xs
xsm
sm
md
lg

คลื่นเกษตรกรสุรินทร์แย่งสมัครปลูกยาง-แฉกว้านซื้อที่ดินชายแดนเกลี้ยง - บุกรุกป่าต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกรเมืองช้างกว่า 1 หมื่นคน เบียดเสียดยัดเยียดกันสมัครเข้าโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ วันแรก ที่ สกย. จ.สุรินทร์ ต.สลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์  วันนี้ ( 15 ก.พ.)
สุรินทร์ - คลื่นเกษตรกรเมืองช้างกว่าหมื่นคน เบียดเสียดแย่งสมัครเข้าโครงการปลูกยางพาราในพื้นที่ใหม่ เป็นลมหลายราย แฉหลังราคายางพุ่งสูง กก.ละ 180 บาท นักการเมือง นายทุน ขรก.แห่กว้านซื้อที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ชายแดนไทย-กัมพูชาหมดเกลี้ยงจ้างเกษตรกรปลูกยาง ขณะเกษตรกรในพื้นที่บุกรุกแผ้วถางป่าเพิ่มต่อเนื่อง เพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการฯ รับค่าปัจจัยการผลิตฟรี 3 ปี

ตลอดทั้งวันนี้ (15 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จ.สุรินทร์ ถนนสุรินทร์-สังขะ ต.สลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้มีเกษตรกรชาว จ.สุรินทร์กว่า 1 หมื่นคน พากันเดินทางมาเข้าแถวเบียดเสียดยัดเยียดเพื่อรับบัตรคิวสมัครเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ระยะที่ 3 พ.ศ.2554-2556 วันแรก เป็นจำนวนมาก ถึงขั้นเป็นลมไปหลายราย

เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางสุรินทร์ ต้องได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรบางส่วนที่ได้รับบัตรคิวแล้วให้กลับบ้านไปก่อนแล้วให้มายื่นเอกสารสมัครในวันหลัง ซึ่งได้เปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 15 มี.ค. นี้ เพราะในวันแรกนี้เกษตรกรมาสมัครพร้อมกันจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้บริการได้ทัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ราคากล้ายางพาราซื้อขายโดยทั่วไปในพื้นที่ จ.สุรินทร์ มีราคาสูงมากตั้งแต่ต้นละ 60-80 บาท หากเปรียบเทียบกับราคาต้นกล้ายางพาราปี 2553 ที่ผ่านมา ขายเพียงต้นละ 35-50 บาท เนื่องจากราคายางพาราแผ่น ขณะนี้พุ่งสูงถึง 180.79 บาท ต่อกิโลกรัม จึงทำให้เกษตรกรสนใจพากันหันมาปลูกยางพารากันมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นอกจากนี้ ยังได้เกิดปรากฏการณ์ มีกลุ่มนายทุน นักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ข้าราชการ ออกกวานซื้อที่ดินตามแนวตะเข็บ ชายแดนไทย-กัมพูชา กันเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ทำให้ราคาที่ดินจากปกติที่เกษตรกรในพื้นที่ชื้อขายกัน ไร่ละ 5,000 บาท พุ่งสูงถึง 50,000 บาทต่อไร่

ขณะนี้แทบไม่มีที่ดินที่จะหาซื้อขายได้อีกแล้ว ส่งผลให้เกษตรกรมีการขยายพื้นที่บุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อครอบครองที่ดินผืนใหม่อย่างต่อเนื่อง และมาสมัครเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกยางในที่แห่งใหม่ระยะที่ 3 ของรัฐบาลกันจำนวนมาก เพื่อรับการสงเคราะห์แบบให้เปล่าในรูปของปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ยาง ปุ๋ยบำรุง รายละ 3,529 บาท/ไร่ เป็นระยะเวลา 3 ปี

เกษตรกรชาว จ.สุรินทร์ รายหนึ่งเล่าว่า ขณะนี้ ไม่ใช่เฉพาะ นักการเมือง ข้าราชการในพื้นที่ จ.สุรินทร์ เท่านั้นที่เข้ามากว้านซื้อที่ดิน แต่ยังมีกลุ่มนายทุนผู้ปลูกยางพารา จากภาคใต้ มากวนชื้อที่ดินจากเกษตรกร ใน จ.สุรินทร์ นับหมื่นไร่ เพื่อปลูกยางพาราโดยจ้างแรงงานเกษตรกรในพื้นที่ และยังทำธุรกิจนำกล้ายาพารามาขายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ด้วย

ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลล่าสุด ปี 2553 จ.สุรินทร์ มีพื้นที่ปลูกยางพารา จำนวน 90,686 ไร่ สามารถกรีดน้ำยางได้แล้วจำนวนกว่า 32,578 ไร่

อนึ่ง โครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ระยะที่ 3 พ.ศ.2554-2556 ดังกล่าว เป็นการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 และวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ที่ได้เห็นชอบในโครงการดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางมาตรา 21 ทวิ ส่งเสริมการปลูกยางพาราพันธุ์ดีในเขตพื้นที่เหมาะสม รวมทั้งสิ้น 800,000 ไร่ แบ่งออกเป็น ภาคเหนือ 150,000 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 500,000 ไร่ ภาคกลางและภาคตะวันออก 100,000 ไร่ และภาคใต้ 50,000 ไร่

กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จัดทำประกาศหลักเกณฑ์การให้การสงเคราะห์ เพื่อรับสมัครและคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการตามเงื่อนไขต่างๆที่กำหนด เช่น ต้องมีที่ดินเป็นของตนเองไม่น้อยกว่า 2 ไร่ และไม่เคยมีสวนยางมาก่อน ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือปลูกยางพันธุ์ดีรายละ 2-15 ไร่ โดยรัฐจะช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grant) ในรูปปัจจัยการผลิต ได้แก่ พันธุ์ยาง ปุ๋ย และเมล็ดพืชคลุมดินใน 3 ปีแรก เป็นเงิน 3,529 บาทต่อไร่ แบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ตามหลักเกณฑ์ของ สกย. ส่วนที่เหลือตั้งแต่ปีที่ 4-7 นั้น เกษตรกรจะต้องใช้ทุนของตนเอง

ระหว่างรอเปิดกรีดน้ำยางพารา รัฐจะสนับสนุนวงเงินกู้ โดยขอความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้เกษตรกรมีความสามารถทางการเงินที่จะดูแลรักษาสวนยางให้มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดความรู้การทำสวนยางอย่างถูกวิธีตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตร เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ฯลฯ

สำหรับเงินงบประมาณแบ่งออกเป็น ปี 2554 จำนวน 580 ล้านบาท พื้นที่ 200,000 ไร่ ปี 2555 จำนวน 979 ล้านบาท พื้นที่ 300,000 ไร่ และปี 2556 จำนวน 1,179 ล้านบาท พื้นที่ 300,000 ไร่ จากนั้นจะเป็นการส่งเสริมต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ.2557-2562 คาดว่าจะมีเกษตรกรทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการประมาณ 160,000 ราย มีรายได้คิดเป็นมูลค่า 224,000 บาทต่อรายต่อปี รวมถึงเกิดการสร้างงานในท้องถิ่น มีแรงงานภาคเกษตรไม่น้อยกว่า 100,000 คน ช่วยลดการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตร และผลผลิตยางธรรมชาติของประเทศเพิ่มขึ้น นับจากปี พ.ศ.2562 เป็นต้นไป

ส่วนภาครัฐเองก็จะมีรายได้จากการเก็บเงินจากผู้ส่งออกยางนอกราชอาณาจักร หรือเงิน Cess เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 1,112 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับเป็นทุนสงเคราะห์ชาวสวนยางต่อไป













กำลังโหลดความคิดเห็น