xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ห้ามตัด “วัด” เช็คบิล ร.ร. “ฮุบ” ที่สงฆ์ อาฟเตอร์ช็อค! ตัดตอน...“เด็กฝาก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็นอีกเรื่องที่พูดถึงกันให้แซ่ดในช่วงที่ผ่านมากับมติของมหาเถรสมาคม (มส.) ที่ห้ามตัดคำว่า “วัด” นำหน้าชื่อโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัด หรือ ธรณีสงฆ์ออก ซึ่งหากย้อนดู มติ มส.ที่เกิดขึ้นจะพบว่าเป็นผลมาจากการที่คณะอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนา ในคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่พยายามชงเรื่องให้ มส.พิจารณา

ประเด็นหลักๆ จากฝ่ายชงเรื่องระบุว่าปัจจุบันโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วัดต่างพากันเปลี่ยนชื่อ จากเดิมเคยใช้ชื่อเดียวกับวัด หรือมีคำว่าวัดนำหน้า จากเหตุผลในเรื่องของ “ค่านิยม” ที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจส่งลูกเข้าเรียนของผู้ปกครอง กระทั่งเหตุผลที่ของการตัดชื่อวัดออกจะยิ่งเป็นการ “ถ่าง” ระหว่างเยาวชน กับวัด ให้ห่างไกลจากพุทธศาสนามากขึ้น จนอาจกระทบต่อ “ความมั่นคงของชาติ” ได้...

เมื่อเป็นมติออกมาทาง “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)” จึงรีบสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือเวียนไปยังเจ้าคณะจังหวัด และวัดที่มีโรงเรียนตั้งอยู่ทั่วประเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนา (พศจ.) แต่ละจังหวัด ตรวจสอบโรงเรียนที่ดำเนินการตัดคำว่าวัดออกจากชื่อโรงเรียน ซึ่งจะขัดกับมติ มส. ทั้งนี้มติดังกล่าวยังไม่มีผลทันที และเพื่อป้องกันความสับสน จึงต้องเข้าสู่กระบวนการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ว่าโรงเรียนใดบ้างที่มีการตัดชื่อวัดออกไปแล้ว และจะต้องนำกลับมาใส่เหมือนเดิม แต่สำหรับโรงเรียนที่ได้รับชื่อพระราชทาน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ธรณีสงฆ์ จะได้รับการยกเว้น

อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้ทางฟากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ก็ไฟเขียวและพร้อมสนับสนุนมติ มส.เต็มที่โดย “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” รมว.ศึกษาธิการ รับลูกเป็นอย่างดี โดยถือเป็นการสอดรับกับแนวความคิดของตัวเอง ที่อยากให้มี บ้าน วัด โรงเรียน เกิดขึ้น และให้เยาวชนไทยภาคภูมิใจในต่อสถานที่และความเป็นมาเดิม โดยจะได้มีการทำประชาพิจารณ์ สอบถามความเห็นจากทั้งนักเรียน ครู และชุมชน เพื่อมาดำเนินการต่อไป

เช่นเดียวกับหน่วยงานต้นสังกัดอย่าง “สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)” ที่เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหา และไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างวัด กับ โรงเรียนมีกันมาอย่างยาวนาน ทำให้พบว่าปัจจุบันมีสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.ที่มีชื่อวัดอยู่ในชื่อโรงเรียนอยู่แล้วถึง 21,125 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนประถมฯ จำนวน 20,907 แห่ง และมัธยมฯ 218 แห่ง แต่สำหรับโรงเรียนที่ได้ตัดคำว่าวัดออกจากชื่อโรงเรียนนั้น ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่ง สพฐ.มองว่าสำหรับโรงเรียนที่ไม่เคยใช้มาตั้งแต่แรกก็ควรได้รับการยกเว้นให้

อีกประเด็นสำคัญที่น่าสนใจไม่แพ้การสั่งห้ามตัดชื่อวัดจากชื่อโรงเรียน คือ มส.ยังให้มีการตรวจสอบการทำสัญญาเช่าที่ธรณีสงฆ์ ของโรงเรียนต่างๆ ด้วย เนื่องจากพบว่ามีโรงเรียนที่เช่าที่วัดหลายแห่ง ที่ไม่เคยทำสัญญาเช่า ไม่ยอมจ่ายค่าเช่ามาแล้ว 20-30 ปี ซึ่งในประเด็นนี้ยังตั้งข้อสังเกตไปถึงความพยายามแสวงหา “ผลประโยชน์แอบแฝง” ของทางโรงเรียน โดยมีข้อมูลระบุว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งต้องการตัดชื่อวัดออกจากชื่อโรงเรียน เพราะหวังนำที่ดินของวัดไปออกเป็นโฉนด ซึ่งยังคงรอข้อเท็จจริงต่อไป

“ปัญหาเรื่องการฮุบที่ดินวัดไม่ค่อยมีใครสนใจ ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้สำรวจปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินวัด ซึ่งหากวัดใดมีหลักฐานหรือว่าข้อมูลชัดเจนว่ามีการนำที่ดินวัดไปออกเอกสารสิทธิจริง ก็ต้องทวงคืน อย่างไรก็ตาม การทวงคืนที่ดินไม่ใช่การให้โรงเรียนย้ายออกไป แต่เป็นการโอนเอกสารสิทธิกับมาเป็นของวัดและให้ทำสัญญาเช่าถูกต้องตามระเบียบ” คำยืนยันจากปาก “อำนาจ บัวศิริ” ผอ.มส.ที่แสดงถึงการเอาจริงเอาจังในการจัดการปัญหานี้ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าบรรดากรรมการสถานศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนวัด คงได้หนาวๆ ร้อนๆ ไปตามกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามในเรื่องการดำเนินการตรวจสอบการเช่าที่วัดของโรงเรียนนั้น ทางฝั่ง สพฐ. ยืนยันว่า ไม่เคยได้รับรายงาน และมีการร้องเรียนใดๆ ว่ามีโรงเรียนดำเนินการในลักษณะตามที่ มส.กล่าวอ้าง ทั้งนี้โรงเรียนเองก็ไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดจากที่ดินของวัดได้อยู่แล้ว ในส่วนที่ระบุว่าโรงเรียนค้างค่าเช่าที่ดินวัดนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจาก สพฐ. ได้จัดงบให้โรงเรียนทั่วประเทศจ่ายค่าที่วัดปีละ 70 ล้านบาทอยู่แล้ว ซึ่งโรงเรียนไม่ต้องหาเงินไปจ่ายเอง

ขณะที่ “นพดล โกสุม” ผอ.ร.ร.จันทรประดิษฐารามวิทยาคม ยืนยันตรงกันว่า ประเด็นที่โรงเรียนไม่จ่ายค่าเช่าพื้นที่วัดนั้น หากเป็นโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ไม่น่าจะมี เพราะมีการจัดสรรงบให้อยู่แล้ว โดยโรงเรียนของตนจ่ายค่าเช่าที่วัดจันทร์ประดิษฐารามปีละ 46,000 บาททุกปี ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าอาจเป็นโรงเรียนประถมฯ ขนาดเล็กมากกว่าที่มีปัญหา ซึ่งเรื่องนี้ สพฐ. ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดงบประมาณให้เพียงพอ

มาถึงตรงนี้กับมติต่างๆ ของมส.ที่ออกมาในนี้ทำให้มีการมองกันว่าช่างอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะกับการรับนักเรียนปี 2554 พอดิบพอดี ซึ่งเมื่อลองจับต้นชนปลายก็จะพบว่าก่อนหน้านี้ในส่วนนโยบายของ รมว.ศธ. ก็ได้ประกาศชัดในเรื่อง “ห้ามฝากเด็ก” ถึงขนาดกับจัดหลักเกณฑ์โควตาสำหรับสัดส่วนของผู้มีอุปการคุณ โดยนโยบายมีการกำชับหนักแน่นว่า โรงเรียนต้องประกาศรายชื่อเด็กสัดส่วนนี้ให้ชัดเจน และเด็กเหล่านี้ก็ต้องผ่านกระบวนการสอบเช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ ซึ่งหากสอบได้ก็ต้องตัดชื่อทิ้ง และห้ามดันคนอื่นเข้ามาแทนที่

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงมีการตีความกันว่า อาจเพราะนโยบายการรับนักเรียนที่เข้มข้นของเจ้ากระทรวงที่ชื่อ “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” คนนี้หรือไม่ที่ทำให้ บรรดาผู้มีอุปการคุณทั้งหลายเจอ “ตอ” และเพิ่มดีกรีความยากในการฝากเด็กเข้าเรียนมากขึ้น หรือจะกลายเป็นว่าประเด็นการตามเช็คบัญชีโรงเรียนที่หวังฮุบที่ธรณีสงฆ์ กับการจำกัดเด็กฝากสายผู้มีอุปการคุณในปีนี้จะกลายเป็น (คนละ) เรื่องเดียวกัน โดยไม่รู้ตัว...

แต่ก็อีกเช่นกัน เพราะประเด็นนี้ อาจเป็นการปล่อยข่าวแก้เกมของบรรดาโรงเรียนวัดที่ร้อนตัวก็เป็นได้

ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาและจำต้องติดตามกันใกล้ชิดต่อไปว่า เบื้องหน้าและเบื้องหลังแท้ที่จริงแล้วเป็นเช่นไร

เรื่อง.ทีมข่าวการศึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น