พิษณุโลก - สกย.เรียกประชุม ผอ.สกย.ทั่วภาคเหนือ รับมือเกษตรกรยื่นขอรับทุนสงเคราะห์ปลูกยาง 15 ก.พ.นี้ พร้อมเงินแจกฟรี 3.5 พันบาทต่อไร่ ชำแหละโครงการเฟส 3 รัฐจ่ายค่าพันธุ์ยางแค่ 18 บาท ขณะที่ราคากล้าชำถุงถูกดันพุ่ง 40 บาท เกษตรกรต้องลงทุนเพิ่มเอง รอง ผอ.สกย.ระบุ ราคายางพุ่ง ดีมานด์สูง-ซัปพลาย น้อย คาดอีก 5 ปี จึงจะเข้าสู่ภาวะสมดุล
วันนี้ (3 ก.พ.) ที่โรงแรมท๊อปแลนด์พลาซ่า นายประสิทธิ์ หมีดเส็ง รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง และคณะฝ่ายส่งเสริมการสงเคราะห์ ได้เรียกประชุมผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยางทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อชี้แจงขั้นตอนดำเนินการโครงการปลูกยางพาราที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 (2554-3556) ตาม พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง มาตรา 21 ทวิ
ซึ่งตามระเบียบ จะจ่ายให้เกษตรกรผู้ที่ไม่เคยมีสวนยางมาก่อน ตั้งแต่ 2-15 ไร่ สามารถยื่นขอรับคำขอพร้อมแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน (โฉนด หรือ ส.ป.ก.) ในอัตราทยอยจ่ายเงินสงเคราะห์ไร่ละ 3,529 บาทต่อไร่ (พร้อมดูแลค่าปุ๋ย) ในระยะ 30 เดือน แยกเป็นเป็นค่าพันธุ์ยาง 90 ต้นต่อไร่ หรือ 1,620 บาท (18 บาทต่อต้น) เป้าหมายปลูกยางพาราในภาคเหนือ ปี 54-56 จำนวน 150,000 ไร่ จาก 800,000 ไร่ทั่วประเทศ
นายประสิทธิ์ เปิดเผยว่า โครงการนี้คาดว่าจะได้รับการตอบรับอย่างคับคั่ง หากไม่พอกับความต้องการ จะต้องนำเสนอต่อรัฐบาลในระยะต่อไป กรณี สกย.จ่ายค่าพันธุ์ยางราคาต้นละ 18 บาท ซึ่งถือว่าน้อยกว่าราคาตลาดปัจจุบันนี้ที่ขายกันในระดับ 35-40 บาท นับเป็นปัญหาหนักใจ เพราะเขียนโครงการไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดคณะกรรมการการยางแห่งชาติ (กนย.) ในวันพรุ่งนี้ (4 ก.พ.) หากได้รับการพิจารณาช่วยเหลือ สกย.ก็พร้อมนำไปจ่ายค่าส่วนต่างเป็นคูปอง หากข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับพิจารณา เกษตรกรจะต้องเป็นผู้ลงทุนเพิ่มเติม เพราะต้องยอมรับว่า กระแสยางพาราช่วงนี้แรงมาก
สำหรับภาพรวมการปลูกยางพาราทั่วประเทศ จำนวนพื้นที่ 17 ล้านไร่ เป้าหมายของ สกย.ต้องการเพิ่มผลผลิตน้ำยางควบคู่ไปการขายพื้นที่ปลูก จากระดับ 270 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เป็น 306 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สำหรับพื้นที่ภาคเหนือนั้น ทราบว่า มีผลผลิตต่ำกว่าภาคใต้ อยู่ระดับ 250-270 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากสภาพฝนน้อย ต้นยางขาดความสมบูรณ์ จึงขอร้องให้เกษตรกรอย่ารีบเปิดกรีด เพราะจะทำให้ต้นยางอายุสั้นและเสียหาย
ส่วนความต้องยางพาราของตลาดโลกยังมีอยู่มาก ส่งผลให้ราคายางแผ่นพุ่งทะลุ 160 บาทต่อกิโลกรัมขณะที่ซัปพลายน้อย คาดว่า กว่าจะเข้าสู่ภาวะสมดุลอีก 5 ปีข้างหน้า
นายวิชาญ สมศรี ปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลก (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า โครงการปลูกยางพาราเฟส 3 จะต้องปลูกบนพื้นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น ส่วนที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อการปฏิรูป มีอยู่จำนวน 518,711 ไร่ ใน 14 ป่าเสื่อมโทรมในเขตโซน E สามารถจัดสรรแล้ว 327,148 ไร่ เตรียมสำรวจและรังวัดอีกจำนวน 191,563 ไร่ หักพื้นที่ชุมชนออก คงเหลือจำนวน 188,103 ไร่ ซึ่งสามารถสำรวจและออก ส.ป.ก.ในปี 54-55 ได้เพียง 72,000 ไร่ เพราะพื้นที่หายไป ถูกกันออกโดยกรมป่าไม้เป็นส่วนใหญ่ และรวมกับที่ดินสาธารณประโยชน์รวมแล้วกว่า 100,000 ไร่ โดย ส.ป.ก.ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิแก่เกษตรที่ถือครองกว่าแสนไร่ และไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ปลูกยางระยะที่ 3 นี้ได้
อนึ่ง พื้นที่จังหวัดพิษณุโลกมีพื้นที่จำนวน 6.7 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ 2 ล้านไร่ (30%) พื้นที่กรมอุทยานฯ 1.9 ล้านไร่ (29%) โดยเนื้อที่กรมป่าไม้ ระบุว่า มอบให้ ส.ป.ก.แล้วจำนวน 676,968 ไร่ อนุญาตให้ทำประโยชน์ 231,876 ไร่ พื้นที่ป่าถูกครอบครอง 161,567 ไร่ (มติ ครม.30 มิ.ย.41)