พิษณุโลก - เกษตรกรชาวสวนยางสองแคว 1,000 ราย แห่ขอบัตรคิวรับทุนปลูกยางตาม ม.21 ทวิ ตั้งแต่ตี 3 ผอ.สกย.ระบุ เกษตรกรเริ่มทำสัญญาซื้อขายพร้อมจ่ายเงินมัดจำต้นกล้ายางถุงละ 40 บาท หวั่นฤดูฝน ไม่มีกล้ายางให้ปลูก
เช้ามืดวันนี้ (15 ก.พ.) ที่หน้าสำนักงาน สกย.พิษณุโลก มีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการปลูกยางพารา 8 แสนไร่ ร่วม 1 พันคน ทยอยเดินทางออกจากบ้านมายัง สกย.พิษณุโลก เพื่อยื่นขอรับทุนสงเคราะห์ปลูกยางพารา ตามโครงการปลูกยางพาราที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 (2554-3556) ตาม พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง มาตรา 21 ทวิ บนที่ดินมีเอกสารสิทธิที่ดิน (ส.ป.ก.) เพื่อรับปัจจัยการผลิต 3.5 พันบาทต่อไร่
ทั้งนี้ เป้าหมายปลูกยางพาราในภาคเหนือปี 54-56 จำนวน 150,000 ไร่ จาก 800,000 ไร่ทั่วประเทศ สำนักงาน สกย.พิษณุโลก รับผิดชอบคัดสรรเกษตรกรผู้มีสิทธิ์รับปัจจัยการผลิตของจังหวัดพิษณุโลกจำนวน 4,000 ไร่ จังหวัดเพชรบูรณ์ 2,800 ไร่ และจังหวัดพิจิตรจำนวน 500 ไร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิษณุโลกซึ่งมีโควตาจำนวน 4,000 ไร่ แต่มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก โดยเดินทางมารอคิวตั้งแต่ตี 3 ซึ่งสำนักงาน สกย.เปิดแจกบัตรคิวเมื่อเวลา 6.30 น.ของวันเดียวกัน โดยแจกบัตรคิวไปแล้วจำนวน 4 รอบ รอบละประมาณ 350 คน เพื่อนำเอกสารมายื่นสมัครทีละคน ยึดหลักใครมาก่อนได้ก่อน
นายสุรพล ฝันเชียร ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ตามโครงการปลูกยางพาราที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 (2554-3556) เกษตรกรสนใจจำนวนมาก เกินความคาดหมาย แม้พิษณุโลก มีโควตาประมาณ 4 พันไร่ หรือ 400 รายเท่านั้น แต่เกษตรกรที่อยู่อันดับท้ายๆ ก็ยังมีสิทธิ สกย.จะส่งรายชื่อไปเพื่อขอรับทุนปีต่อไปได้ เนื่องจากยังสามารถเกลี่ยตัวเลขจากจังหวัดอื่นทางภาคใต้ เช่น จังหวัดภูเก็ต ก็มีโควตาเป็นพันไร่ แต่เชื่อว่าคงไม่สามารถหาพื้นที่หรือเกษตรกรเข้าร่วมโครงการได้
ส่วนปัญหายางชำถุงหรือกล้ายางพาราแพงทะลุเกิน 40 บาทต่อต้นนั้น แม้รัฐบาลปรับตัวเลขกล้ายางจาก 18 เป็น 25 บาท แต่ก็เชื่อว่าเกษตรกรจะต้องลงทุนเพิ่มเอง เพราะมีความตั้งใจปลูกอยู่แล้ว ณ เวลานี้ เกษตรกรที่ร่วมโครงการหลายรายได้เซ็นสัญญาและจ่ายเงินมัดจำเพื่อซื้อต้นกล้ายางในระดับราคา 40 บาท เพราะเกรงว่าพอถึงเวลาฤดูฝนไม่มีกล้ายางให้ปลูก