พิษณุโลก - พ่อค้าคนกลางแห่รับซื้อยางแผ่นดิบถึงสวนยางพาราวังทอง-ชาติตระการ ผอ.สกย.เชื่ออีก 3-4 ปีสวนยางพาราเปิดกรีดครบ โรงงานแปรรูปยางพาราลุยตั้งแน่ ขณะที่ตลาดกลาง-โรงเรียนสอนกรีดยางพาราสะดุด
นายธนากร ภู่พรหมเจริญ ประธานสหกรณ์การเกษตรพาราพิษณุโลก จำกัด (สหกรณ์บ้านยางเดิม) เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในจังหวัดพิษณุโลกไม่สามารถขายยางแผ่นได้เท่ากับราคาอ้างอิงตลาดกลางภาคใต้ได้ โดยมีราคาต่ำกว่ามาก ทั้งที่ควรหักขนส่ง 2 บาท ผู้รับซื้อยางแผ่นอ้างว่า ต้องแบกรับความเสี่ยงของราคาผันผวนและรวบรวมยางให้มากพอไปส่งที่ภาคอีสาน หรือ จ.ระยอง ขณะที่ความคืบหน้าของการตั้งตลาดกลางยางพาราในจังหวัดพิษณุโลกก็ไม่คืบหน้า เพราะรองผู้ว่าฯคนหนึ่งย้ายออกไป ทำให้ยุทธศาสตร์ยางพาราของพิษณุโลกสะดุดลง โดยเฉพาะเรื่องตลาดกลางยางพาราและโรงเรียนสอนกรีดยาง
นางระย้า มาดชาวนา เกษตกรผู้ปลูกยางพารา อ.วังทอง พิษณุโลก เปิดเผยว่า ตนปลูกยางพาราประมาณ 300 ไร่ อายุตั้งแต่ 7-10 ปี สามารถกรีดน้ำยางได้วันละ 400-500 กิโลกรัม แล้วทำเป็นแผ่นยางดิบ (ไม่รมควัน) โดยจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อยางแผ่นที่สวนยาง พร้อมจ่ายเงินสดซื้อยางแผ่นขึ้นรถ 10 ล้อทันที ในแต่ละเดือนเฉลี่ยปริมาณ 18 ตันต่อเดือน(ช่วงกรีดยาง)
นายพิชยะ สิงห์ทองหอม เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา อ.ชาติตระการ พิษณุโลก เปิดเผยว่า ตนปลูกยางพารากว่า 100 ไร่ เพิ่งเปิดกรีดยางได้ประมาณ 1,000 ต้น หรือประมาณ 10 ไร่เศษ สามารถกรีดและทำยางแผ่นได้วันละ 18 แผ่น (หักให้คนงานครึ่งหนึ่ง) ณ วันนี้ มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่สวน เวียนไปเวียนมา 3-4 รายมาจ่ายซื้อสดเพื่อรับซื้อทันที แต่ราคาต่ำกว่าราคาอ้างอิงหาดใหญ่ 6-8 บาท ขายวันนี้ได้ราคา 136 บาทก็ถือว่า พอใจ เพราะหากไปขายจุดรับซื้อของบริษัทไทยฮั้วที่ อ.วังทองได้ราคา 139 บาท แต่ก็ไม่คุ้มเพราะต้องเสียค่าขนส่ง
นายสุรพล ขวัญเพียร ผอ.สำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง จ.พิษณุโลก เปิดเผยถึงสาเหตุที่ราคายางแผ่นดิบ ชั้น 3 ของชาวสวนยางพาราในจังหวัดพิษณุโลกขายไม่ได้ราคาเหมือนกับ ตลาดกลางหาดใหญ่ (ณ วันนี้ 142.80 บาทต่อกิโลกรัม) มีหลายปัจจัยด้วยกัน เริ่มจากพื้นที่เปิดกรีดสวนยางพารายังมีน้อยไม่กี่พันไร่ ซึ่งน้อยกว่าสวนยางในจังหวัดเชียงรายและพะเยา เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนยางปลูกใหม่ ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมที่จะตั้งรับซื้อน้ำยางเป็นวัตถุดิบยังไม่เกิดขึ้น แม้ว่าบริษัทไทยฮั้วเตรียมซื้อที่ดินและรอการอนุมัติก่อสร้างก็อยู่ระหว่างเตรียมการ
เชื่อว่า อีก 3-4 ปี ปริมาณน้ำยางในจังหวัดพิษณุโลกมากพอ อีกหลายโรงงานก็เริ่มย้ายฐานตั้งโรงงานผลิตเอง สิ่งที่ สกย.พิษณุโลกทำได้ในช่วงเปิดกรีดยางพารา 2 เดือนข้างหน้านี้ก็คือ จะต้องเปิดตลาดกลางท้องถิ่น แต่ต้องเช็คปริมาณยางพาราในแต่ละพื้นที่ให้มากพอเพื่อประมูลยางพาราท้องถิ่นเป็นหลัก