xs
xsm
sm
md
lg

จับตาดึงแร่ใยหินไครโวไทล์เข้าข่ายวัตถุอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-คณะกรรมการวัตถุอันตรายนัดถก 11 ก.พ.นี้ ดึงแร่ใยหินชนิดไครโวไทล์ เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายห้ามการผลิตและนำเข้าหรือไม่ หลังเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคบุกร้องห้ามนำเข้า ห้ามผลิต จำหน่ายและส่งออก
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเป็นตัวแทนนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม รับหนังสือร้องเรียนจากผู้แทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 7 ภูมิภาคเกี่ยวกับปัญหาแร่ใยหินชนิดไครโวไทล์ (Asbestos) วานนี้ (8ก.พ.) ว่า ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการหารือกับผู้ผลิตที่ต้องใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เบื้องต้นแล้ว ซึ่งยอมรับว่าบางอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็น เช่น ผ้าเบรก ผ้ากันไฟ ไฟเบอร์ หากต้องเปลี่ยนไปใช้เยื่อกระดาษแทนจะมีต้นทุนที่สูง ดังนั้น ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนายยงยุทธ ทองสุข รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน จะสรุปถึงแนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว
“เรารับปากกับทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคไว้ว่าภายใน 1 เดือนจะเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด โดยวันที่ 11 ก.พ. คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะประชุม ส่วนท้ายสุดจะประกาศให้แร่ใยหินชนิดไครโวทไทล์เป็นวัตถุอันตรายที่ต้องห้ามผลิตและนำเข้าหรือไม่ คงจะต้องให้ที่ประชุมหาข้อยุติ”นายวิฑูรย์กล่าว
ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 7 ภูมิภาค ได้ยื่นข้อเสนอกระทรวงอุตสาหกรรมใน 3 ข้อ คือ 1.ห้ามนำเข้าวัตถุดิบแร่ใยหินและสินค้าที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบภายในระยะเวลา 3 เดือน 2.ห้ามผลิต จำหน่าย ส่งออก วัตถุดิบแร่ใยหินภายในระยะเวลา 6 เดือน และ 3.ห้ามผลิต จำหน่าย ส่งออก สินค้าที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบภายในระยะเวลา 1 ปี
ตามหนังสืออ้างว่า ปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ ที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเมโสเทรีโอมา โรคมะเร็งปอด และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ขณะนี้ประชาชนที่เสียชีวิตจากแร่ใยหินมากกว่าปีละ 107,000 คน และประชาคมโลกมากกว่า 47 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกการใช้
ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัด 17 จังหวัด เพื่อร่างแบบฟอร์มการทำตามนโยบายรัฐบาล และรัฐมนตรี เกี่ยวกับการบังคับใช้กฏหมายเชิงรุกที่จากนี้ไปอุตสาหกรรมจังหวัดจะต้องรอบรู้ในเชิงเศรษฐกิจในทุกเรื่อง รวมถึงแหล่งลงทุน กากอุตสาหกรรม เหมืองแร่ จำนวนโรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อได้ข้อสรุปก็จะขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยข้อมูลทั้งหมดจะเสร็จภายใน 1 มี.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น