xs
xsm
sm
md
lg

‘แผ่นดินไทย’ คำที่รัฐไทยสะกดไม่ถูกพูดไม่เป็น!??

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ทบทวนเรื่องราวความขัดแย้งในแนวทางแก้ปัญหาไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ดูแล้ว หัวใจน่าจะรวมศูนย์อยู่ที่วาทกรรมที่รัฐบาลไทย หรือจะพูดให้กว้างกว่านั้นก็คือรัฐไทย ใช้เรียกขานแผ่นดินไทยบริเวณรายรอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตรโดยแท้

โดยไปเรียกว่า “พื้นที่ทับซ้อน”!

หรือในบางที่บางทางเรียกว่า “พื้นที่อ้างสิทธิ”!!

ทั้งๆ ที่นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเอง ไม่ว่าจะพูดกี่ครั้งกี่หน ท่านก็บอกว่านั่นเป็นแผ่นดินไทย เพราะว่าท่านยึดถือว่าเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาคือสันปันน้ำตามนัยแห่งอนุสัญญา 1904 และสนธิสัญญา 1907 โดยไม่ยอมรับแผนที่ 1 : 200,000 ระวางดงรัก และสำหรับท่านแล้วเอ็มโอยู 2543 ข้อ 1 (ค) ไม่ได้หมายถึงแผนที่ระวางดงรัก และสารัตถะของเอ็มโอยู 2543 ก็แค่จัดทำหลักเขตแดนใหม่ ไม่ใช่ปักปันหลักเขตแดนใหม่ เส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาบริเวณปราสาทพระวิหารจึงเป็นเส้นหน้าผา จะมีเว้นก็แต่เฉพาะบริเวณพื้นที่ตัวปราสาทที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มีมติคณะรัฐมนตรีล้อมรั้วลวดหนามให้เป็นเขตปฏิบัติการส่งมอบอำนาจอธิปไตยให้กัมพูชาตามคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศปี 2505 เท่านั้น

แต่การพูดของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับการปฏิบัติจริงของรัฐไทยมันเหลื่อมกัน

ผมเคยหงุดหงิดและสงสัยว่าเหตุไฉนรัฐไทยไม่กล้าเรียกขานพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้นให้มันตรงกับความเป็นจริงว่า...

“แผ่นดินไทย”

โดยละทิ้งคำว่า “พื้นที่ทับซ้อน” และ/หรือ “พื้นที่อ้างสิทธิ” ออกไปจากพจนานุกรมของคนไทยที่จะนำไปใช้เรียกขานพื้นที่บริเวณนั้นให้เกิดความสับสน

รัฐกัมพูชาเขาเรียกขานอย่างไม่กระดากปากว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นแผ่นดินกัมพูชา

รัฐกัมพูชาเขาชี้หน้ารัฐไทยว่าส่งกำลังทหารเข้าไปรุกรานเขาตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 และเขาประกาศว่าสัมพันธภาพระหว่างรัฐกัมพูชากับรัฐไทยดีขึ้นเมื่อไทยถอนทหารออกมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 เวลา 10.30 น.

รัฐไทยเมื่อยังสะกดและพูดคำว่าแผ่นดินไทยไม่เป็นเสียแล้ว จึงไม่สามารถสะกดและพูดความจริงในประโยคสำคัญให้โลกรับรู้...

“กัมพูชารุกรานแผ่นดินไทย”

รัฐไทยใกล้ๆ จะสะกดและพูดคำคำนี้เป็นก็ในคราวที่กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์ฉบับวันที่ 31 มกราคม 2554 ที่ความในข้อ 3 ระบุว่าแผ่นดินบริเวณที่ตั้งวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระเป็นแผ่นดินไทย กัมพูชาจะต้องรื้อถอนทั้งวัด และธงชาติกัมพูชาออกไป น่าเสียดายที่ความในข้อ 4 แถลงการณ์ฉบับเดียวกันบอกว่าจะใช้วิธีการเจรจาตามกรอบเจบีซีและเอ็มโอยู 2543 เท่านั้น โดยไม่ได้บอกว่าถ้าเจรจาไม่ได้ผลแล้วจะทำอย่างไรต่อไป

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ในการชี้แจงกับภาคประชาชนที่อาคารกีฬาเวศน์ ดินแดง นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศเสียงดังฟังชัดเรียกเสียงปรบมือกึกก้องว่ากรณีชุมชน วัด และถนนที่กัมพูชารุกล้ำเข้ามาในบริเวณ 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้นจะใช้ทั้งมาตรการทางการทูตและการทหาร

แต่ไม่ต้องไปตั้งคำถามเรื่องมาตรการทางทหารหรอก เพราะแค่เฉพาะความในข้อ 3 ของแถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศฉบับ 31 มกราคม 2554 นี้ รัฐไทยก็แสดงความไม่เป็นเอกภาพออกมาชัดเจน เมื่อวันรุ่งขึ้น รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาให้สัมภาษณ์สงสัยในความถูกต้องของกระทรวงการต่างประเทศ โดยบอกแทนกัมพูชาว่าวัดแก้วฯ สร้างในปี 2541 ก่อนมีเอ็มโอยู 2543 ดังนั้นตามข้อกำหนดในข้อ 5 ของเอ็มโอยูเจ้าปัญหาฉบับนี้จะไปเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไม่ได้

จากนั้นมา หลังจากกัมพูชาแถลงการณ์ตอบโต้มาทุกเม็ด 4 ประการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 รัฐไทยก็ไม่เคยตอบโต้เดินหน้ายืนยันซ้ำอีกเลย ไม่ว่าจะโดยแถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศ หรือในการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554

ควรเข้าใจว่าการปะทะกัน 4 ครั้งในช่วงวันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ 2554 นั้น ทหารกัมพูชาตั้งมั่นอยู่บนพื้นที่ส่วนที่เป็น 4.6 ตารางกิโลเมตร ทั้งที่วัดแก้วฯ และภูมะเขือ ผลกระทบที่ฝ่ายไทยได้รับบริเวณบ้านภูมิซรอลนั้นเลยพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรลึกเข้ามาในแผ่นดินไทยที่ไม่มีใครมาอ้างสิทธิแล้วด้วยซ้ำ

เมื่อเราสะกดและพูดคำว่า “แผ่นดินไทย” และ “กัมพูชารุกรานแผ่นดินไทย” ไม่เป็น มันจึงจะมีผลเมื่ออินโดนีเซียส่งคณะสังเกตการณ์เข้ามาอยู่ 2 ฝั่งไทย-กัมพูชา ตรงฝั่งไทยนั้นไม่มีปัญหา เขามาอยู่บนแผ่นดินไทยแน่ แต่ปัญหาอยู่ตรงฝั่งกัมพูชาที่ผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะอย่างไรเขาก็จะอยู่บนแผ่นดินไทยอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นวัดแก้วฯ หรือภูมะเขือ

แล้วจะให้เขาเข้าใจอย่างไร?

เรื่องนี้ ในการมาปฐกถาของรัฐมนตรีกษิต ภิรมย์ที่วุฒิสภาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 ผมถาม 2 คำถามสำคัญ คำถามหนึ่งคือขอให้เรียกแผ่นดินไทยบริเวณ 4.6 ตารางกิโลเมตรว่าแผ่นดินไทยได้ไหม ท่านตอบว่าอย่างไรทราบไหมครับ

“ผมสามารถประกาศได้ว่าเป็นพื้นที่ของไทย แต่เราไม่ทำ เพราะเกรงว่าต่อไปจะเจอคำถามที่ 2 ให้ผมและพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำทหาร นำรถถังขึ้นไป รับรองจะทำให้ทั้ง 2 ประเทศรบกันอีก”

ผมตั้งใจถามประเด็นนี้ให้ปรากฏเป็นข่าวเปิดเผย เพราะก่อนหน้านั้น 3 วัน ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ที่นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมาตอบกระทู้ถามปัญหาไทย-กัมพูชาของผม เป็นการประชุมลับ ไม่มีข่าวรายงานในรายละเอียด วันนั้นผมก็ได้ขอนายกฯ ว่าในท่ามกลางความคิดเห็นและข้อมูลที่ยังแตกต่างกันอยู่ มีอยู่ 2 เรื่องที่เราเห็นตรงกัน ต่อไปขอให้ท่านกำกับให้รัฐไทยพูดเรื่องนี้ให้ตรงกันได้ไหม

เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องนี้แหละครับ มันเป็นเรื่องที่ติดคาใจผมมาตลอดตั้งแต่ปี 2551 ก็ในเมื่อเป็นแผ่นดินไทยแท้ๆ แต่ปล่อยให้กัมพูชาเข้ามาครอบครองบางส่วนแล้วเรียกหน้าตาเฉยว่าแผ่นดินกัมพูชาโดยเรากลับมาเรียกเสียเองว่าพื้นที่ทับซ้อนหรือพื้นที่อ้างสิทธิ อย่างนี้มันแพ้กันตั้งแต่ในมุ้งแล้ว

แต่ในเมื่อเป็นการประชุมลับ ผมจึงไม่อาจบอกเล่าได้ว่าท่านนายกฯ ตอบผมว่าอย่างไร

ท่านผู้อ่านต้องเดาเอง โดยเทียบเคียงจากการที่รัฐมนตรีต่างประเทศร่วมรัฐบาลที่นั่งเคียงข้างนายกฯ วันนั้นด้วย มาตอบผมเปิดเผยในอีก 3 วันถัดมาอย่างที่เล่ามาข้างต้น

เราทุกคนรักสันติและไม่ปรารถนาการใช้กำลังไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันหรอก

แต่ผมเชื่อว่าสันติและการไม่ใช้กำลังของทุกประเทศในโลกนี้มีขอบเขตด้วยกันทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องมีกองทัพไม่ต้องมีงบประมาณมหาศาลด้านการป้องกันประเทศหรอก

คำถามใหญ่ๆ ที่รัฐไทยต้องตอบในวันนี้คือขอบเขตของสันติและการไม่ใช้กำลังของราชอาณาจักรไทยอยู่ที่ไหน?

ขอบเขตนี้อยู่เลยสภาวะ “การสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนในทางปฏิบัติชั่วนิรันดร์” ออกไปหรือไม่??
กำลังโหลดความคิดเห็น