ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การชุมนุม “รวมพลังปกป้องแผ่นดิน” ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ภายใต้เป้าหมาย 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1.ยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและการจัดทำหลักเขตทางบก หรือที่รู้จักกันในชื่อของ MOU43 2. ให้ประเทศไทยถอนตัวจากสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก และ 3. ให้ผลักดันชาวกัมพูชาพ้นจากอธิปไตยของประเทศไทยโดยเร็วที่สุด ซึ่งรวมๆ แล้วก็คือการเรียกร้องให้รัฐบาล ทำหน้าที่รักษา “อธิปไตย” ของประเทศไทย
หากนับจากวันที่ 25 ม.ค.ก็เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้วที่พันธมิตรฯ ยังอยู่ชุมนุมอย่างเหนียวแน่น ณ สะพานมัฆวานรังสรรค์ แม้ข้อเสนอของพันธมิตรฯ จะถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยจากรัฐบาลก็ตาม
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลพยายามจะยื่นไมตรีมาตลอดในระยะหลัง แต่การเจรจาดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ “ปิดตาย” ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะพันธมิตรฯ เชื่อว่าไม่ว่าจะเจรจากี่ครั้ง ก็ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมจากฝ่ายรัฐบาลออกมาให้เห็น ผลสรุปคือแค่การซื้อเวลาของรัฐบาลเพียงเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ผลลัพธ์จากการออกมาชุมนุมของพันธมิตรฯ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทรงพลังพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น กรณีที่ทหารกัมพูชาได้มายึดแผ่นดินไทยที่วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ โดยได้ทำป้ายหินสลักประณามไทยว่าเป็นผู้รุกรานที่วัดแก้วสิกขาฯ ทั้งๆ ที่วัดแห่งนี้เป็นพื้นที่ของไทย แต่เมื่อพันธมิตรฯออกมาตีแผ่ ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้มีทางกัมพูชายอมรับและสั่งทุบป้ายนั้นทิ้ง รวมทั้งป้ายหินชิ้นที่สองที่สลักว่า “ ที่นี่คือกัมพูชา”ก็ถูกสั่งทุบทิ้งไปด้วย ซึ่งหากพันธมิตรฯไม่ออกมาเดินชนรัฐบาลอภิสิทธิ์ครั้งนี้ คงไม่มีผลลัพธ์ที่ออกมาเช่นที่ ปรากฏเป็นข่าวจนกลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมาทันที
ส่วนคนที่ต้องอกหักก็หนีไม่พ้น "ฮุนเซน" นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่หมายมั่นปั้นมือจะรุกคืบแบบมัดมือชกฝ่ายเดียว ด้วยการประกาศครอบครองดินแดนที่วัดแก้วฯ ก็ไม่สำเร็จดั่งใจหมายไว้
นอกจากนั้น คงต้องยอมรับว่า การกดดันของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ส่งแรงสะเทือนไปถึงรัฐบาลว่าจะมามัวทำดื้อตาใส ไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อไปอีกไม่ได้แล้ว เพราะถ้าไม่มีพันธมิตรฯ ออกมาเปิดโปงตีแผ่ความจริงเรื่องนี้ รัฐบาลไทยคงจะไม่มีปฏิกิริยาอะไรเหมือนอย่างเคยและจะเป็นการเข้าทางกัมพูชาที่จะได้แผ่นดินไทยตรงนั้นไปโดยไม่ต้องออกแรงอะไรเลย
และเมื่อมวลชนพันธมิตรฯ สุดทนต่อแนวทางที่อ่อนแอปวกเปียกของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งล้มเหลวในการปกป้องอธิปไตยของชาติ จึงได้ตัดสินใจระดมพลครั้งใหญ่ในวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมาเพื่อลงฉันทามติถึงทิศทางการเคลื่อนไหว ซึ่งปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมจำนวนมากจนทำให้พื้นที่การชุมนุมที่สะพานมัฆวานฯ ถึงแยกมิสกวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองเดิม ขยายออกไปจรดลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีมติเป็น “เอกฉันท์”ให้ยกระดับการชุมนุมเพื่อกดดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี พิจารณาตัวเอง “ลาออก”ทั้งคณะ ฐานไม่ทำหน้าที่รักษาอธิปไตยของชาติ แถมยังมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างรุนแรง
และปฏิกิริยาดังกล่าวของพันธมิตรฯ ก็ทำให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ “ติดหนวด” ด้วยการตัดสินใจประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 7 เขต คือ เขตดุสิต ป้อมปราบฯ พระนคร ราชเทวี ปทุมวัน วังทองหลางและวัฒนา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 9-23 ก.พ. พร้อมกับประกาศตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. โดยแต่งตั้ง “บิ๊กน้อย-พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขึ้นมาควบคุมสถานการณ์
หลังได้รับคำสั่งบิ๊กน้อยในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส.ก็ออกประกาศควบคุมการชุมนุมในทันที 2 ฉบับเมื่อวันที่ 10 ก.พ. โดยประกาศฉบับที่ 1 ระบุว่า ห้ามบุคคล และกลุ่มบุคคลเข้า หรือให้ออกจากถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกพาณิชยการพระนคร (ด้านถนนพระราม 5) ถึงแยกสวนมิสกวัน, ถนนนครปฐม ตั้งแต่สะพานชมัยมรุเชษฐ์ ถึงสะพานอรทัย, ถนนพระราม 5 ตั้งแต่ สะพานชมัยมรุเชษฐ์ ถึงสะพานอรทัย, ถนนลูกหลวงตั้งแต่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถึงสะพานเทวกรรมรังรักษ์ และถนนกรุงเกษม ตั้งแต่แยกมัฆวาน ถึงสะพานเทวกรรมรังรักษ์
ส่วนในประกาศฉบับที่ 2 ระบุว่า ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ในเส้นทางถนนพิชัย ตั้งแต่แยกขัตติยานี ถึง สามแยกถนนราชวิถีตัดถนนพิชัย, ถนนราชวิถีตั้งแต่แยกการเรือน ถึง แยกราชวิถี และถนนอู่ทองในตั้งแต่แยกอู่ทองใน ถึงแยกพระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5
ทั้งนี้ บริเวณที่ประกาศห้ามของ ศอ.รส.นั้น ล้วนเป็นจุดที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมปักหลักอยู่ทั้งสิ้น
ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ก็ตอกย้ำถึงความเป็นศัตรูด้วยการประกาศว่า "ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาไว้สำหรับปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯจำนวนถึง 50 กองร้อย พร้อมทั้งระบุว่าหากไม่เพียงพอก็จะเพิ่มเติมกำลังเข้าไปได้อีกไม่อั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลได้เตรียมการป้องกันอย่างดี และเด็ดขาด"
ขณะเดียวกัน ทางพันธมิตรคงประเมินกันแล้วเห็นว่า อาจยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะทำให้หลงกลที่รัฐบาลอยากล่อให้เข้าไป “ติดกับ” หรือตกไปอยู่ในเกมของรัฐบาล จึงเลือกแนวทางไม่เดินทางไปยังสถานที่ใดในวันที่ 11 ก.พ. เพราะที่ผ่านมาเพียงแค่การปราศรัยสร้างองค์ความรู้ติดอาวุธทางปัญญาให้แก่มวลชนและประชาชนไทย ก็เพียงพอที่จะสะท้านสะเทือนจนรัฐบาลอย่างหนักหนาเพียงพอแล้ว
โดยล่าสุด พันธมิตรฯ ได้มีมติของคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน โดยมีมติในการปรับการเคลื่อนไหวจากเดิมที่ประกาศว่า จะเคลื่อนขบวนไปเรียกร้องให้หน่วยราชการทำหน้าที่ เป็นการขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นไปช่วยเหลือทหารและชาวบ้านที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยจะมีผู้แทนจากคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดินร่วมคณะไปด้วย แต่ไม่มีมวลชนติดตามไป
นอกจากนั้นในวันที่ 11 ก.พ. จะมีการเคลื่อนขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมไปยังบริเวณพระบรมรูปทรงม้า เป็นตัวแทนปฏิญาณตนกับองค์พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ในการร่วมเป็นอาสาสมัครในการพิทักษ์รักษาดินแดน และเมื่อเสร็จสิ้นพิธีก็จะกลับมายังพื้นที่การชุมนุมเช่นเดิม โดยไม่มีการเดินทางไปที่หน้ารัฐสภา
ด้วยเหตุดังกล่าว การประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาล จึงเป็นเพียงแค่การออกอำนาจพิเศษให้ตัวเองดูมีความชอบธรรมในการประคองอำนาจของตนเองให้อยู่ยืดยาวต่อไปเท่านั้น และอาจมองได้ว่าการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จึงมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่กำลังยกระดับการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล
โดยเป้าหมายเฉพาะหน้าคือการสลายชุมนุม เพราะหวั่นเกรงกระทบผลประโยชน์ที่ได้วางแผนเอาไว้ล่วงหน้า นั่นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 ก.พ.ที่รัฐบาลและพรรคร่วมต้องทำคลอดให้เสร็จสิ้น รวมไปถึงการจำทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2554 ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ 20 ก.พ.ที่ตัวเองได้เปรียบในการเลือกตั้งจะถูกขัดขวาง
ขณะเดียวกันถ้าหากพิจารณาในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลมีความ “ไม่มั่นคง” ขึ้นมาแล้วใช่หรือไม่ จึงต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย “พิเศษ” มาจัดการประชาชนฝ่ายต่อต้านอย่างเข้มงวด โดยอ้างสถานการณ์ความมั่นคงมาบังหน้าเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ก็การปล่อยข่าวกันว่าพันธมิตรฯ จะบุกไปยึดทำเนียบรัฐบาล หรือ ปิดล้อมรัฐสภา อีกทั้งตลอดมาก็มีความพยายามวาดภาพให้การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ให้ดูมีความน่ากลัวแฝงอยู่เสมอในสายตาประชาชนทั่วไป
ทั้งที่ความจริงแล้ว ตั้งแต่แรกของการชุมนุมของพันธมิตรฯ ก็หาได้มีความรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใดตลอดการชุมนุมที่ผ่านมา นอกเสียจากให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในเรื่องของข้อพิพาทเรื่องเขตแดน หรือกระตุ้นเตือนให้รัฐบาล และฝ่ายความมั่นคง ให้ทำหน้าที่ที่พึงมีอย่างสุดความสามารถในการจัดการแก้ปัญหาชายแดน อีกทั้งยังเปิดโปงการทุจริตมากมายจนสรุปได้ว่าการทุจริตของรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ต่างหรืออาจมากกว่ารัฐบาลของ “ทักษิณ ชินวัตร” เสียด้วยซ้ำ
ดังนั้น หากรัฐบาลจะอ้างว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ ทำให้ความไม่มั่นคงของประเทศเกิดขึ้น ก็คงจะเป็นรัฐบาลเองที่ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มกำลัง หรือเกรงว่าอาจจะเป็นเพราะการชุมนุมของพันธมิตรฯ ได้เปิดเผยความจริงในเรื่องที่รัฐบาลพยายามปิดหูปิดตาประชาชนมาตลอดจนทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดนและความไม่มั่นคงของประเทศ ซึ่งจะกระทบกระเทือนไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ใช่หรือไม่
ที่สำคัญคือเป็นตลกร้ายที่ขำไปออก เพราะขณะที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เอาจริงเอาจังกับการขับไล่การชุมนุมอันชอบธรรมตามสิทธิในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แต่กลับกัมพูชาที่เข้ามายึดครองดินแดนไทยอย่างชัดเจน รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์กลับไม่มีปัญญาขับไล่ให้ออกไปได้
แถมนายอภิสิทธิ์ยังใส่ร้ายป้ายสีพันธมิตรฯ อีกต่างหากว่า “ในยามซึ่งขณะนี้บริเวณชายแดนมีความตึงเครียด เจ้าหน้าที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว อย่าให้เจ้าหน้าที่ต้องมีความกังวลกับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองหลวงได้หรือไม่ ถ้ารักประเทศชาติบ้านเมืองห่วงแหนต้องสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่เขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่ได้ในขณะนี้ 2 ช่องจราจรเท่านั้นเองครับ ไม่ได้เดือดร้อนอะไรใครเลย”
แต่นั่นก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจอะไร เพราะประวัติศาสตร์ทางการเมืองก็บันทึกเอาไว้ชัดเจนว่า ใครที่ถนัดในการใช้วิชามารเพื่อทำลายศัตรูทางการเมืองและทำให้ได้มาซึ่งชัยชนะมากที่สุด
ใช่พรรคประชาธิปัตย์หรือไม่....คำตอบมิได้อยู่ในสายลมอย่างแน่นอน