ผู้อำนวยการ สกย.หนุนเกษตรกร 1.2 ล้านครัวเรือน ทำสวนยาง แย้มโครงการเพาะปลูกใหม่ เฟส 3 จัดสรรที่ดิน 8 แสนไร่ เพื่อสนับสนุนให้เป็นอาชีพที่มั่นคง เปิดลงทะเบียน 15 ก.พ.-15 มี.ค.นี้ หลังคาดการณ์แนวโน้มปี 63 ความต้องการตลาดโลกมีสูงถึง 13.8 ล้านตัน ขณะที่อุปทานขาดอยู่ถึง 10%
นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวว่า ปัจจุบันยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพการทำสวนยาง 1.2 ล้านครัวเรือน กระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2563 ความต้องการใช้ยางธรรมชาติของโลกจะมีสูงถึง 13.8 ล้านตัน และการผลิตของโลกจะสามารถผลิตได้ 12.4 ล้านตัน
ล่าสุด ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยาง 17.41 ล้านไร่ ผลผลิตยางพารา 3 ล้านตันต่อปี มีทั้งส่งออกไปต่างประเทศในรูปวัตถุดิบ และใช้เพื่อการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมภายในประเทศ ดังนั้น ยางพาราจึงเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่มีมูลค่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศสูงถึง 402,582 ล้านบาท
ผู้อำนวยการ สกย.กล่าวเพิ่มเติมว่า สกย.มีสวนสงเคราะห์อยู่ในความดูแลจำนวนกว่า 3 ล้านไร่ ในโครงการสงเคราะห์ปลูกแทน และโครงการยกระดับรายได้และความมั่นคงให้กับเกษตรกรในแหล่งปลูกยางใหม่ รวมทั้งการดำเนินงานอย่างครบวงจร คือ การจัดตลาดประมูลยางพารา เพื่อให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรอง ได้ราคายุติธรรม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
ส่วนโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ระยะที่ 3 สกย.ให้ดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรและผู้สนใจประกอบอาชีพการทำสวนยาง ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสวนยางมาก่อน จะได้รับการสนับสนุนการปลูกสร้างสวนยางแบบให้เปล่า ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เป็นของตนเอง ตั้งแต่ 2-15 ไร่ มีเป้าหมายพื้นที่ทั่วประเทศ 8 แสนไร่ เพื่อสร้างงานและอาชีพให้แก่เกษตรกรอย่างครบวงจร
ผู้อำนวยการ สกย.ยังกล่าวเสริมถึงโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ใหม่ ระยะที่ 3 โดยระบุว่า ขณะนี้เกษตรกรจำนวนมากได้ให้ความสนใจ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้เกษตรกรได้ลงทะเบียนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2554 นี้
สำหรับรายละเอียดของโครงการเป็นแผนระยะที่ 3 กำหนดพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ รวม 8 แสนไร่ ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมต้องมีที่ดินเป็นของตนเอง 2-15 ไร่ และไม่เคยมีสวนยางมาก่อน โดย สกย.จะสนับสนุนกล้ายาง ปุ๋ย เมล็ดพืชคลุมดินช่วง 3 ปีแรก คิดเป็นเงินไร่ละ 3,529 บาท