พันธมิตรฯรับได้อินโดฯสังเกตการณ์ แต่เบรกไกล่เกลี่ย “ปานเทพ” ซัดรัฐเพ้อเจ้อต่อ กม.มั่นคง ลั่นสู้คดีถึงที่สุด เพื่อสิทธิภาค ปชช.ติง รบ.ยอมอาเซียนส่งตัวแทนมาดูพื้นที่ละเอียดอ่อน ต้องห้ามจุ้น นั่งฟังอย่างเดียว เตือนระวังแขมร์หัวหมอ ยก MOU-คำตัดสิน 2505 ขึ้นศาลโลก “ประพันธ์” ชี้ เขมรหวังดันเรื่องไปศาลโลก แต่ รบ.ไทย ตามเกมจนเสี่ยงเสียดินแดน
วันนี้ (22 ก.พ.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา 9 ใน 10 แกนนำพันธมิตรฯ และเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ได้เดินทางเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก โดยได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ฐานฝ่าฝืนประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง และจะมีการจัดทำคำให้การเป็นลายลักลักษณ์อักษร ชี้แจงต่อพนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน ทั้งนี้ ในส่วน นายทศพล แก้วทิมา แกนนำเครือข่ายฯที่ไม่ไปรายงานตัวนั้น ตนทราบว่า จะมีแนวทางต่อสู้คดีความในวิถีทางอื่น โดยเข้าใจว่าจะต่อสู้ในชั้นศาล โดยไม่ผ่านชั้นสอบสวน
ในส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี มีมติให้ต่ออายุการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในพื้นที่ กทม. 7 เขตอีก 30 วัน นั้น นายปานเทพ กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลมีสิทธิ์ในการออกกฎหมายป้องปราม แต่ไม่มีสิทธิ์ออกกฎหมายที่มาครอบการชุมนุมที่มีอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งการชุมนุมเป็นการปกป้องอธิปไตยของชาติ ปราศจากอาวุธ และสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นบรรทัดฐานในอนาคตว่า หากรัฐบาลไม่พอใจผู้ชุมนุมกลุ่มไหน ก็ออก พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยใช้จินตนาการตัวเอง หมายความว่า สิทธิในการชุมนุมไม่สามารถทำได้แล้วในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างยิ่ง ทำให้กลุ่มรวมพลังปกป้องแผ่นดิน จำเป็นต้องต่อสู้คดีนี้ให้สิ้นกระแสความในอนาคต เพื่อวางรากฐานสิทธิการชุมนุมของภาคประชาชน
นายปานเทพ ยังได้กล่าวถึงความเคลิ่อนไหวในที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปรากฏว่า กัมพูชาไม่ลงนามตกลงหยุดยิงถาวร ว่า การที่กัมพูชาอ้างเหตุว่าพอใจที่ฝ่ายไทยยอมให้ทางอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์นั้น ทำให้เป็นประเทศที่ 3 ในการเจรจาโดยทันที ถือว่า มีความละเอียดอ่อนมาก เพราะหากอินโดนีเซียมาอยู่ในสถานภาพผู้ไกล่เกลี่ย หรือคนกลาง จะทำให้การเจรจาไม่เป็นรูปแบบทวิภาคีต่อไป ไม่ใช่เจตนารมณ์ที่ฝ่ายไทยต้องรับเรื่องเหล่านี้ เพราะก่อนมี MOU 2543 ก็ไม่จำเป็นต้องมีประเทศที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากที่กฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 2 วรรค 7 ที่ระบุมิให้สหประชาชาติหรือประเทศใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในประเทศอื่น รวมทั้งกัมพูชายังมีความปรารถนาที่จะนำเรื่องขึ้นศาลโลก เพื่อขยายผลในคำบรรยายพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 แม้ว่าจะไม่สามารถจะขยายขอบเขตในคำพิพากษาเดิมที่ตัดสินเฉพาะตัวปราสาทได้ แต่ต้องการนำมาใช้คู่กับ MOU 2543 เพื่อขยายผลรับรองแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งไทยไม่เคยยอมรับ แต่กัมพูชาจะใช้วิธีนี้ในการนำแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนขึ้นมาบนโต๊ะเจรจาในทุกกรณีที่เกี่ยวกับ MOU 2543 ยิ่งเมื่อมีคนกลางเข้ามาก็ยิ่งเป็นอันตรายร้ายแรงมากขึ้น
“สิ่งที่เรายืนหยัดมาโดยตลอด คือ การยกเลิก MOU 2543 เพื่อป้องกันการนำมาผนวกใช้กับคำบรรยายพิพากษาศาลโลก เนื่องจากมีเรื่องแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนเข้ามาเกี่ยวข้อง และการที่ให้ถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก ก็เพื่อไม่ให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ รวมทั้งการผลักดันกัมพูชาออกจากดินแดนไทย ก็เพื่อไม่ให้กัมพูชายึดครองดินแดนในทางปฏิบัติ และอาศัยผลไปใช้ในเวทีมรดกโลก แสดงให้เห็นว่าข้อเรียกร้องของเราสอดคล้องกับสิ่งที่กำลังต่อสู้กับกัมพูชาอยู่ในขณะนี้” นายปานเทพ กล่าว
โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวถึงกรณีที่ พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 ออกมาระบุว่า เงื่อนไข 8 ข้อในการหยุดยิงนั้น ยังไม่มีการลงนาม เป็นเพียงสัญญาลูกผู้ชาย ว่า พล.ท.ธวัชชัย ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าในระหว่างที่ไม่มีการลงนามหยุดยิง จะมีวิธีการอย่างไรในกรณีที่กัมพูชายึดครองดินแดนประเทศไทยอยู่ในหลายจุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่อาเซียนมีมติให้ส่งตัวแทนจากอินโดนีเซีย 15 คน เข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่พิพาท แล้วให้เจรจากันอีกครั้งที่ประเทศอินโดนีเซีย นายปานเทพ กล่าวว่า การที่มีประเทศที่ 3 ต้องไม่ใช่ให้เข้ามาสั่งประเทศไทยได้ เพราะเรามีเอกราช ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2503 ก็มีข้อพิพาทระหว่างไทย กับกัมพูชา ซึ่งก็ไม่สามารถหาสถานที่กลางได้ จึงไปคุยกันที่สหประชาชาติ และมีตัวแทนสหประชาชาติ เข้ามานั่งฟัง มีสถานภาพแค่นั้น ไม่สามารถพูด หรือออกคำสั่งตัดสินใดๆ ได้ในการไกล่เกลี่ย ดังนั้น การที่จะให้ไทย กับกัมพูชา ไปเจรจากันที่ใดนั้น ต้องเป็นความยินยอมของ 2 ฝ่าย ไม่ใช่ให้อาเซียน หรือใครมาสั่งได้ ส่วนเรื่องการเข้ามาของตัวแทน 15 คน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก โดยฝ่ายไทยต้องอนุญาต และมาในสถานะผู้ฟังเท่านั้น เพราะหากให้เข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยและประนีประนอม กัมพูชาจะยก MOU 2543 มาผนวกกับคำบรรยายพิพากษาศาลโลก ทำให้ไทยเสียเปรียบทันที แถมยังมีรายงานทางวิชาการของกลุ่มนักวิชาการที่กระทรวงการต่างประเทศ จ้างมา 7.1 ล้านบาท ที่ให้ร้ายกับประเทศไทยอีกด้วย จึงไม่เห็นทางที่ไทยจะได้เปรียบเลย
เมื่อถามต่อว่า คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) 3 ฉบับ ของรัฐสภา ที่มี นายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน มีข้อเสนอให้รับรองร่างทั้ง 3 ฉบับ นายปานเทพ กล่าวว่า การรับรองรายงานการประชุม 3 ฉบับดังกล่าว จะให้ผลร้ายกับประเทศไทยทันที คือ 1.ในบันทึกการประชุมมีการให้ร้ายประเทศผ่านคำปราศรัยของนายวาร์ คิม ฮง ประธาน JBC ฝ่ายกัมพูชา ที่กล่าวหาว่า ไทยรุกล้ำดนแดนตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน โดยฝ่ายไม่โต้แย้งเลย 2.มีการกล่าวให้มีปักปันเขตแดนบริเวณเทือกเขาดงรัก ทั้งที่บริเวณนั้นมีหลักสันปันน้ำให้เห็นได้โดยตาเปล่า ที่ทั้งไทยและกัมพูชา โดยฝรั่งเศสให้การรับรองไว้แล้ว 3.จะเป็นการตอกย้ำการใช้ MOU 2543 และ TOR 2546 ที่ยอมรับการใช้แผนที่ 1 ต่อ 2 แสนในทุกระวาง รวมทั้ง 4.ให้ทหาร 2 ฝ่ายออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.เหลือแต่ชุมชนกัมพูชา ทำให้กัมพูชาสามารถเดินหน้าขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่วางแผนไว้
“เมื่อกัมพูชารู้ว่าจะมีการตั้งข้อสังเกตต่อบันทึกการประชุม JBC 3 ฉบับ จึงทำการล้มโต๊ะการเจรจา JBC ทันที อาศัยการดึงประเทศที่ 3 มานั่งฟัง อ้างถึงการตกลงย้อนหลังทั้งหมด โดยไม่ให้ไทยได้โต้แย้ง ถือเป็นผลเสียอย่างยิ่ง” นายปานเทพ กล่าว
ด้าน นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน กล่าวว่า มาถึงวันนี้เห็นได้ชัดว่า กัมพูชามีแนวทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าต้องการนำเรื่องข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ขึ้นสู่เวทีนานาชาติ ทั้งสหประชาชาติ หรือศาลโลก เพื่อรับรองแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน แต่ฝ่ายรัฐบาลไทยกลับเป็นฝ่ายที่ตามเกมทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงหมิ่นเหม่ต่อการสูญเสียดินแดน รวมทั้งการที่ ฝ่ายทหารโดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุบรรณ เสนาธิการทหารบก และ พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 ไปเจรจา โดยอ้างว่า เป็นสัญญาลูกผู้ชาย แต่แสดงว่า ให้การยอมรับเงื่อนไข 8 ข้อดังกล่าว โดยไม่มีเงื่อนไขให้ทหารและชุมชนกัมพูชาออกจากดินแดนไทย โดยเฉพาะการที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาให้การรับรองอีกด้วยว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
“เมื่อเราออกมาบอกว่าไม่สามารถลงนามในสัญญาลักษณะนี้ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ก็รับออกมาบอกว่าไม่ได้ลงนาม แต่เป็นสัญญาลูกผู้ชาย ซึ่งไม่สามารถนำเรื่องศักดิ์ศรีลูกผู้ชายมาเกี่ยวพันกับดินแดนไม่ได้ ในเชิงทางการทูตเป็นการสมยอมกับกัมพูชา ดังนั้น รัฐบาลต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนหากไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว” นายประพันธ์ กล่าว
ในส่วนที่ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัว 7 แกนนำคนเสื้อแดง นายประพันธ์ กล่าวว่า ผู้ต้องหาทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการประกันตัวปล่อยตัวอยู่แล้ว ส่วนศาลจะพิจารณาขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ต้องหา และข้อกฎหมายที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ อย่างไรก็ตาม การที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี หรือฝ่ายราชการอื่นๆ ไปให้การต่อศาลในลักษณะช่วยเหลือผู้ต้องหานั้น ตนเกรงว่า ต่อไปจะกลายเป็นบรรทัดฐานว่ารัฐบาลจะปฏิบัติเช่นนี้กับประชาชนที่ถูกรัฐกล่าวหา หากมีการร้องขอหรือไม่