xs
xsm
sm
md
lg

บุรีรัมย์วุ่นเกษตรกรนับหมื่นแห่สมัครปลูกยาง - แฉนายทุน-เมียฝรั่งกว้านซื้อ “ส.ป.ก.” พุ่งไร่ละแสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกรจาก 23 อำเภอ จ.บุรีรัมย์ แห่มาสมัครเข้าร่วมโครงการ“ปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่” ที่สกย. จ.บุรีรัมย์ ในวันแรกร่วม 10,000 ราย จนเกิดความวุ่นวายวันนี้ ( 15 ก.พ.)
บุรีรัมย์ - เกษตรกรจากทั้ง 23 อำเภอบุรีรัมย์ แห่สมัครเข้าร่วมโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ วันแรกร่วมหมื่นรายจนเกิดความวุ่นวาย จากที่คาดจะมีผู้มาสมัคร 1,000-2,000 ราย จนท.ให้บริการไม่ทันต้องแจกบัตรคิวให้มากรอกเอกสารในวันหลัง สร้างความไม่พอใจให้เกษตรกร คาดยอดสมัครทะลุ 2 หมื่นราย แฉนายทุน-เมียฝรั่งแห่กว้านที่ดิน “ส.ป.ก.4-01” ราคาพุ่งไร่ละ 2 หมื่นเป็นกว่าแสนบาท

วันนี้ (15 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เช้ามืดเกษตรกรจากทั้ง 23 อำเภอ ของ จ.บุรีรัมย์ แห่เดินทางมาสมัครเข้าร่วมโครงการ“ปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่”ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ในวันแรกร่วม 10,000 ราย จนเกิดความวุ่นวาย จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีเกษตรกรมาสมัครในวันแรกเพียง 1,000-2,000 รายเท่านั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ที่มีเพียงประมาณ 10 คน ให้บริการไม่ทันต้องแก้ไขปัญหาด้วยการแจกบัตรคิวให้เกษตรกร มากรอกเอกสารในวันหลัง เพื่อลดความแออัดสร้างความไม่พอใจให้กับเกษตรกรเพราะต้องเดินทางมาจากต่างอำเภอ

ทั้งนี้ ยังพบปัญหาเกษตรกรบางส่วน ยังมีการนำเอกสาร ภบท.หรือเอกสารการจ่ายเงินสำหรับเสียภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำกินในที่ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ป่าสาธารณประโยชน์ นอกจากนั้นยังมีเกษตรกรอีกกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ที่มีสวนยางเป็นของตนเองอยู่แล้ว แต่มายื่นสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งคุณสมบัติไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพราะเกษตรกรที่สามารถเข้าร่วมโครงการฯได้ ต้องมีที่ดินเป็นของตนเองตั้งแต่ 2-15 ไร่ และมีเอกสารสิทธิ์การทำกินในที่ดินดังกล่าวที่รัฐออกให้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญต้องไม่เคยมีสวนยางพารามาก่อน

นายรุธร ณ พัทลุง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ในวันนี้ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกยาง พบว่าได้มีเกษตรกรมารอสมัครตั้งแต่เช้ามืดมากกว่า 1 หมื่นคน จนเจ้าหน้าที่ให้บริการไม่ทัน ต้องออกบัตรคิวให้มากรอกเอกสารในวันหลัง

สำหรับ จ.บุรีรัมย์ ได้รับการจัดสรรโควตาในโครงการส่งเสริมปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 ระหว่างปี 2554-2556 จำนวน 30,000 ไร่ แต่คาดการณ์ว่าหลังสิ้นวันรับสมัครในวันที่ 15 มี.ค.นี้ จะมีเกษตรกรทยอยมาสมัครอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นราย

นายรุธร กล่าวอีกว่า หลังจากสิ้นสุดการรับสมัครทางเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบและคัดกรองคุณสมบัติเกษตรกรอีกครั้ง ว่า ตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาเพื่อรับการส่งเสริมให้ปลูกยางตามโครงการดังกล่าวต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากจำนวนเกษตรกรที่มาสมัครเป็นจำนวนมาก และคาดว่า จะเกินโควตาที่ได้รับการจัดสรร ซึ่งในกรณีดังกล่าวทาง สกย.จะได้มีการเสนอขอโควตาเพิ่ม หรือจะมีการเรียกประชุมตัวแทนกลุ่มเกษตรกร เพื่อทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับพื้นที่จะได้รับการส่งเสริม จากหลักเกณฑ์คนละ 15 ไร่ อาจเกลี่ยลดลงเหลือคนละ 10 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรได้รับการส่งเสริมปลูกยางในโครงการดังกล่าวอย่างทั่วถึง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ มีเกษตรกรปลูกยางพาราแล้วกว่า 180,000 ไร่ สามารถเปิดกรีดได้แล้วกว่า 80,000 ไร่ ในปีที่ผ่านมาได้ผลผลิตน้ำยางส่งจำหน่าย 2,400 ตัน ทำรายได้ให้กับเกษตรกรมากถึงกว่า 2,400 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้เกษตรกรจะหันมาปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15,000 ไร่ เนื่องจากราคารับซื้อยางพาราจูงใจสูงถึงกิโลกรัมละกว่า 160 บาท

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าได้มีนายทุนและภรรยาชาวต่างชาติ ได้ตระเวนกว้านซื้อที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ตามอำเภอต่างๆในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์แล้วเป็นจำนวนมาก จนทำให้ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 มีราคาพุ่งสูงถึงไร่ละหลักแสนบาท จากเดิมจะมีราคาเพียงไร่ละ 20,000 บาท อีกทั้งยังมีแนวโน้มราคาเพิ่มสูงขึ้นอีก







นายรุธร ณ พัทลุง ผอ.สกย.บุรีรัมย์
กำลังโหลดความคิดเห็น