“พาญาติพี่น้องที่เป็นคนเฒ่าคนแก่และเด็กๆ ออกจากพื้นที่ไปก่อนก็ดี เพราะไม่รู้ว่าการคุยกันฝ่ายเขมรจะพอใจไหม ถ้าเขาไม่ได้ดังใจสถานการณ์ก็คงจะยังเสี่ยงอยู่” เสียงทหารหนุ่มจากหน่วยลาดตระเวณบนภูมะเขือ โทรมาบอกเพื่อนที่หมู่บ้านให้รู้ถึงสถานการณ์สู้รบสั้นๆ ก่อนที่จะรีบปิดเครื่องโทรศัพท์
เสียงเตือนจากภูมะเขือเกิดขึ้นในคืนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ไทย-กัมพูชาไปประชุมกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่สหรัฐอเมริกา แล้วการคาดการณ์ของเขาก็ถูกต้องเพราะค่ำคืนนับจากนั้นฝ่ายกัมพูชาได้ยิงถล่มชุดใหญ่พยายามเจาะแนวรั้วที่ฐานภูมะเขือจนมีทหารไทยบาดเจ็บหลายนาย
การยิงปะทะบนภูดังขึ้นทุกคืนหลังจากเกิดเหตุการณ์ยิงถล่มกันด้วยปืนใหญ่เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านริมชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านภูมิซรอล ซึ่งอยู่ในวิถีกระสุนปืนใหญ่หวาดผวาไม่เลิก จนถึงวันนี้ ชาวบ้านในหมู่บ้านตลอดแนวชายแดนบางส่วนยังเข้ามาพักอาศัยอยู่กับญาติที่อยู่ในตัวอำเภอกันทรลักษ์ บางคนลูกหลานรับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ
สถานการณ์ที่ยังอึมครึม บางคนเลือกที่จะอยู่ในหมู่บ้าน แต่บางคนก็เลือกที่จะออกมาอยู่ข้างนอกโดยยึดหลัก “ปลอดภัยไว้ก่อน”
“ยังไม่ได้กลับบ้านหรอก ยังยิงกันอยู่ทุกคืน แต่เมื่อคืนสองคืนนี้เห็นเงียบไป แต่เขาว่าเดี๋ยวคงจะยิงกันอีก ไม่รู้เมื่อไหร่จะสงบเสียที” คุณยายสุข วัย 60 กว่าปี จากหมู่บ้านหนองอุดม อ.กันทรลักษ์ เล่าถึงข่าวลือที่เกิดขึ้นทุกวัน แถมยังถามคำถามที่ไม่รู้ว่าจะมีใครให้คำตอบได้ คุณยายและหลานๆ จึงยังพักอาศัยอยู่บ้านญาติที่ตัวอำเภอกันทรลักษ์โดยไม่มีกำหนดกลับ
ความไม่มั่นใจ ไม่สบายใจของชาวบ้านตามแนวชายแดนที่ยังคงมีอยู่ ทำให้นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ลงพื้นที่ไปกินนอนที่หมู่บ้านไล่จากบ้านภูมิซรอล จนล่าสุดถึงบ้านโดนเอาว์ ต.รุง อ.กันทรลักษ์ เมื่อคืน 16 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความอุ่นใจให้ชาวบ้านว่ามีความปลอดภัยไม่น่าห่วง
ครอบครัวของ นายบุญเรือง บัวขจร ชาวบ้านหนองอุดม ต.รุง เป็นครอบครัวหนึ่งที่เลือกที่จะพักอาศัยอยู่ที่หมู่บ้าน เช่นเดียวกันกับญาติห่างๆ ที่อยู่บ้านโดนเอาว์ ต.รุง อ.กันทรลักษ์ ที่กลับมาใช้ชีวิตตามปกติในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
นายบุญเรือง บอกว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาก็อยู่ เริ่มไปไร่นาทำมาหากินปกติ ชาวบ้านเราต้องอยู่เพื่อเป็นเพื่อนกับทหาร พวกทหารบนภูก็ลูกหลานเราทั้งนั้น ถ้าเราหนีไปจากหมู่บ้าน เดี๋ยวพวกทหารก็จะขาดกำลังใจ แต่ชาวบ้านขอหลุมหลบภัยที่แข็งแรงเอาไว้หลบลูกปืนใหญ่ด้วย เพราะที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ใช้ไม่ได้
เสียงจากชายแดนเวลานี้ จึงได้แต่เฝ้ารอให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
แต่ความหวังนั้นคงยังอีกไกล เพราะท่าทีของสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ยังแข็งกร้าวและเดินหมากใช้เวทีอาเซียนที่จะมีการประชุมในวันที่ 22 ก.พ. นี้ บีบไทยลงนามหยุดยิงถาวร ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไทยไม่อาจยอมรับได้เพราะการยิงโต้ตอบเพื่อรักษาชีวิตและรักษาเขตแดนที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ ยังต้องมีอยู่จนกว่าข้อพิพาทจะยุติ