xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์ยุทธศาสตร์แดงทำลายธรรมะทหาร

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

ตั้งแต่ 25 มกราคม 2554 เป็นต้นมา แกนนำระดับแม่ทัพหน้ากองทัพแดงของทักษิณ ที่ยังหวังว่าการปฏิวัติประชาชนเพื่อตัวเขาต้องสำเร็จ จึงเพียรทำการนี้มาหลายครั้ง หนักบ้างเบาบ้าง แต่ที่หนักที่สุดคือ ยุทธวิธีปฏิวัติแดงพฤษภาคม 2553 ที่ทำลายความเป็นไทยไปได้มากโข โดยเฉพาะความสามัคคีของคนในชาติ ได้ปล่อยข่าวทำลายกองทัพ โดยหวังให้ประชาชนหมดศรัทธา และไม่หวังพึ่งทหาร

นายจตุพร พรหมพันธุ์ กุเรื่องว่ามีทหารยศพลเอก ร่วมประชุมกันหลายคน วางแผนทำรัฐประหารขจัดอำนาจรัฐของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนพรรคร่วมรัฐบาล ในเงื่อนไข 4 ประการ ได้แก่ ความแตกแยกของคนในชาติ การเสียดินแดนและศักดิ์ศรีคนไทยกรณีเขาพระวิหาร และเขตแดน ปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแตกแยกในกองทัพจากเรื่องผลการสลายการชุมนุม แถมมีคนตาย 91 ศพ

จนถึงวันนี้นายจตุพร ก็ยังไม่เลิกที่จะเน้นย้ำเรื่องนี้ แม้กระทั่ง ผบ.ทบ.ออกมายืนยันว่าทหารไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำรัฐประหารไม่เคยคิดแม้แต่น้อย

นายจตุพร ฉวยโอกาสที่ขณะนี้เกิดการชุมนุม 2 ก๊ก ทั้งแดงและเหลือง เป็นแรงกดดันทางการเมืองสองแนวที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลเผชิญอยู่ รวมทั้งที่นายจตุพร ใช้ความพยายามที่จะแสวงและสร้างจุดร่วมผลประโยชน์กับก๊กคนเสื้อเหลือง ในความสามัญร่วมเรื่องประชาธิปไตย และการจัดฉากของตำรวจที่ใช้ทำลายภาพลักษณ์ของผู้ชุมนุมทั้งสองก๊ก

โดยปกติในปัจจุบันอำนาจรัฐเป็นอำนาจอธิปไตยเกิดจากพลังประชาชนเป็นหลัก ในการปกครองสังคมให้เกิดความมั่งมีศรีสุข สงบ ยุติธรรม และเป็นไปตามครรลองศาสนา ดูเป็นเรื่องง่ายแต่ยากในการปฏิบัติ เพราะโครงสร้างจิตมนุษย์มีความซับซ้อนมากเกินหยั่งถึง เมื่อ 2,554 ปีมาแล้วพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และสั่งสอนให้มนุษย์รู้จักจิตใจและให้สามารถควบคุมจิตใจตัวเอง แต่มนุษย์ก็ยังไม่ได้เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนและปรารถนาไว้ มนุษย์ยังมีกิเลสอันเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ความดีเจาะลึกถึงแก่นจิตวิญญาณของตัวมนุษย์เองและทำแต่ความดี

เกิดแกนอำนาจรัฐของทุกสังคมโลกจึงมีลักษณะเป็นไตรภาคี คือกลุ่มขวา กลุ่มกลางและกลุ่มซ้าย จนเราสามารถตั้งสมมติฐานได้ว่ากลุ่มขวาจะมีความคิด ความต้องการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเข้มข้น และเจือจางจนถึงกลุ่มกลางที่มีความคิดเอนเอียงขวาซ้ายตามเหตุผลและจังหวะเวลา ในทางกลับกันกลุ่มซ้ายก็จะต่อต้านความคิด ความต้องการของกลุ่มขวามีความเข้มข้นจากมากมาหาน้อยสู่กลุ่มกลางซึ่งเป็นตัวแปรในการสร้างความสมดุล

อำนาจรัฐเกิดจากพลังของบุคคล กับพวกที่มีอำนาจได้จากการชนะศึก ในอดีตก็สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์หรือจักรพรรดิ สร้างราชวงศ์ปกครองแผ่นดิน จนถึงยุคปรัชญากรีก ทั้งพลาโต และอริสโตเติลลูกศิษย์ มีแนวคิดเรื่องสาธารณรัฐที่ชนชั้นนำเป็นปัญญาชน เกิดรัฐสภาเป็นเวทีแสดงความคิดเห็น และเลือกทางที่คนหมู่มากยอมรับเรียกว่าประชาธิปไตย และช่วงศตวรรษที่ 18 เกิดพลังประชาชนที่มีอำนาจเลือกผู้แทนตัวเองปกครองบ้านเมืองแทนอำนาจเผด็จการกษัตริย์เช่นปฏิวัติฝรั่งเศส

ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงรุนแรงทุกครั้ง เมื่อผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจรัฐล้ำเส้นความอดทนของมนุษย์ เช่น การปกครองแบบโหดเหี้ยม ไร้ความยุติธรรม ลบหลู่เสียงข้างน้อย ข่มเหงรังแกสร้างความเดือดร้อนแร้นแค้น สังคมก็จะเกิดการรวมตัวของแกนทั้งสามที่เป็นเจ้าของอำนาจรัฐตัวจริงหรือประชาชนโค่นล้มอำนาจไม่บริสุทธิ์นั้น เช่น พระมหากษัตริย์ที่ขาดทศพิธราชธรรม หรือผู้นำชาติที่ไร้คุณธรรม โหดเหี้ยมและคดโกง ก็จะถูกโค่นลงครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในทางกลับกัน หากชาติใดมีพระมหากษัตริย์ที่สร้างบารมีบริสุทธิ์ด้วยทศพิธราชธรรมและคุณธรรมอื่นๆ ก็จะเป็นแสงสว่างนำชาติประชาชนสู่ความผาสุก ร่มเย็นและมั่งคั่ง เช่น ในหลวงของคนไทย

ตัวอย่างที่ตูนิเซียจนถึงอียิปต์ เมื่อเกิดช่องว่างของสังคม ผู้นำครองอำนาจอย่างไม่มีความสมดุล ผู้คนไร้งานทำ ไร้ธรรมะหรือเมื่ออยู่ในอำนาจเด็ดขาดนานเกินควร เช่น ประธานาธิบดีมูบารัก ที่ครองอำนาจกว่า 30 ปี จนคิดว่าตัวเองคืออียิปต์ไม่ปล่อยวาง

ระบบการปกครองของสหรัฐฯ พบว่าการมีอำนาจนานเกินไปจะเกิดวิกฤตศรัทธา และผู้นำมีพฤติกรรมอัตตานิยม เมื่อประธานาธิบดีแฟรงกลิน รูสเวลท์ ประธานาธิบดีคนที่ 32 ชนะการเลือกตั้งถึง 4 สมัย อยู่ในอำนาจนาน 12 ปี แม้ตัวประธานาธิบดีจะเป็นคนดี แต่คนรอบด้านท่านมักจะหวงอำนาจ และสร้างเกราะป้องกันฝ่ายตรงข้าม จึงมีการแก้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ 22 ให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีวาระไม่เกิน 2 สมัย หรือ 8 ปี เท่านั้น อันเป็นการเปิดโอกาสให้สิ่งใหม่ๆ จากคนอื่นเกิดขึ้นในสังคม

สหรัฐฯ สามารถแก้ไขวิกฤตศรัทธาการเมืองที่อาจจะนำสู่การรัฐประหาร หรือการปฏิวัติลุกฮือต่อต้านอำนาจประธานาธิบดีและทำให้กลไกตรวจสอบอำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ มีความสมดุล ต่างฝ่ายต่างรู้จุดยุติการใช้อำนาจ

พฤติกรรมสังคมการเมืองประชาธิปไตยเช่นนี้ เกิดขึ้นโดยประชาชนในอังกฤษเช่นกัน เมื่อวีรบุรุษสงคราม เซอร์ เชอร์ชิล แพ้การเลือกตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะคนอังกฤษต้องการแนวคิดใหม่จากพรรคกรรมกร ยกเว้นบารอนเนส มาร์กาเรต แทตเชอร์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยุคศตวรรษที่ 20 นานที่สุด แต่ในที่สุดก็ต้องลาออก เพราะคนในพรรคตัวเองเริ่มเบื่อต่อนโยบายเดิมๆ ที่เข้มข้นเกินไป หรือแม้กระทั่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นนานเกินไปจนไม่มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น พรรคการเมืองรอบตัวท่านเริ่มแสวงหาอำนาจและกดดันท่านมากขึ้น

การรัฐประหารสมัยใหม่เกิดขึ้นเมื่อ นโปเลียน โบนาปาร์ตเห็นว่ารัฐธรรมนูญของคณะปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1775 เป็นเผด็จการมากเกินไป เพราะให้อำนาจเฉพาะชนชั้นผู้นำกลุ่มเล็กๆ การเก็บภาษีไม่ยุติธรรม ขั้นตอนการออกกฎหมายซับซ้อน และไม่ให้เสรีภาพสื่อมวลชน และจำกัดการมีสมาคมของกลุ่มคน จึงยึดอำนาจในปี 1779

รัฐประหารคือการยึดและขจัดอำนาจรัฐบาลอย่างเด็ดขาด รวดเร็วด้วยกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลแต่ไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบอบการปกครองชาติ ประวัติการรัฐประหารของไทยแล้วซับซ้อนกว่าแนวคิดของเอ็ดเวิร์ด ลัทวัต เจ้าตำรับคู่มือการรัฐประหาร เพราะเงื่อนไขในการรัฐประหารของไทยนั้นเงื่อนไขต้องชัดเจน และเป็นกระทำการเพื่อประเทศชาติ ประชาชน และไม่ทำลายรากเหง้าของชาติ

ดังนั้น การรัฐประหารในไทยที่ทำเพื่อตัวเองและพวก ล้มเหลวทุกครั้ง และส่วนหนึ่งส่วนใดของกองทัพหรือกลุ่มบุคคลจะกระทำการรัฐประหารในวันนี้มิใช่เรื่องง่าย แต่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทุกเหล่า และประชาชนส่วนใหญ่ จึงจะสำเร็จ

ทหารจะรัฐประหารซึ่งเป็นบทสุดท้ายของรัฐศาสตร์ ก็เพื่อต้องดำรงชาติไว้ให้ได้ มิให้สิ้นชาติ หรือเกิดสงครามกลางเมือง เป็นเมืองโจร หรือประชาชนตกอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด ไร้อำนาจรัฐในการดูแลชีวิต ทรัพย์สินและความเป็นอยู่ของประชาชน หรือมีคนกระทำการใดๆ ก็ตามเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองที่ขัดแย้งกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของชาติ

ยุทธศาสตร์การสร้างเรื่อง ว่าทหารจะปฏิวัติของนายจตุพร เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าเขามีความปรารถนาให้ประชาชนขาดความมั่นใจและศรัทธาในกองทัพ วาดภาพว่ากองทัพต้องการอำนาจการปกครอง และทหารรัฐประหารจะทำลายเศรษฐกิจและบรรยากาศการลงทุนและท่องเที่ยว เขาพยายามที่จะแยกนักวิชาการให้ออกจากทหาร พยายามที่จะแยกนักธุรกิจออกจากทหาร พยายามที่จะโดดเดี่ยวทหาร พยายามที่จะมัดมือมัดเท้าทหารในกรณีที่เขาจะนำเสื้อแดงโค่นล้มระบอบการปกครองของไทยเพื่อทักษิณ

แต่ที่สำคัญนายจตุพร ต้องการตีให้กองทัพแตกกัน เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องการทำให้ทหารต้องสงบปากสงบคำ ไม่วิจารณ์เหตุการณ์ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือล่วงเกินสถาบัน

ยุทธศาสตร์นี้จึงเป็นอันตรายต่อชาติบ้านเมือง แต่ขอรับรู้ว่าทหารที่ดีทุกคนมีวินัย มีวิจารญาณ มีธรรมะ จงรักภักดี รักประชาชน ต้องการให้ประชาชนมั่งมีศรีสุขกันทั่วหน้า ไม่มีใครอยากให้ไทยเป็นรัฐล้มเหลว ทหารจึงต้องป้องกันวิกฤตนี้ด้วยชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น