xs
xsm
sm
md
lg

ราคายางพุ่งชาวสวนเร่งกรีดต้นยางไม่ได้ขนาด - สกย.เลยเตือนอาจขาดทุนสูงไร่ละ 3 แสนบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราคายางที่ถีบตัวสูงเป็นประวัติการณ์ในขณะนี้ทำให้ชาวสวนยางจำนวนไม่น้อยต้องเร่งกรีดน้ำยางทั้งที่ต้นยางยังไม่ได้ขนาด
เลย - สกย.จ.เลยชี้ราคายางพาราถีบตัวสูงเป็นประวัติการณ์ เป็นโอกาสทองของเกษตรกรผู้ปลูกยาง ขณะเดียวกันส่งผลกระทบการกรีดยางที่ไม่ได้ขนาด เพราะชาวสวนยางเร่งกอบโกยรายได้ จำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์ผลเสียต่อการกรีดยางก่อนกำหนด ชี้ชาวไร่อาจต้องขาดทุนถึงไร่ละ 300,000 บาท

แม้ราคายางพาราจะถีบตัวสูงถึง 140 กว่าบาทต่อกิโลกรัม แต่หลายภาคส่วนกลับเป็นห่วงในเรื่องคุณภาพยางพาราและการกรีดยางที่ต้นไม่ได้ขนาดของเกษตรกรที่อาจจะสร้างผลกระทบตามมาล่าสุดนายวิโรจน์ จิระวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานองค์กรสงเคราะห์ยาง (สกย.) จ.เลย กล่าวว่า ปัจจุบันราคายางพาราพุ่งสูงขึ้นเกือบ 140 บาท/กก. เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวสวนยางพยายามที่จะหาวิธีการเก็บผลผลิตจากต้นยางให้เร็วขึ้น ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่อง การเปิดกรีดยางก่อนกำหนดหรือการเปิดกรีดยางที่ไม่ได้ขนาด และนับวันเชื่อว่าประเด็นปัญหาดังกล่าวจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น สุดท้ายความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มองไม่เห็นจะเกิดขึ้นตามมาเป็นปัญหาระดับประเทศ

จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยยาง โดย ดร.พิศมัย จันทุมา ทำการศึกษาทดลองเก็บตัวเลขระยะเวลา 12 ปี เกี่ยวกับผลกระทบการเปิดกรีดต้นยางที่ไม่ได้ขนาดได้น่าสนใจหลายประเด็น ประเด็นแรก ต้นยางที่ได้ขนาดเปิดกรีด วัดรอบต้นสูงจากพื้นดินที่ 1.50 เมตร ให้ได้ 50 ซม. ปกติต้นยางที่ยังไม่เปิดกรีด จะมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 5-7 ซม./ปี ถ้าเปิดกรีดแล้ว อัตราการเจริญเติบโตจะเหลือประมาณ 2 ซม./ปีเท่านั้น แสดงว่าต้นยางที่เปิดกรีดแล้ว การเจริญเติบโตลดลงมากเกินครึ่งและมีโอกาสแคระแกร็นสูง

ประเด็นต่อมา การกรีดต้นยางที่ขนาด 40-45 ซม. ได้ผลผลิตน้ำยางน้อยกว่าต้นขนาด 50 ซม ประมาณ 25-60% ถ้ายิ่งใช้ระบบการกรีดถี่ จะยิ่งทำให้ผลผลิตลดลง 40-60% ซึ่งการ เปิดกรีดต้นยางได้ขนาด 50 ซม. โดยปกติเฉลี่ยควรจะได้ 3 กก./ไร่/วัน ควรมีรายได้ 300 บาท/วัน (ราคายาง 100 บาท/กก) เปรียบเทียบกับกรีดยางต้นเล็กขนาด 40-45 ซม. ใช้ระบบกรีดเหมือนกัน ผลผลิตลดลง 25-60% หรือประมาณครึ่ง ดังนั้นแทนที่จะมีรายได้ 300 บาท/วัน/ไร่ จะเหลือรายได้เพียง 180-210 บาท/วัน/ไร่ หรือทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ 90-120 บาท/วัน/ไร่

โดยปกติชาวสวนยางจะกรีดยางได้ 120-150 วัน/ปี ดังนั้น เกษตรจะสูญเสียรายได้ 10,800-18,800 บาท/ไร่/ปี ใครมีสวนยางกี่ไร่ เอาตัวเลขคูณเองก็แล้วกัน

ประเด็นที่ 3 การกรีดต้นยางขนาดเล็ก ทำให้ผลผลิตตลอดวงจรชีวิตของยาง (22 ปี ) ลดลง 25-59% ปกติผลผลิตเฉลี่ยของยางประมาณ 280 กก./ไร่/ปี จะทำให้ผลผลิตสูญเสียไป 70-165 กก/ไร่/ปี หรือทำให้สูญเสียรายได้ 7,000-16,500 บาท/ไร่/ปี เมื่อครบวงจรชีวิตยาง จะทำให้สูญเสียรายได้ 154,000-363,000 บาท/ไร่ (คิดราคายาง 100 บาท/กก.)

ประเด็นที่ 4 หากคิดมูลค่าไม้ยางด้วย พบว่า การเปิดกรีดต้นยางขนาดเล็กทำให้ไม้โตช้า ปริมาณไม้ลดลง 28-60% เมื่อเทียบกับต้นยางขนาด 50 ซม.

นายวิโรจน์กล่าวว่า หลายคนคงคิดไม่ถึงว่าจะสูญเสียรายได้มากมายขนาดนี้ และถ้าคิดถึงความเสียหายระดับประเทศจะเป็นมูลค่ามหาศาล หากเกษตรกรเข้าใจและช่วยกันดูแลสวนยางตนเอง เปิดกรีดยางที่ได้ขนาด เกษตรกรชาวสวนยางจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ผลสุดท้ายก็จะย้อนกลับมาที่เกษตรกรเอง

จึงเป็นที่มาของการประชาสัมพันธ์ข้อความ “ระวังการเปิดกรีดยางไม่ได้ขนาด ทำให้ขาดทุนไร่ละ 300,000 บาท” ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดเลย ขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดเลยรับทราบ และตระหนักถึงความสูญเสีย โดยหวังว่าเกษตรกรชาวสวนยางจะเข้าใจและช่วยกันลดความสูญเสีย เพิ่มรายได้ให้กับตนเองแบบง่ายๆ เพียงแค่เปิดกรีดต้นยางที่ได้ขนาดเท่านั้น
ราคาซื้อขายน้ำยางขณะนี้สูงถึงกิโลกรัมละกว่า140 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น