xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรแห่เข้าคิวปลูกยาง 8 แสนไร่ บุรีรัมย์/ศรีสะเกษทะลุหมื่น-พะเยานอนรอคิวข้ามคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันแรกของเปิดให้เกษตรกร ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ 800,000 ไร่ เกิดความวุ่นวายทั่วประเทศ  เพราะเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมากและแห่มาขอลงทะเบียนตั้งแต่เช้ามืด
ศูนย์ข่าวภูมิภาค - ราคายางพุ่งทำเกษตรกรแห่เข้าคิวร่วมโครงการปลูกยาง 8 แสนไร่วันแรก จนวุ่นวายหลายจังหวัดทั้งเหนือ-อีสาน เฉพาะบุรีรัมย์ ยอดสมัครทะลุหมื่น แฉนายทุน-เมียฝรั่ง กว้านที่ดิน “ส.ป.ก.4-01” ราคาพุ่งจาก 2 หมื่นเป็นกว่าแสน ขณะที่ศรีสะเกษเกษตรกรกว่า 5 หมื่นคนแห่สมัคร ส่วนพิด’โลก ต่อแถวกันตั้งแต่ตี 3 -เชียงราย รอคิวกันก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

ช่วงที่ราคายางพาราพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกือบทะลุกิโลกรัมละ 200 บาท ทำให้โครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ 800,000 ไร่ ที่เริ่มเปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการวานนี้(15 ก.พ.54)เป็นวันแรก ได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างล้นหลาม โดยหลายจังหวัดในภาคเหนือ - อีสาน มีคนต่อคิวสมัครกันเป็นจำนวนมากจนเกิดความวุ่นวายขึ้น

ที่จ.บุรีรัมย์ ที่มีโควตาในโครงการนี้ 3 ปี (2554-2556) 30,000 ไร่ ปรากฏว่า วันแรกของการรับสมัครมีเกษตรกรจากทั้ง 23 อำเภอของบุรีรัมย์ มารอคิวที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)อ.เมืองบุรีรัมย์ ตั้งแต่เช้ามืดกว่า 10,000 ราย จนเกิดความวุ่นวายขึ้น หลังจาก สกย.ประเมินว่า จะมีผู้สมัครวันแรกเพียง 1-2 พันรายเท่านั้น ทำให้เตรียมเจ้าหน้าที่ไว้รองรับเพียง 10 คน จนให้บริการไม่ทัน ต้องใช้วิธีแจกบัตรคิวให้เกษตรกรมากรอกเอกสารวันหลัง ลดความแออัดสร้างความไม่พอใจให้กับเกษตรกรเพราะต้องเดินทางมาจากต่างอำเภอ

นายรุธร ณ พัทลุง ผอ.สกย.บุรีรัมย์ บอกว่า เชื่อว่ายอดผู้สมัคร จนถึง 15 มี.ค.2554 ที่เป็นวันสุดท้าย จะมีมากกว่า 20,000 ราย และเกินโควตาแน่นอน ซึ่งสกย.คงต้องเสนอขอโควตาเพิ่ม หรือเรียกประชุมตัวแทนกลุ่มเกษตรกร เพื่อทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับพื้นที่จะได้รับการส่งเสริม จากหลักเกณฑ์คนละ 15ไร่ อาจเกลี่ยลดลงเหลือคนละ 10 ไร่ เพื่อทั่วถึงกัน

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่บุรีรัมย์ พบว่า เกษตรกรบางส่วนมีคุณสมบัติไม่ตรงตามกำหนด เช่น เป็นที่ ภบท. ซึ่งที่ทำกินในที่ป่าสงวน และที่ป่าสาธารณประโยชน์ นอกจากนั้นยังมีเกษตรกรอีกกว่า 30% ที่มีสวนยางเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่มายื่นสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพราะเกษตรกรที่สามารถเข้าร่วมโครงการฯได้ ต้องมีที่ดินเป็นของตัวเองตั้งแต่ 2-15 ไร่ และมีเอกสารสิทธิในที่ดินที่รัฐออกให้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญต้องไม่เคยมีสวนยางพารามาก่อน

ปัจจุบันบุรีรัมย์ มีเกษตรกรปลูกยางพาราแล้วกว่า 180,000 ไร่ สามารถเปิดกรีดได้แล้วกว่า 80,000 ไร่ ในปีที่ผ่านมาได้ผลผลิตน้ำยางส่งจำหน่าย 2,400 ตัน ทำรายได้ให้กับเกษตรกรมากถึงกว่า 2,400 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้เกษตรกรจะหันมาปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15,000 ไร่ เนื่องจากราคารับซื้อยางพาราจูงใจสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีนายทุนและภรรยาชาวต่างชาติ ตระเวนกว้านซื้อที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ตามอำเภอต่างๆในเขตพื้นที่จ.บุรีรัมย์ แล้วเป็นจำนวนมาก จนทำให้ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 มีราคาพุ่งสูงถึงไร่ละหลักแสนบาท จากเดิมไร่ละ 20,000 บาท อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก

ด้านจ.ศรีสะเกษ ที่หอประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชครบ 60 ปี ที่ว่าการอำเภอเมือง จ.ศรีสะเกษ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มี เกษตรกรชาว จ.ศรีสะเกษ จำนวนมากพากันเดินทางมาสมัครเข้าร่วมโครงการฯเนืองแน่น กว่า 50,000 ราย

ขณะที่จ.สุรินทร์และขอนแก่น มีเกษตรกรสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการนับหมื่นคนเช่นเดียวกัน  

ส่วนที่พิษณุโลก ที่มีโควตา 4,000 ไร่ ปรากฏว่า มีเกษตรกรร่วม 1 พันคน มายืนรอคิวเข้าโครงการที่ สกย.พิษณุโลก ตั้งแต่ 03.00 น.วานนี้ ซึ่ง สนง.สกย.เปิดแจกบัตรคิวในเวลา 06.30 น.

นายสุรพล ฝันเชียร ผอ.สกย.พิษณุโลก กล่าวว่า เกษตรกรสนใจมาก เกินคาด ซึ่งแม้พิษณุโลก มีโควตาประมาณ 4 พันไร่ หรือ 400 ราย แต่เกษตรกรที่อยู่อันดับท้ายๆ ก็ยังมีสิทธิ์ สกย.จะส่งรายชื่อไปเพื่อขอรับทุนปีต่อไปได้ เนื่องจากยังสามารถเกลี่ยตัวเลขจากจังหวัดอื่นทางภาคใต้ เช่น จังหวัดภูเก็ต ที่มีโควตาเป็นพันไร่ แต่เชื่อว่า คงไม่มีพื้นที่หรือเกษตรกรเข้าร่วมโครงการครบ

เช่นเดียวกับที่เชียงราย ปรากฏว่า มีเกษตรกรมารอสมัครเข้าร่วมโครงการนี้กันตั้งแต่เช้ามืดเช่นกัน โดยนายวิทยา ชุมวณิชย์ ผู้อำนวยการ สกย.เชียงราย กล่าวว่า เชียงราย ได้โควตา 3 ปี 25,000 ไร่ แบ่งเป็นปีนี้ 6,700 ไร่ 2555-56 ปีละ 9,150 ไร่ การเปิดรับสมัครวันแรกใน 3 อำเภอคือที่ว่าการ อ.แม่จัน -แม่สาย และสำนักงาน สกย.เมืองเชียงราย ทุกแห่งมีคนสมัครล้น แม้เจ้าหน้าที่ตั้งเต็นท์รองรับเอาไว้แห่งละ 2 เต็นท์ เก้าอี้อีก 100 ตัว ก็ไม่พอ

ดังนั้น สกย.ต้องปรับวิธีการด้วยการแจกบัตรคิวสำหรับผู้ที่เดินทางไปถึงก่อน และขยายระยะเวลาสำหรับคนที่ได้รับบัตรคิวแล้วออกไปอีก 1 วัน โดยวันนี้(16 ก.พ.)ผู้ที่ได้รับบัตรคิวแล้ว แต่ยังไม่ได้เดินเรื่อง ก็ให้นำบัตรคิว-เอกสาร มาสมัคร ณ สถานที่เดิมอีก 1 วัน

“เชื่อว่าตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่จะตระเวนไปรับสมัครวันละ 3 อำเภอ จะมีเกษตรกรไปสมัครเป็นจำนวนมากจนล้นโควตาแน่”

นายวิทยา บอกว่า สาเหตุที่มีเกษตรกรสมัครกันมาก เพราะโครงการนี้มีการสนับสนุนปัจจัยการผลิตในช่วง 3 ปีแรกรวมเป็นเงินไร่ละ 3,529 บาท เช่น ปุ๋ย เมล็ดพืชคลุมดิน กล้าพันธุ์ยาง ฯลฯ ส่วนช่วงที่เหลือก่อนกรีดน้ำยางยังได้รับการสนับสนุนด้านการถ่ายทอดความรู้ด้านต่างๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องแบกรับภาระค่ากล้าพันธุ์ยาง ที่แม้ว่าโครงการจะปรับเพดานราคาที่สนับสนุนจาก 18 บาทเป็น 25 บาท/กล้าแล้วก็ตาม แต่ขณะนี้ราคากล้าพันธุ์ได้พุ่งขึ้นไปเกิน 40 บาทแล้ว และมีแนวโน้มที่จะทะลุขึ้นไปถึง 60 บาทด้วยนั้น เกษตรกรจะต้องรับผิดชอบเองด้วย

ขณะที่พะเยา นายธงชัย รับพร ผอ.สกย.พะเยา บอกว่า มีเกษตรกรมารอที่สำนักงานฯตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 14 ก.พ.54 แล้วกว่า 70 คน เพื่อรอ สกย.เปิดรับสมัครในเช้าวันที่ 15 ก.พ.2554 เพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ และตั้งแต่เปิดรับสมัครในเวลา 08.30 น. จนถึงเที่ยงวัน ก็มีคนสมัครแล้วกว่า 1,600 ราย ทั้งมีเกษตรกรทยอยมาสมัครอีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่ามาก เพราะโควตาที่พะเยาได้รับในปีนี้ มีเพียง 3,600 ไร่ หรือ 720 รายเท่านั้น

สำหรับพะเยา ได้รับโควตาทั้งสิ้น ตลอดโครงการฯ 3 ปี อยู่ที่ 13,500 ไร่ แยกเป็น ปี 54 จำนวน 3,600 ไร่ , ปี 55 จำนวน 4,950 ไร่ และปี 56 อีก 4,950 ไร่
กำลังโหลดความคิดเห็น