xs
xsm
sm
md
lg

แผนปลูกยาง 8 แสนไร่ป่วน-ทุนการเมืองกว้านซื้อกล้ายางส่งจีนทำราคาพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราคายางที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากแห่มาปลูกยางเพิ่มขึ้น และส่งผลให้กล้ายางเริ่มขาดตลาด
พะเยา - ราคายางแพงทำที่ ส.ป.ก.พะเยา พุ่งอีก ล่าสุดราคาไต่ขึ้นไปถึงไร่ละ 5 หมื่น - 1.2 ล้าน จังหวัดจัดงบฯทุ่มอีก 45 ล้าน ส่งเสริมทั้งปลูก-กรีด ผู้ว่าฯประกาศอีกไม่เกิน 100 วัน เมืองกว๊านฯมีโรงงานรมควันแน่ ขณะที่โครงการปลูกยาง 8 แสนไร่เริ่มป่วน แฉทุนการเมืองกว้านซื้อกล้าพันธุ์ส่งจีนทำกำไร ทำราคายางชำถุงในประเทศพุ่งทะลุ 40 บาทแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ที่ราคายางพาราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาที่ดินว่างเปล่าและที่ดินที่มีการปลูกยางพาราสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ดินเปล่าในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก. 4-01 ที่ดินมีเอกสารสิทธิ หากที่ดินปลูกยางพาราแล้วจะมีราคาแพงขึ้นมากกว่าที่ดินเปล่า โดยราคาซื้อขายขณะนี้ เริ่มตั้งแต่ไร่ละ 50,000 -1,200,000 บาท

นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดมีแผนจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนเกี่ยวกับยางพาราหลายกิจกรรม จำนวนประมาณ 45 ล้านบาท เช่น การจัดหาซื้อกล้ายางเพื่อแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่ทั้ง 9 อำเภอ การอบรมให้ความรู้เรื่องการปลูกยาง การอบรมการกรีดยางพารา และที่สำคัญมีการก่อสร้างโรงงานรมควันแผ่นยางพาราในพื้นที่ อ.เชียงคำ จ.พะเยา โดยงบประมาณจากส่วนกลางประมาณ 30 ล้านบาท คาดว่านับจากนี้ประมาณ 100 วัน จ.พะเยาจะมีโรงงานรมควันแผ่นยางเกิดขึ้นช่วยให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนได้อีกมาก เนื่องจากไม่ต้องส่งยางพาราแผ่นดิบไปรมควันที่ จ.ระยอง เหมือนที่ผ่านมา

“ที่น่าสนใจ คือ จ.พะเยามีการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรและตั้งตลาดประมูลยางขึ้นมาทำการประมูลยางทุกเดือน ทำให้เกษตรกรมีการรวมตัวกันขายยางพาราแผ่นอย่างเข้มแข็ง และเมื่อโรงงานรมควันแผ่นยางเสร็จ ยางพาราแผ่นดิบที่ได้จากพื้นที่เดือนละ 40-50 ตัน จะรมควันในพื้นที่ก่อนที่จะนำไปลงท่าเรือที่ จ.เชียงราย เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ทำให้ลดต้นทุนค่าขนส่งได้อย่างมหาศาล” ผวจ.พะเยา กล่าว

ด้านนายประยูร ใจกว้าง ประธานตลาดประมูลยางพาราจังหวัดพะเยา กล่าวว่า หลังจากที่การส่งเสริมปลูกยางพาราของจ.พะเยาประสบความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจ เพราะเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง พื้นที่ปลูกยางพารามีมากขึ้น ราคายางแผ่นดิบสร้างรายได้สู่ครอบครัวและชุมชนของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ขณะนี้จึงมีการดำเนินงานในขั้นตอนของการจัดระบบการตลาด โดยมีการรวมกลุ่มของเกษตรกรนำยางพาราแผ่นดิบมารวมกัน เพื่อขายให้แก่พ่อค้าในลักษณะของการประมูลเพื่อลดช่องทางการกดราคาของพ่อค้าคนกลาง แต่เนื่องจากเกษตรกรที่ต้องการได้รับเงินจากการขายยางแผ่นดิบ บางครั้งทำให้ไม่สามารถอดทนรอการประมูลยางได้ จึงขายให้แก่พ่อค้าคนกลางรายย่อย ส่งผลถึงยางแผ่นดิบที่ต้องนำมาประมูลในตลาดพะเยาเหลือน้อยลง จากจำนวนยางทั้งหมดประมาณ 50 ตัน จะเหลือเข้าตลาดเพียง 20-30 ตัน หายออกไปจากตลาดถึงร้อยละ 50

“ตรงนี้คณะกรรมการตลาดประมูลยางพาราจ.พะเยา ได้หารือร่วมกับส่วนราชการ จึงอยากขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดหรือรัฐบาล จำนวน 20 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นทุนสำรองที่จะใช้จัดซื้อยางแผ่นดิบจากเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้นำไปใช้เร่งด่วนไม่ต้องขายให้แก่พ่อค้าคนกลาง จะทำให้กลไกตลาดประมูลยางเข้มแข็งยิ่งขึ้น”

นายธงชัย รับพร ผู้อำนวยการ(ผอ.)สำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง (สกย.) จังหวัดพะเยา กล่าวว่า หากตลาดประมูลยาง ฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุน 20 ล้านบาท ไม่ว่าจะจากจังหวัดหรือจากส่วนกลางก็ตาม งบประมาณจำนวนนี้จะถูกนำมาเป็นทุนสำรองใช้ในการเก็บยางพาราแผ่นดิบเพื่อรอการประมูลแต่ละเดือน จะทำให้ปริมาณยางพาราเดือนละ 50-60 ตัน เข้าสู่ระบบตลาดประมูลทั้งหมด เมื่อนั้นพ่อค้าคนกลางจะต้องถูกดึงมาสู่ระบบการประมูล และผลประโยชน์จะตกสู่มือเกษตรกรได้อย่างเต็มที่

สำหรับโครงการส่งเสริมปลูกยางพารารายใหม่ 8 แสนไร่ ที่กำลังจะเปิดให้เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการกันตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2554 ปรากฏว่า เกษตรกรในพื้นที่ ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา ได้ลงทะเบียนขอเพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราอีก จำนวน 20,000 ไร่ แต่กล้ายางกลับมีราคาแพงขึ้น ทำให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบไม่สามารถจัดหาให้ได้ครบตามที่ขอ เนื่องจากต้นทุนราคากล้ายางพาราขณะนี้สูงขึ้นกว่า 1 เท่าตัว จากราคากล้ายางแจกฟรี 18 บาท

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นอกจากจะมีสาเหตุมาจากผู้ผลิตกล้ายางจากภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ปริมาณกล้ายางในปีนี้ลดลงแล้ว ยังมีกลุ่มทุนการเมืองในภาคอีสาน ออกกว้านซื้อกล้าพันธุ์ยางพารา เพื่อส่งไปขายให้แก่ผู้ปลูกยางในจีน ซึ่งได้ราคาสูงถึงกล้าละ 60 บาททีเดียว ทำให้ราคากล้าพันธุ์ในประเทศขณะนี้ ถูกปั่นขึ้นไปถึงกล้าละ 40 -50 บาทแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น