xs
xsm
sm
md
lg

พศ.ชี้อย่าตื่นมติ มส.ห้ามตัด “วัด” หน้าชื่อ ร.ร. - เล็งคุ้ยสัญญาเช่าที่ธรณีสงฆ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พศ.แจงโรงเรียนอย่าตื่นมติที่ มส.ห้ามตัดคำว่า “วัด” นำหน้าชื่อโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ธรณีสงฆ์ ชี้ต้องหารือกับวัด ผู้บริหาร และ ศธ. เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์และเร่งสำรวจโรงเรียนที่ตัดชื่อวัดออกไปก่อน ยกเว้นโรงเรียนที่ได้รับชื่อพระราชทาน เล็งหารือวัดทั่วประเทศเร่งตรวจสอบการทำสัญญาเช่าที่ธรณีสงฆ์ ของโรงเรียนต่างๆ ด้าน สพฐ.ยันไม่มีขัดมติ มส.เผย มี ร.ร.ใช้วัดนำหน้าอยู่แล้ว 21,125 แห่ง ชี้ รอหนังสือแจ้งทางการ ก่อนเรียกประชุมทำความเข้าใจ คกก.สถานศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน ศิษย์เก่า เชื่อ ร.ร.ที่ไม่ได้ใช้ตั้งแต่ต้นได้รับการยกเว้น
ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
วันนี้( 1 มี.ค.) นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีที่ มส.มีมติเห็นชอบไม่ให้ตัดคำว่า “วัด” ที่ใช้นำหน้าชื่อโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ธรณีสงฆ์ออก หากโรงเรียนใดตัดออกไปต้องนำกลับมาใส่เหมือนเดิมนั้น ว่า หลังจากมติดังกล่าวออกมาหลายโรงเรียนอาจจะเกิดความสับสนและไม่เข้าใจ ต้องขอชี้แจงว่า มติดังกล่าวยังไม่มีผลทันที โดยหลังจากนี้สำนักงาน พศ.ต้องหารือกับฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางวัดที่โรงเรียนตั้งอยู่ ผู้บริหารโรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ว่าโรงเรียนใดบ้างที่มีการตัดชื่อวัดออกไปแล้ว และจะต้องนำกลับมาใส่เหมือนเดิม รวมทั้งต้องรอผลการสำรวจจำนวนโรงเรียนที่ตัดชื่อวัดออก โดยตนได้สั่งให้เร่งดำเนินการสำรวจเรื่องดังกล่าวแล้ว คาดว่า ภายในเร็วๆ นี้จะได้จำนวนที่แน่นชัด

นายนพรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ธรณีสงฆ์ แต่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมติดังกล่าวจะเป็นโรงเรียนได้รับชื่อพระราชทาน ซึ่งจุดประสงค์ของมติดังกล่าว เพื่อป้องกันโรงเรียนที่มีความพยายามตัดคำว่า “วัด” ออกจากชื่อโรงเรียน โดยไม่มีหลักการและเหตุผลและมีผลประโยชน์แอบแฝง เช่น มีผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งต้องการตัดชื่อวัดออกจากชื่อโรงเรียน เพราะต้องการนำที่ดินของวัดไปออกเป็นโฉนด ซึ่งตนได้สั่งให้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่าข้อมูลที่ได้รับรายงานนั้นเป็นจริงหรือไม่ และมีโรงเรียนกี่แห่งที่พยายามนำที่ดินวัดไปออกเป็นโฉนด เพื่อต้องการฮุบที่ดินของวัดเป็นของโรงเรียน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ สำนักงาน พศ.กำลังเป็นห่วงมาก และหากตรวจพบว่ามีโรงเรียนใดฮุบที่ดินวัดก็จะตามทวงคืนแน่นอน

** เล็งคุ้ยสัญญา ร.ร.ทำเช่าที่ธรณีสงฆ์
นายนพรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากมติการห้ามตัดชื่อวัดออกจากโรงเรียนแล้ว ตนกำลังจะหารือกับวัดทั่วประเทศ ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบการทำสัญญาเช่าที่ธรณีสงฆ์ ของโรงเรียนต่างๆ เพราะขณะนี้มีรายงานในเบื้องต้นว่าโรงเรียนที่เช่าที่วัดหลายโรงเรียนไม่เคยทำสัญญาเช่า ที่สำคัญบางแห่งไม่ยอมจ่ายค่าเช่ามาแล้ว 20-30 ปี ดังนั้นต้องหารือกับวัดให้ทำสัญญาเช่าให้ชัดเจนและต้องเก็บค่าเช่า โดยเฉพาะโรงเรียนที่ไม่เคยจ่ายค่าเช่าเลย และโรงเรียนที่ค้างค่าเช่ามานานแล้ว ซึ่งก็ทราบว่ามีหลายโรงเรียนไม่เห็นด้วยกับการทำสัญญาเช่าที่ธรณีสงฆ์ เพราะการทำสัญญาเช่านั้นโรงเรียนต้องมีการตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นมาอีก เนื่องจากที่ผ่านมาโรงเรียนหลายแห่งไม่เคยตั้งงบประมาณส่วนนี้และจ่ายค่าเช่าเลย

** เผยชื่อ ร.ร.ดังตัด “วัด” นำหน้าชื่อออก
นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ กิจการพระพุทธศาสนา ในคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้เสนอเรื่องดังกล่าวให้ มส.พิจารณา ว่า จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้นพบว่ามีโรงเรียนที่ตัดคำว่าวัดออกจากโรงเรียน เช่น ร.ร.วิมุตยารามพิทยากร เขตบางพลัด, ร.ร.กุนนทีรุทธารามวิทยาคม เขตดินแดง, ร.ร.จันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม เขตภาษีเจริญ, ร.ร.ชิโนรสวิทยาลัย เขตบางกอกน้อย, ร.ร.ไชยฉิมพลีวิทยาคม เขตภาษีเจริญ, ร.ร.ไตรมิตรวิทยาลัย เขตสัมพันธวงศ์, ร.ร.เทพลีลา เขตบางกะปิ, ร.ร.เทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, ร.ร.สุวรรณารามวิทยาคม เขตบางกอกน้อย เป็นต้น อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมาธิการจะร่วมมือกับสำนักงาน พศ. สำรวจจำนวนโรงเรียนที่แน่นชัดอีกครั้ง

** สพฐ.ไม่ขัดมติ มส.
ขณะที่ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนเพิ่งจะทราบเรื่องนี้ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการจะให้โรงเรียนไปใช้คำว่าวัดนำหน้าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะในเชิงความสัมพันธ์ถือว่าวัดและโรงเรียน มีความใกล้ชิดแนบแน่นมาโดยตลอด และวัดเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการจัดการศึกษามาตั้งแต่อดีตกาล ทั้งนี้ปัจจุบันมีโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 31,424 แห่ง เป็นโรงเรียนที่มีชื่อวัดอยู่ในชื่อของโรงเรียนแล้ว 21,125 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียนระดับประถมศึกษา 20,907 แห่ง และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 218 แห่ง อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนชื่อโรงเรียน สามารถทำได้อยู่แล้วตามแนวปฏิบัติว่าด้วยการเปลี่ยนชื่อสถานศึกษา พ.ศ.2552 ซึ่งเป็นอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ยกเว้นชื่อพระราชทานที่จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

นายชินภัทร กล่าวด้วยว่า สำหรับกระบวนการในการดำเนินการนั้นคงต้องรอหนังสือที่เป็นมติแจ้งจาก มส.อีกครั้ง จากนั้นต้องนำหารือกับทาง กพฐ.และจะต้องพิจารณาระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน และศิษย์เก่า เพื่อให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นไปได้อย่างมีส่วนร่วม และเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้ตนเข้าใจว่ามติ มส.ที่ออกมาน่าจะมีผลใช้เฉพาะกับโรงเรียนที่เคยใช้วัดนำหน้าชื่อ แต่กรณีโรงเรียนที่ไม่ได้ใช้มาตั้งแต่แรกน่าจะยกเว้น

“หลักของการพิจารณาเปลี่ยนชื่อโรงเรียนนั้น จะดูจากเจตนารมณ์ของการตั้งชื่อว่ามีวัตถุประสงค์ใด ความซ้ำซ้อนกับโรงเรียนอื่น และความต้องการของคณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน หรือศิษย์เก่า เป็นต้น”
เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับมติของ มส.เพราะสอดรับกับแนวความคิดของตน ทั้งนี้ ตนคิดว่าควรจะภาคภูมิใจถึงความเป็นมาและความงดงาม ซึ่งตนได้ให้เป็นนโยบายให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ โดยให้ดำเนินการตามประกาศ นำไปทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็น ครู นักเรียน ชุมชน จากนั้นให้นำผลประชาพิจารณ์ส่งเขตพื้นที่การศึกษา และ สพฐ.เพื่อพิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น