xs
xsm
sm
md
lg

ราคายางพุ่ง 3 วันซ้อน แตะ กก.ละ 145 บาท รมช.เกษตรฯ ยันไม่มีปั่นราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เกษตรฯ เผยราคายางพาราแผ่นดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 3 วันซ้อน ราคาล่าสุด กก.ละ 145 บาท ห่วงเกษตรกรเร่งกรีดยางขายที่ยังไม่ได้ขนาด อาจส่งผลต่อราคาและคุณภาพลดลง รมช.เกษตรฯ ยันไม่ได้เกิดจากการปั่นราคา แต่ปรับขึ้นตามกลไกตลาด เนื่องจากปีก่อนเกิดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมทำให้ผู้ซื้อในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ากังวลว่าสินค้าในสต๊อกจะมีไม่เพียงพอจึงเข้ามาแย่งกันซื้อสินค้าในตลาดปกติ



รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า การประมูลซื้อขายยางพาราที่ตลาดกลางยางพาราทั้ง 3 แห่งในภาคใต้ ทำสถิติราคาสูงสุดขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ยังไม่มีทีท่าว่าจะอ่อนตัวลง ล่าสุดขึ้นอีกกิโลกรัม (กก.) ละเกือบ 3 บาท โดยที่ตลาดกลางสุราษฎร์ธานี ราคายางแผ่นดิบสูงถึง กก.ละ 145.25 บาท มีเกษตรกรมาขาย 24 ราย น้ำหนักยาง 10,000 กก. มีผู้มาประมูลซื้อ 4 ราย ส่วนที่ตลาดกลาง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ราคา กก.ละ 145.10 บาท มียางขาย 10,000 กก. และที่ตลาดกลางนครศรีธรรมราช กก.ละ 144.69 บาท มียางขาย 17,000 กก.

ทั้งนี้ ราคายางในตลาดประมูลที่พุ่งสูงขึ้นได้ฉุดให้ราคายางในตลาดท้องถิ่นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ขยับตามขึ้นอีก กก.ละ 1.35 บาทจาก 139.80 บาทเป็น 141.15 บาท และน้ำยางสดขึ้นอีก กก.ละ 2 บาท เป็น กก.ละ 131 บาท และเศษยาง กก.ละ 67 บาท

นายอุบล นาคฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง จ.หนองคาย กล่าวถึงสาเหตุที่ยางพารามีราคาสูงขึ้น โดยราคายางพาราแผ่นดิบได้ปรับตัวสูงขึ้น จากกิโลกรัมละ 140 บาทเป็น 145 บาท เนื่องจากความต้องการยางพาราของตลาดโลกนั้นมีมากขึ้น รวมทั้งยางพาราในประเทศไทยหลายพื้นที่ ไม่สามารถที่จะกรีดยางพาราได้ เนื่องจากประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ทั้งนี้ เกษตรกร จ.หนองคาย เร่งกรีดยางพารา และทำยางแผ่น เพื่อที่จะจำหน่ายให้กับบริษัทเอกชน ที่มาประมูลรับซื้อทั่วจังหวัด หลังจากที่ราคายางพาราแผ่นดิบได้ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่บางรายที่ไม่มีเงินทุนในการซื้อเครื่องผลิตยางแผ่น ต่างเร่งนำเอาขี้ยางพาราออกมาจำหน่ายในช่วงนี้เช่นกัน แม้ว่าจะได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 70 บาท แต่ถือว่าเป็นราคาที่ดี

เช่นเดียวกับผู้ปลูกยางพารา อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร และ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ต่างเร่งผลิตยางแผ่นดิบ เพื่อจำหน่ายให้กับพ่อค้าที่มาประมูลรับซื้อถึงหมู่บ้าน ในราคากิโลกรัมละ 145 บาท ขณะที่ยังมีชาวบ้านอีกหลายรายที่ยังกักตุนยางพาราไว้ เนื่องจากคาดว่า ราคายังจะสูงขึ้นกว่านี้

ขณะที่ นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ราคายางที่ปรับสูงขึ้นในขณะนี้ไม่ได้ถูกปั่นราคา แต่ปรับขึ้นตามกลไกตลาด เนื่องจากช่วงปี 2553 เกิดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้ผู้ซื้อในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ากังวลว่าสินค้าในสต๊อกจะมีไม่เพียงพอจึงเข้ามาแย่งกันซื้อสินค้าในตลาดปกติ ส่งผลทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การเร่งกรีดยางของเกษตรกรในช่วงที่ต้นยางยังไม่ถึงวัยที่จะกรีดได้ หรือที่เรียกว่า การข่มขืนยาง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพน้ำยาง และต้นยางในอนาคต จึงขอเตือนให้เกษตรกรระมัดระวังเรื่องนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น