xs
xsm
sm
md
lg

เขมรล้มแผนหยุดยิง จ่อฟ้อง"ฮุนเซน" เรียก3พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"มาร์ค"ยอมรับแนวทางอาเซียน หนุนไทย-กัมพูชาใช้กลไกทวิภาคีแก้ปัญหาชายแดน ยอมรับผู้สังเกตุการณ์จากอินโดนีเซียเดินทางมาตรวจพื้นที่ปะทะ ส่วนการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก ยันยูเนสโกต้องทบทวน จนกว่าปัญหาเขตแดนจะเรียบร้อย "ฮุนเซน" สั่งฮอร์ นัมฮง ยกเลิกแผนขอไทยเซ็นสัญญาหยุดยิงถาวร กำนันต.เสาธงชัยจ่อฟ้องฮุนเซนเรียก 3 พันล้าน ต้นเหตุเริ่มสงคราม มทภ.2 ยังไม่มั่นใจพระวิหารสงบจริง
    

วานนี้ (22 ก.พ.) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้พิมพ์ข้อความรายงานความคืบหน้าการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน เพื่อพิจารณาปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ผ่านทางทวิตเตอร์ ว่า กัมพูชาและไทย ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะกันทางการทหารในอนาคต

โดยอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน จะทำการจัดส่งผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียเข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปะทะกันของทั้งกัมพูชาและไทย ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 ที่อาเซียนได้ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปในพื้นที่ความขัดแย้งในประเทศสมาชิก ตั้งแต่กรณีของติมอร์ตะวันออก, อาเจะห์  และเหตุการณ์ความรุนแรงทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์

ประเทศสมาชิกอาเซียน ให้สัญญาที่จะแสดงความพร้อม และความเต็มใจในการให้การสนับสนุนแก่ทั้งสองฝ่าย และคณะกรรมการ ในการส่งเสริมการแสวงหาสันติภาพอย่างต่อเนื่อง และเพื่อหาหนทางที่ยั่งยืนที่สุด หลังการเผชิญหน้าอย่างยาวนาน ระหว่างทั้งสองฝ่าย และเพื่อแสดงให้โลกได้เห็นว่า ประชาคมอาเซียน สามารถยื่นมือเข้าช่วยเหลือชาติสมาชิกได้

ก่อนหน้านี้ มีผู้กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การปฏิเสธการแทรกแซงจากต่างชาติของทางการไทย ทำให้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า การเจรจาระหว่างรัฐมนตรีฯ จากชาติสมาชิกอาเซียน 8 ชาติที่เหลือจากทั้งสิ้น 10 ประเทศ จะสามารถยุติปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่

โดยอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน พร้อมสนับสนุนไทย-กัมพูชา จัดเจรจาระดับทวิภาคี เชื่อจะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศของไทย กล่าวย้ำว่า ไทยพร้อมเดินหน้าเจรจาทวิภาคี
    
**ไทยเปิดรับอินโดฯเป็นผู้สังเกตุการณ์     

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ปรากฏว่า อาเซียนสนับสนุนให้มีการดำเนินการโดยใช้กลไกทวิภาคีทั้งหลายที่เราเสนอไป ทั้งเจบีซี จีบีซี และอาร์บีซี  ขณะเดียวกันในแง่ของตัวพื้นที่ จะมีการส่งผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซียเข้ามา เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการปะทะกันอีก

ส่วนกรณีที่ทางการไทยขอให้อาเซียนส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามานั้น ไม่ถือว่าเป็นการเปิดให้ประเทศที่สามเข้ามาแทรกแซง แต่เป็นเรื่องดี เพราะเราไม่ได้เปิดการยิงก่อน เมื่อมีคนมาอยู่ในพื้นที่ จะได้รับรู้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากอะไร เป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า ผลสรุปจากอาเซียน คิดว่าเป็นไปตามที่ไทยต้องการ หรือเป็นไปตามที่กัมพูชาเรียกร้อง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าเป็นการเดินกลับเข้าไปสู่กระบวนการทวิภาคี ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี  

เมื่อถามต่อว่าฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ออกมาระบุว่า ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เกินกว่าที่อาเซียนจะเข้ามาแก้ไข นายกฯ กล่าวว่า มากกว่าอาเซียน ก็คือ ยูเอ็น ซึ่งยูเอ็น ก็ส่งกลับมาที่อาเซียนแล้ว และอาเซียน ก็ส่งกลับมา บอกว่าจะช่วยให้ทวิภาคีเดิน ก็ถูกต้องแล้ว เมื่อถามต่อว่า คิดว่ากัมพูชา พร้อมที่จะเข้าสู่ทวิภาคีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงจะต้องเข้ามา มันไม่มีทางอื่น ส่วนการเจรจาเจบีซี ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ ทางกัมพูชา ยังไม่ตอบรับ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขารอผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก่อน

**"มาร์ค"โต้ ไม่เคยโกหกประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดอย่างไรกับคำพูดของฮุนเซน ที่ระบุว่า นายกฯไทยโกหกประชาชน ที่มีการนำเสนอผ่านสื่อกัมพูชา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การที่ไปเจรจากับอาเซียน ผลออกมาอย่างไร ตนเองไม่เคยพูดว่าชนะ หรือแพ้ แต่บอกแล้วว่า กระบวนการที่เราไปคือ ยืนยันว่า สุดท้ายมันต้องกลับมาที่เวทีของทวิภาคี ซึ่งกัมพูชาก็ไปมาโดยลำดับ ไปที่ยูเอ็นก่อน และมาที่อาเซียน วันนี้จะกลับมาที่เจบีซี จีบีซี และอาร์บีซี ตนดูยังไง ก็เป็นทวิภาคี ก็ไม่ทราบว่าจะไปโกหกใครที่ไหน ไม่มีประโยชน์ ไม่มีอะไรที่จะต้องไปปิดบัง และยืนยันมาตลอดว่า นี่คือแนวทางที่เราเห็นว่าจะต้องทำอยู่แล้ว มันจะเป็นทางอื่นไม่ได้ ในการที่จะหาทางแก้ปัญหาคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่

เมื่อถามว่า ประเมินว่า สถานการณ์หลังจากนี้ จะเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าขณะนี้ในพื้นที่คลี่คลาย และจากการมีผู้สังเกตการณ์เข้ามา คงจะช่วยไม่ให้มีการมาละเมิดกันอีก ขณะที่ยูเนสโก คงจะให้ผู้เชี่ยวชาญยูเนสโกชาวญี่ปุ่น เดินทางมาปลายสัปดาห์นี้ ทั้งที่กรุงเทพฯ และกรุงพนมเปญ เป็นการมาฟังข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย ฉะนั้นอันนี้ยืนยันไม่มีเรื่องการเซ็นสัญญา เป็นเพียงการส่งผู้สังเกตการณ์มาเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เกิดความสงบในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางที่อาเซียนให้มา จะทำให้ปัญหายุติลงได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงจุดเริ่มต้น นายกฯกล่าวว่า คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการที่จะให้ทั้ง 2 ฝ่ายกลับเข้ามาใช้กระบวนการ และกลไกที่มีอยู่แก้ไขปัญหากันต่อไป เมื่อถามว่า แสดงว่ากลไกในการแก้ไขปัญหายังอีกไกลใช่ไหม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ใช่ เราทราบอยู่แล้ว ปัญหานี้ไม่ได้จบง่ายๆ แต่ต้องแก้ไปบนแนวทาง และวิธีการที่เราเห็นว่าถูกต้อง และจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ยั้งยืน
    
**ยูเนสโกต้องทบทวนเรื่องมรดกโลก

เมื่อถามว่า ณ เวลานี้ท่าทีของยูเนสโก เป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ตนคงจะพูดได้ชัดเจนขึ้นหลังจากที่ได้พบกับผู้แทนเพิ่มเติม แต่จากการที่ตนได้สนทนากับ ผอ.ยูเนสโก เห็นเขาเข้าใจดีขึ้น และเขาบอกว่าถ้าเรื่องของเขตแดนยังไม่เรียบร้อยก็ไม่เห็นด้วยกับการที่จะเข้าไปจัดการบริหารในพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดยืนของเราที่ต้องยอมรับ เพราะเป็นคนลงนามเอ็มโอยูไว้เอง ทำให้ไม่สมารถเสนอแผนจัดการพื้นที่ได้ ดังนั้น ยูเนสโกต้องเริ่มต้นจากการลดแรงกดดันกัมพูชา ซึ่งเป็นที่มาของการยกระดับปัญหา และเกิดความรุนแรงขึ้น ควรจะหยุดตรงนั้นไว้ เมื่อหยุดแล้ว ก็เป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายมาทบทวนเรื่องทั้งหมดว่า ควรจะแก้ไขปัญหายังไง ทางออกที่ไทยจะเสนอยังมีข้อมูลอีกหลายส่วนที่เราจะต้องพิจารณาให้ดี ส่วนเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันนั้นคิดว่า คงต้องศึกษาข้อมูลทุกด้านให้ดีก่อน

***ชี้ไทยเสียท่าเขมรดึงประเทศที่3มาเอี่ยว

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า การที่กัมพูชาอ้างเหตุว่าพอใจที่ฝ่ายไทยยอมให้ทางอินโดนีเซีย เข้ามาสังเกตการณ์นั้น ทำให้เป็นประเทศที่ 3 ในการเจรจาโดยทันที ถือว่ามีความละเอียดอ่อนมาก เพราะหากอินโดนีเซีย มาอยู่ในสถานภาพผู้ไกล่เกลี่ย หรือคนกลาง จะทำให้การเจรจาไม่เป็นรูปแบบทวิภาคีต่อไป ไม่ใช่เจตนารมณ์ที่ฝ่ายไทยต้องรับเรื่องเหล่านี้ เพราะก่อนมี MOU 2543 ก็ไม่จำเป็นต้องมีประเทศที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากที่กฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 2 วรรค 7 ที่ระบุมิให้สหประชาชาติ หรือประเทศใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในประเทศอื่น รวมทั้งกัมพูชายังมีความปรารถนาที่จะนำเรื่องขึ้นศาลโลก เพื่อขยายผลในคำบรรยายพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 แม้ว่าจะไม่สามารถจะขยายขอบเขตในคำพิพากษาเดิมที่ตัดสินเฉพาะตัวปราสาทได้ แต่ต้องการนำมาใช้คู่กับ MOU 2543 เพื่อขยายผลรับรองแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งไทยไม่เคยยอมรับ แต่กัมพูชาจะใช้วิธีนี้ในการนำแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนขึ้นมาบนโต๊ะเจรจาในทุกกรณีที่เกี่ยวกับ MOU 2543 ยิ่งเมื่อมีคนกลางเข้ามาก็ยิ่งเป็นอันตรายร้ายแรงมากขึ้น

นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน กล่าวว่า มาถึงวันนี้เห็นได้ชัดว่ากัมพูชามีแนวทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าต้องการนำเรื่องข้อพิพาทไทย-กัมพูชาขึ้นสู่เวทีนานาชาติ ทั้งสหประชาชาติหรือศาลโลก เพื่อรับรองแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน แต่ฝ่ายรัฐบาลไทยกลับเป็นฝ่ายที่ตามเกมทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงหมิ่นเหม่ต่อการสูญเสียดินแดน รวมทั้งการที่ฝ่ายทหารโดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก และ พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 ไปเจรจา โดยมีเงื่อนไข 8 ข้อในการหยุดยิง และอ้างว่าเป็นสัญญาลูกผู้ชาย แต่ไม่มีเงื่อนไข ให้ทหารและชุมชนกัมพูชาออกจากดินแดนไทย และเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังออกมาให้การรับรองอีกด้วยว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

**"ฮุนเซน"ยกเลิกแผนเซ็นสัญญาหยุดยิง

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวช่วงเช้าวานนี้ (22ก.พ.) ว่า กัมพูชาล้มเลิกแผนการร้องขอให้ไทยร่วมเซ็นสัญญาลงนามหยุดยิงถาวร ซึ่งเริ่มแรกต้องการใช้เวทีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา เป็นสักขีพยาน และมีส่วนร่วมกับข้อตกลงดังกล่าว

นายกฯ ฮุนเซน กล่าวในพิธีสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชพนมเปญ ว่า ผมได้บอกกับรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮอร์ นัมฮง ไปแล้วว่าไม่มีความจำเป็นต้องขอให้ไทยร่วมลงนามหยุดยิงถาวร ในส่วนของไทยเองประกาศยอมรับผู้สังเกตุการณ์ยังพรมแดนพิพาทจากอินโดนีเซียเข้าไปดูแลสถานการณ์ยังฝั่งไทย ส่วนกัมพูชา ก็จะขอผู้สังเกตุการณ์จากอินโดนีเซีย เข้าไปยังฝั่งกัมพูชาโดยเร็วที่สุดเช่นกัน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฮุน เซน ได้เสนอเซ็นสัญญาลงนามหยุดยิงถาวรระหว่าง ไทย-กัมพูชา บนเวทีการประชุมอาเซียน โดยยกข้อเสนอสำคัญ 4 ประการ ดังนี้ 1.กัมพูชาและไทยเห็นพ้องยุติการยิงเพื่อความสงบอย่างยั่งยืน ไม่มีการปะทะกันด้วยอาวุธอีกต่อไป 2.ยุติการเคลื่อนกำลังพล เข้าไปในพื้นที่ในขณะนี้ และให้ทั้ง 2 ฝ่าย คงกำลังรักษาดินแดนตามเดิม และรอการกำหนดแบ่งเขตที่ถูกต้องชัดเจน 3.กัมพูชาและไทย สนับสนุนให้มีการเปิดเจรจาทางทหาร เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ให้กลับไปเป็นเช่นเดิม ก่อนหน้า 15 ก.ค.2008 4.เพื่อให้มั่นใจว่าสัญญายุติการยิงเป็นผล กัมพูชาจะร้องขอให้ชาติสมาชิกอาเซียน มีส่วนดูแลการลงนามครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ดี ไทยปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

***กำนันต.เสาธงชัยฟ้องฮุนเซนเรียก3พันล้าน

วานนี้ (22 ก.พ.) ที่บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายวีรยุทธ ดวงแก้ว กำนันตำบลเสาธงชัย กล่าวว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้นำของรัฐบาลกัมพูชาที่เป็นฝ่ายเริ่มก่อสงครามในครั้งนี้ ดังนั้น จะได้หารือเรื่องนี้กับผู้นำหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในศรีสะเกษ เพื่อเตรียมฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลกัมพูชา เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าชดใช้ชีวิต ค่าเสียหายของทรัพย์สิน บ้านเรือน ค่าสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ และเป็นค่าทำขวัญของประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านเขาพระวิหาร ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ไร้ซึ่งความสงบสุขจากภัยกระสุนปืนใหญ่ และ จรวดบีเอ็ม 21 ของฝ่ายกัมพูชาในครั้งนี้"

**"มทภ.2"ยอมรับไม่มั่นใจ"เขาวิหาร"สงบ

พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) กล่าวว่า จากการติดตามข่าวหลังการเจรจาพูดคุยกันครั้งล่าสุด ยังไม่พบการเคลื่อนไหวของกำลังทหารฝ่ายกัมพูชาแต่อย่างใด ทุกอย่างยังเป็นปกติ เพียงแต่มีการแจ้งกันไปว่าจะมีการปรับกำลังเอาทหารมาสับเปลี่ยน หรือมาเสริมในตอนพัก ส่วนที่มีเสียงปืนดังขึ้น 2 ครั้งที่ภูมะเขือหลังการเจรจาของระดับผู้นำทหาร 2 ฝ่าย ไม่มีอะไรเป็นเรื่องธรรมดาอาจจะมีคนยิงหนูยิงนกก็เป็นเรื่องปกติ เพราะฝั่งโน้นเขามีสัตว์อะไรต่างๆ เยอะอยู่ เขาอาจจะทำอะไรก็ได้ ซึ่งเราได้ตรวจสอบไปแล้ว ฝ่ายเขาก็แจ้งว่าไม่มีอะไรและขอโทษฝ่ายไทยมาแล้ว

เมื่อถามว่า หลังการเจรจาแล้วแนวโน้มชายแดนจะดีขึ้น หรือจะไม่มีเหตุปะทะกันเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และประชาชนไว้วางใจต่อสถานการณ์ได้หรือยัง พล.ท.ธวัชชัย กล่าว ยังไม่ทราบในเรื่องนี้ เพราะไม่เกี่ยวกับเรา เราทำตามที่ได้พูดคุยตกลงกันไว้อยู่แล้ว ซึ่งเหตุปะทะทุกคนก็ไม่อยากให้มีเกิดขึ้นอีกอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น