เลย - ธ.ก.ส.เลย ผนึกสกย.เลย ร่วมแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เบื้องต้นให้สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดฯ จ.เลย เข้ามารับซื้อยางจากเกษตรกร พร้อมแนะเกษตรกร ลดกรีดยางลง 20-30% และไม่เปิดกรีดยางพาราก่อนกำหนด
นายมงคล หาวิธี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดเลย เปิดเผยการแก้ปัญหาราคายางพาราผันผวนว่า ธ.ก.ส.จังหวัดเลยได้จัดประชุมหาแนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราผันผวนกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดเลย (สกย.) และสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย พร้อมด้วยตัวแทนเครือเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดเลย
รูปแบบการแก้ปัญหาเบื้องต้น ธ.ก.ส.จะให้สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.เลย จำกัด (สกต.เลย) เข้ามารับซื้อยางพาราจากเกษตรกร และขอความร่วมมือเกษตรกรลดการกรีดยางลง 20-30% เพื่อชะลอซัปพลายออกสู่ตลาด
ส่วน ธ.ก.ส.เลย จะสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรที่มีต้นยางอายุ 4-7 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกของสกย. และประสงค์จะไม่เปิดกรีดยางพาราก่อนกำหนด โดยจ่ายสินเชื่อค่าบำรุงรักษายางพารา 1,660-1,820 บาท/ไร่/ปี และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ 8,000-12,000 บาท/ไร่
นายมงคลกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันพื้นที่ปลูกยางพาราในจังหวัดเลยมีประมาณ 660,000 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 130,000 ไร่ และจะมีการเปิดกรีดใหม่เฉลี่ยปีละกว่า 50,000 ไร่ โดยประมาณร้อยละ 70 จะเปิดกรีดยางก่อนกำหนด
ทั้งนี้ จากรายงานวิจัยของพิสมัย จันทุมา (2551) พบว่า ต้นยางขนาดเล็ก 40 เซนติเมตร และ 45 เซนติเมตร ให้ผลผลิตน้ำยางน้อยกว่าต้นยางขนาด 50 เซนติเมตรถึง 25-26% และการกรีดยางขนาดเล็กกับระบบกรีดถี่หนึ่งในสามของต้นกรีดสามวันหยุดหนึ่งวัน ทำให้ผลผลิตลดลง 40-60%
เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดต้น 50 เซนติเมตรกับระบบกรีดครึ่งต้นวันเว้นวัน การให้ผลผลิตสะสมพบว่า การกรีดยางขนาดต้น 50 เซนติเมตร ให้ผลผลิตสะสม 1 ปี ไม่แตกต่างจากผลผลิตสะสม 2 ปี ของการกรีดยางต้นเล็ก
นอกจากนี้ การกรีดยางต้นเล็กยังมีผลกระทบต่อผลผลิตระยะยาว โดยทำให้ผลผลิตตลอดวงจรชีวิตยาง และผลผลิตไม้ยางลดลง 28-60%