และตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 (3) การเข้าไปมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น ประชาชนไม่สามารถเข้าไปนั่งในทำเนียบรัฐบาลเพื่อเข้าไปมีบทบาทหรือร่วมทำงาน หรือตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐได้ แต่ประชาชนสามารถกระทำได้โดยการใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะกดดันและเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำการให้ถูกต้องและหยุดการก่ออาชญากรรมนั้นได้ รัฐบาลในฐานะตัวแทนมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องชี้แจงแสดงเหตุผลให้ตัวการทราบ

ตัวแทนจะใช้อำนาจเผด็จการสลายการชุมนุมโดยตัดสิทธิไม่ให้ตัวการทำการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ให้ชุมนุม และอ้างว่าจะใช้พื้นที่ในการจราจรนั้นหาได้ไม่ เพราะผู้ชุมนุมเป็นประชาชนเป็นการกระทำของประชาชนซึ่งมีสิทธิเสรีภาพในการใช้พื้นที่ในการจราจรดังกล่าวได้ หรือรัฐบาลจะตัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมของตัวการโดยไม่ให้ใช้พื้นที่สาธารณะ ด้วยการรื้อส้วม รื้อห้องน้ำ เพื่อขัดขวางการชุมนุมไม่ให้ผู้ชุมนุมได้ขับถ่ายชำระร่างกายนั้นไม่อาจกระทำได้โดยเด็ดขาด เพราะละเมิดต่อสิทธิในชีวิต ร่างกาย อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอย่างร้ายแรง และไม่มีนานาอารยประเทศใดจะปฏิบัติต่อประชาชนของเขา ในขณะที่ประชาชนของเขาได้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธได้เลย อำนาจในการที่จะห้ามการชุมนุม หรือจะสลายการชุมนุมของรัฐบาล จึงไม่มีพื้นฐานตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญมารองรับอำนาจดังกล่าว

3. การที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักรออกบังคับใช้กับประชาชนผู้ชุมนุม โดยประกาศห้ามเข้าในพื้นที่ที่มีการชุมนุมอยู่ก่อนแล้วให้กลายเป็นพื้นที่ห้ามมิให้เข้าไปในสถานที่ดังกล่าว และจากข่าวที่ออกสู่สาธารณะนั้น ผู้ชุมนุมได้ฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง เพราะพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ มาตรา 23 บัญญัติให้การดำเนินคดีอันเนื่องมาจากข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม และไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยผู้ชุมนุมฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศและข้อกำหนดทุกฉบับ และขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อระงับการดำเนินการใดๆ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งได้มีการประกาศต่ออายุจนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2554 ซึ่งศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน และคำร้องขอใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาของผู้ชุมนุม (ข่าวจากโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์)

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณชนถึงสาเหตุของการชุมนุมของผู้ชุมนุมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเดือนเศษ และการที่รัฐบาลได้ออกประกาศใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ห้ามบุคคลเข้าหรือออกจากพื้นที่อาคารหรือสถานที่กำหนด ประกาศห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะในเขตท้องที่ที่กำหนดซึ่งเป็นการห้ามในเขตที่มีการชุมนุมก่อนแล้วจนผู้ชุมนุมได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง แม้ผู้ชุมนุมจะได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง โดยอ้างถึงเหตุการณ์กระทำละเมิด และขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน โดยจะต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ ตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ มาตรา 23 นั้น

คำฟ้องและคำร้องของผู้ชุมนุมก็หาใช่เป็นคำฟ้องและคำร้องอันเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทางแพ่งของผู้ชุมนุมแต่อย่างใดไม่ เพราะผู้ฟ้องฟ้องคดีได้กล่าวหาว่า ประกาศและข้อกำหนดที่ฝ่ายบริหารประกาศใช้กับผู้ชุมนุมตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ นั้น ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้ชุมนุมร้องขอให้ศาลใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบการออกประกาศที่ใช้บังคับกับผู้ชุมนุมนั้น เป็นการออกประกาศมาโดยชอบด้วยพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ หรือไม่ อันเป็นการที่ผู้ชุมนุมขอให้ศาลใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเพื่อคานหรือดุลกับอำนาจของฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายบริหารใช้พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ โดยการออกประกาศมาบังคับใช้กับผู้ชุมนุมนั้น มิได้เป็นไปตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกมาใช้บังคับกับประชาชน (ฝ่ายนิติบัญญัติออกพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ มาใช้บังคับกับประชาชนอย่างหนึ่ง แต่ฝ่ายบริหารออกประกาศตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ มาใช้บังคับกับประชาชนอีกอย่างหนึ่ง)

เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติออกพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯมาใช้บังคับกับประชาชนโดยได้บัญญัติขอบเขตของ “การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” ไว้ว่า “การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หมายความว่า การดำเนินการเพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัย อันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐให้กลับสู่ภาวะปกติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ”

ดังนั้น เมื่อมีการชุมนุมของกลุ่มบุคคลที่ทำลายความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนเกิดขึ้นแล้วนั้น ฝ่ายบริหารก็สามารถออกประกาศหรือข้อกำหนดเพื่อควบคุมสถานการณ์นั้นได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 3 แห่งพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ แต่ถ้าปรากฏว่าฝ่ายบริหารใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ โดยการออกประกาศและข้อกำหนดมาใช้บังคับกับประชาชน โดยไม่มีเหตุการณ์ที่เป็นภัยหรืออาจจะเป็นภัยจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ไม่มีการทำลายหรือทำให้เสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ แต่อย่างใดแล้ว ฝ่ายบริหารก็ไม่มีเหตุที่จะออกประกาศหรือออกข้อกำหนดมาใช้บังคับกับประชาชนผู้ชุมนุมได้ เพราะเหตุไม่มีเหตุที่ต้องรักษาความมั่นคงตามนัยมาตรา 3 แต่อย่างใด

การที่ฝ่ายบริหารออกประกาศและออกข้อกำหนดใช้บังคับกับประชาชนโดยไม่มีเหตุแห่งการที่จะรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแล้ว จึงเป็นกรณีที่ฝ่ายบริหารใช้พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ เกินกว่าที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายให้ใช้บังคับกับประชาชน ซึ่งในกรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารไม่ได้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา (Balance of Power) เพราะฝ่ายบริหารใช้อำนาจบริหารเกินกว่าที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ออกกฎหมายไว้ให้ อันเป็นการที่ฝ่ายบริหารใช้กลไกการเมืองของฝ่ายบริหารที่ขัดต่อดุลยภาพของอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งบัญญัติไว้ในบริบท ให้กำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา ประกาศและข้อกำหนดที่ฝ่ายบริหารออกใช้บังคับกับผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เรียกร้องให้รัฐบาลกระทำการไม่ให้ไทยต้องเสียอำนาจอธิปไตยในดินแดนแล้ว

การออกประกาศและข้อกำหนดมาใช้บังคับกับผู้ชุมนุม จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมายตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ การออกประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางการชุมนุมของผู้ชุมนุม จึงเป็นกรณีที่ฝ่ายบริหารขัดขวางการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนในการที่ประชาชนต้องการมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในบริบทแห่งรัฐธรรมนูญ (เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3) และขัดขวางมิให้ประชาชนใช้สิทธิชุมนุมในที่สาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามพันธกรณีที่ประชาชนมีหน้าที่ต้องป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63,70, 71 การประกาศและออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุม จึงเป็นการกระทำของฝ่ายบริหารที่ได้กระทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้และเป็นโมฆะจะนำมาใช้บังคับกับผู้ชุมนุมไม่ได้เลย

การที่ผู้ชุมนุมฟ้องร้องขอต่อศาลเป็นกรณีที่นอกจากจะขอให้ศาลตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารว่าเป็นไปตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ออกกฎหมายให้อำนาจไว้หรือไม่แล้ว ยังเป็นกรณีที่ผู้ชุมนุมขออำนาจศาลในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุม ที่ผู้ชุมนุมจะใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนในการมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร โดยการใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามพันธกรณีที่ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ต้องป้องกันประเทศรักษาผลประโยชน์ของชาติอีกด้วย

การขอให้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมที่จะชุมนุมตามอำนาจ หน้าที่และสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่า ประชาชนหรือศาลจะต้องดำเนินการอย่างไร แต่เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 28 วรรคสองและวรรคสามว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

รัฐธรรมนูญมาตรา 27 ได้บัญญัติพันธกรณี หรือความผูกพันตามรัฐธรรมนูญในการใช้บังคับกฎหมายของศาล รวมทั้งหน่วยงานของรัฐไว้ ว่า “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพัน รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง”

รัฐธรรมนูญมาตรา 63 ได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมไว้ชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ”

จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 มาตรา 27 และมาตรา 63 ดังกล่าว เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ชัดแจ้งแล้ว ถึงการใช้สิทธิและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม การใช้สิทธิทางศาลที่จะขอให้ศาลคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมได้ และพันธกรณีหรือความผูกพันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของศาลที่จะต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้โดยชัดแจ้งได้บัญญัติไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ตามมาตราดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น ผู้ชุมนุมย่อมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะร้องขอให้ศาลแพ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมได้

การไม่ได้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุม (ในกรณีมีเหตุให้ผู้ชุมนุมมีสิทธิที่จะชุมนุมได้และมีการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ) ย่อมจะเกิดปัญหาความไม่สงบขึ้นได้ เพราะการใช้อำนาจของรัฐที่ไม่มีกฎหมายรองรับและขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น อาจเกิดการกระทำอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติได้ และการกระทำของประชาชนที่อาจจะต้องต่อสู้กับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่อาจเกิดความรุนแรงก็อาจจะไม่เป็นความผิดได้ เพราะการใช้อำนาจรัฐไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับแต่อย่างใด

ในขณะเดียวกันการชุมนุมของผู้ชุมนุมมีพื้นฐานความชอบด้วยรัฐธรรมนูญรองรับการชุมนุมดังกล่าว ดังนั้น ความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมจึงอาจจะเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้ใช้บังคับกฎหมายให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือใช้บังคับกฎหมายโดยขาดความสมดุลในสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น