xs
xsm
sm
md
lg

มส.หวั่น ร.ร.ฮุบที่วัดลั่นเจอทวงคืนแน่ - สพฐ.ระบุจัดงบจ่ายค่าเช่าที่ 70ล./ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.วธ.
วธ. - เจ้าอาวาส - ผอ.ร.ร.วัด หนุน มส.ห้ามตัดคำ "วัด" จากชื่อโรงเรียน ผอ.ร.ร.จันทร์ประดิษฐ์ฯ วอน มส.จัดการ ร.ร.เมินใช้ชื่อวัด ขอเปลี่ยนชื่อใหม่จะดีกว่า ไม่ติดใจใส่ "วัด" หน้าชื่อ ขอ สพฐ.แจ้งให้ชัด ผอ.ร.ร.ไตรมิตรฯ ยันไม่เคยตัด "วัด" ออก ด้าน มส.รับทวงคืนธรณีสงฆ์ยาก เหตุขาดหลักฐาน ชี้หากตรวจพบเอาคืนแน่

วันนี้ (2 มี.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงกรณีที่มหาเถรสมาคม (มส.) มีมติเห็นชอบไม่ให้ตัดคำว่า “วัด” ที่ใช้นำหน้าชื่อโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ธรณีสงฆ์ออก หากโรงเรียนใดตัดออกไปต้องนำกลับมาใส่เหมือนเดิมว่า ในอดีตวัดกับโรงเรียนอยู่คู่กันมาโดยตลอด จึงเกิดคำว่า “บวร” ขึ้น วัดถือเป็นผู้สร้างโรงเรียน การขอตัดคำว่าวัดออกจากชื่อโรงเรียน เพราะสาเหตุในเรื่องของความล้าสมัย หรือไม่อยากมีคำว่าวัดอยู่นั้น เป็นการมองที่เปลือกนอก คนทั่วไปมักยึดติดเปลือกมากเกินไป บางครั้งเราต้องกินเนื้อด้วย ความทันสมัยหรือไม่ทันสมัยก็เหมือนกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำว่าวัด อยู่ที่คุณภาพการเรียนการสอนต่างหาก โดยส่วนตัวตนจึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการตัดคำว่าวัดออกจากชื่อโรงเรียน เพราะสังคมจะอยู่กันอย่างปัจเจกไม่ได้ ต้องอยู่ร่วมกัน ทำไมพวกเราไปรังเกียจวัดกันหรือ คนที่คิดได้เช่นนี้เหมือนคนที่ไม่เห็นค่าของพระพุทธศาสนา ตนคิดว่าคนที่คิดได้เช่นนี้คงไม่ใช่คนพุทธด้วยซ้ำเพราะรังเกียจวัด

** เจ้าอาวาสวัดจันทร์ประดิษฐ์ฯ แย้มควรกลับใช้วัดนำหน้า
พระครูปลัดไชยวุฒิ อาภานนฺโท เจ้าอาวาสวัดจันทร์ประดิษฐาราม เขตภาษีเจริญ กล่าวว่า กรณีโรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคมนั้น ได้เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนสตรีวัดจันทร์ประดิษฐาราม มาเป็นโรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ดังนั้น เมื่อ มส.มีมติต่อเรื่องก็ต้องเชิญผู้บริหารโรงเรียน และผู้เกี่ยวข้อง ทั้งหมดมาประชุมหารือรับฟังความเห็นและการปฏิบัติตาม มติ มส. ซึ่งในเบื้องต้นส่วนใหญ่ก็มองว่าควรกลับมาใช้ชื่อ ร.ร.วัดจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม ทั้งนี้ คาดว่า ภายใน 2-3 วัน น่าจะได้ความชัดเจนเรื่องนี้

พระครูสิทธิชัยวัฒน์ (เลิศรบ) เจ้าอาวาสวัดชัยฉิมพลี ภาษีเจริญ กล่าวว่า เห็นด้วยกับมติ มส.แต่ต้องรอหนังสือความชัดเจนจาก มส.ก่อนว่าจะให้ทางวัดและโรงเรียนปฏิบัติอย่างไรบ้าง ในส่วนของวัดชัยฉิมพลี มี ร.ร.วัดชัยฉิมพลี (ระดับประถมฯา) และ ร.ร.ไชยฉิมพลีวิทยาคม (ระดับมัธยมฯ) ซึ่งใช้พื้นที่วัดตั้งโรงเรียน สำหรับ ร.ร.วัดชัยฉิมพลี คงไม่มีปัญหาอะไร จะมีปัญหาก็คงเป็น ร.ร.ไชยฉิมพลีวิทยาคม ดังนั้น เร็วๆ นี้ จะต้องเร่งประชุมหารือกับผู้บริหารโรงเรียนว่าจะยอมเปลี่ยนชื่อมาเป็น ร.ร.วัดไชยฉิมพลีวิทยาคมหรือไม่ อย่างไรก็ตามหาก มส.แจ้งความชัดเจนเกี่ยวกับมติดังกล่าวมา ก็จะเร่งดำเนินการทันที

** วอน มส.จัดการร.ร.เมินใช้ชื่อวัด-ขอเปลี่ยนชื่อ จะดีกว่า
นายนพดล โกสุม ผู้อำนวยการ ร.ร.จันทรประดิษฐารามวิทยาคม กล่าวว่า ตนไม่ติดใจกับมติดังกล่าว ทั้งนี้โรงเรียนก็ใช้ชื่อวัดมาตั้งชื่อโรงเรียนอยู่แล้ว แต่การจะให้ไปใส่คำว่าวัดหน้าชื่ออีกจะเป็นการซ้ำซ้อนกับ ร.ร.วัดจันทรประดิษฐาราม ซึ่งเป็นระดับประถมฯ อย่างไรก็ตามคงต้องรอรายละเอียดในส่วนหลักเกณฑ์ต่างๆ จากทาง สพฐ. และ มส. ที่ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ตนเห็นว่า มส.ควรไปดำเนินการกับโรงเรียนที่จะขอเปลี่ยนชื่อจากชื่อเดิมที่ใช้คำว่าวัดนำหน้า หรือขอเปลี่ยนจากชื่อวัดที่ใช้เดิมไปเป็นชื่ออื่นมากกว่า เพราะโรงเรียนทุกแห่งก็อยู่ดีๆ อยู่แล้ว อีกทั้งโรงเรียนที่อยู่กับวัดส่วนใหญ่ก็ได้รับความเห็นชอบจากวัดอยู่แล้ว บางแห่งพระเป็นผู้ตั้งชื่อให้ด้วยซ้ำ

นายนพดล กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่ว่าโรงเรียนไม่จ่ายค่าเช่าพื้นที่วัดนั้นความจริงแล้วหากเป็นโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ไม่น่าจะมี เพราะมีการจัดสรรงบให้อยู่แล้ว อาจเป็นโรงเรียนประถมฯ ขนาดเล็กมากกว่า ที่มีปัญหา ทั้งนี้ สพฐ. เองก็ต้องจัดงบให้เพียงพอ เพราะอย่างทางโรงเรียนเองได้ตั้งงบขอไปทุกปี ปีละ 46,000 บาท ซึ่งจะจ่ายไปยังกรมการศาสนา(ศน.) แล้วทาง ศน.ก็จะโอนเงินให้แก่วัดเอง

** ร.ร.ไตรมิตรฯ ยันไม่เคยตัด "วัด" ออก
น.ส.สุคนธา อรุณภู่ ผู้อำนวยการ ร.ร.ไตรมิตรวิทยาลัย กล่าวว่า ต้องรอนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก่อนว่าจะกำหนดแนวปฏิบัติออกมาอย่างไร ซึ่งในส่วนของทางโรงเรียนนั้นไม่เคยใช้คำว่าวัดนำหน้าแล้วมาตัดออกภายหลังตามที่เป็นข่าว เพราะเดิมโรงเรียนจะใช้ชื่อว่า ร.ร.วัดสามจีน เป็นชื่อแรกก่อนจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น ร.ร.ไตรมิตรวิทยาลัย ซึ่งโรงเรียนก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางวัดมาตลอดซึ่งทางวัดก็ให้ความช่วยเหลือโรงเรียนมาตลอดเช่นกัน

พ.อ.ประสิทธิ์ มีแต้ม นายกสมาคมผู้ปกครอง ร.ร.เทพศิรินทร์ กล่าวว่า ความจริงแล้ว ร.ร.เทพศิรินทร์ได้เปลี่ยนชื่อมาจากเดิมมีคำว่าวัดนำหน้าและตัดคำว่าวัดออกไป จากนั้นก็ใส่วัดนำหน้าชื่อเข้าไปอีก แต่สุดท้ายก็ตัดคำว่าวัดออกและใช้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตนคิดว่าการที่จะมีชื่อวัดนำหน้าโรงเรียนหรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญแต่อยากจะเสนอให้โรงเรียนได้กลับไปใช้ชื่อเดิมที่ก่อตั้งในครั้งแรกมากกว่า

"การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่นั้นคงไม่เกิดความสับสนกับผู้ปกครองและนักเรียนปัจจุบัน แต่จะทำให้ศิษย์เก่าสับสนมากกว่า ส่วนกรณีที่เกรงว่าการใช้คำว่าวัดนำหน้าชื่อแล้วจะมีผลต่อคุณภาพโรงเรียนนั้นไม่ใช่เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับทางผู้บริหารและอาจารย์ในโรงเรียน" นายกสมาคมผู้ปกครองฯ กล่าว

นายชาญณรงค์ แก้วเล็ก ผู้อำนวยการ ร.ร.วัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวว่า การที่ มส.มีมติออกมาเช่นนี้ ตนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง โดยขณะนี้ ร.ร.วัดบวรนิเวศวิหาร ไม่มีความคิดที่จะตัดคำว่า “วัด” ออกจากชื่อโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้มีรากฐานการก่อตั้งมาจากวัดมากว่า 118 ปี ดังนั้น วัดจึงมีคุณูปการต่อโรงเรียน ทำให้มีโรงเรียนจนถึงทุกวันนี้ รวมทั้งในสมัยก่อนวัดกับโรงเรียนแทบจะแยกกันไม่ออก เพราะวัดเป็นเหมือนโรงเรียนที่บ่มเพาะความรู้ให้แก่ประชาชน ตนจึงไม่เห็นด้วยที่โรงเรียนวัด จะตัดคำว่าวัด ออกจากชื่อโรงเรียน และอยากให้คงเอาไว้ว่า วัดและโรงเรียนเป็นของคู่กับสังคมไทย อีกทั้งวัด พระสงฆ์ คือ รากฐานการศึกษาของประเทศชาติ ส่วนกรณีที่ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จะมีการตรวจสอบโรงเรียนที่มีการเช่าที่วัดนั้น ในส่วนของ ร.ร.วัดบวรฯ มีการทำสัญญาเช่า ตามระเบียบที่ ศธ. กำหนด ซึ่งตนเห็นว่า โรงเรียนวัดแต่ละแห่งต้องดำเนินการตามที่ ศธ.กำหนด

** มส. หวั่นร.ร.มั่วนิ่มฮุบที่วัด
ด้านนายอำนาจ บัวศิริ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (สำนักงาน พศ.) กล่าวว่า ปัญหาที่พบว่ามีผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งนำที่ดินของวัดไปออกเป็นโฉนด เพื่อครอบครองนั้น ประเด็นได้เกิดขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะในอดีตที่ผ่าน แต่ในปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ราย ทั้งนี้เนื่องจากในอดีตการตั้งโรงเรียนเรียนในวัด ทางวัดยินยอมให้ใช้ที่ดินในการสร้าง แต่โรงเรียนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าจะได้ครอบครองที่ดินด้วย บวกกับหลักฐานเอกสารสิทธิ์ของวัดหลายแห่งไม่ชัดเจนทำให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น โดยมีผู้บริหารโรงเรียนนำที่ดินไปออกโฉนดเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งทางวัดก็ไม่ได้มีการตรวจสอบ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมาย
** สั่งเร่งเช็ค ร.ร.ตัดชื่อวัด - มั่วที่สงฆ์
นายอำนาจ กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวมองว่าการจะทวงคืนที่ดินวัดนั้น ต้องยอมรับว่า ยากและคงต้องใช้เวลารวบรวมหลักฐาน เพราะหากเจ้าอาวาสหรือว่าพระผู้ใหญ่ที่มีหลักฐานเอกสารสิทธิได้มรณะไปแล้ว รวมทั้งส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะมีการนำไปออกโฉนด ดังนั้น เมื่อเอกสารสิทธิได้สูญหายไปแล้วก็จะยิ่งทำให้เรื่องดังกล่าวยากมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามตนได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือส่งไปยังเจ้าคณะจังหวัด และวัดที่มีโรงเรียนตั้งอยู่ทั่วประเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนา (พศจ.) ในแต่ละจังหวัด ให้ช่วยสำรวจ 2 ประเด็น คือ 1.โรงเรียนที่ตัดคำว่าวัดออกมีกี่แห่ง 2.เรื่องปัญหาที่ดินวัดทั้งเรื่องการทำสัญญาเช่าที่ดินธรณีสงฆ์ ปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์และการจ่ายค่าเช่าที่ดิน

“ที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องการฮุบที่ดินวัดไม่ค่อยมีใครสนใจ ทำให้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ช่วงนี้ที่ มส.มีมติหากตัดชื่อวัดออกจากชื่อโรงเรียน เพราะจะได้ใช้จังหวะนี้ในการสำรวจปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินวัดด้วย ซึ่งมองว่าหากวัดใดมีหลักฐานหรือว่าข้อมูลชัดเจนว่ามีการนำที่ดินวัดไปออกเอกสารสิทธิ ก็จะต้องทวงคืน โดยผมจะให้ พศจ. เป็นผู้รวบรวมข้อมูลและช่วยแนะนำขั้นตอนการขอทวงคืนที่ดินวัด อย่างไรก็ตาม การทวงคืนที่ดินไม่ใช่การให้โรงเรียนย้ายออกไป แต่เป็นการโอนเอกสารสิทธิกับมาเป็นของวัดและให้ทำสัญญาเช่าถูกต้องตามระเบียบ” ผอ.มส.กล่าว

** สพฐ.ยันฮุบที่วัดทำไม่ได้ - จัดงบจ่ายค่าเช่า 70ล./ปี
ขณะที่ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผย
ว่า ในส่วนที่มีการระบุว่าโรงเรียนที่ใช้ที่ดินวัดบางส่วนไม่ได้จ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่วัดหรือบางโรงเรียนต้องการจะนำที่ดินของวัดไปออกโฉนดเป็นที่ของโรงเรียนนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ยังไม่เคยทราบเรื่องนี้ และไม่เคยมีการแจ้งหรือร้องเรียนเข้ามาเพราะโดยปกติแล้ว สพฐ. ได้จัดตั้งงบประมาณเพื่อจ่ายค่าที่วัดให้กับทางโรงเรียนอยู่แล้วปีละประมาณ 70 กว่าล้านบาททั่วประเทศ ซึ่งทางโรงเรียนไม่ต้องหาเงินไปจ่ายเอง ส่วนที่ระบุว่าโรงเรียนจะนำที่ดินของวัดไปออกโฉนดนั้นโรงเรียนไม่สามารถออกโฉนดได้อยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น