xs
xsm
sm
md
lg

เปิดข้อมูลเพิ่ม“เบตง”นำร่องเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ขณะที่รัฐบาลขับเคลื่อนมาตรการดับไฟใต้ในทิศทาง “การเมืองนำการทหาร” ซึ่งในปี 2554 จะเพิ่มระดับความเข้มข้นทุกขณะ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็พยายามสร้างแรงต้านโดยยังคงก่อเหตุเพื่อหล่อเลี้ยง “อาณาจักรความกลัว”การจัดกิจกรรมขยายผลหลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยในวันที่ 17 มกราคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เพื่อติดตามสถานการณ์ พร้อมเป็นประธานกดปุ่มโอนเงินโครงการเพิ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตในหมู่บ้าน หรือ พนม. จำนวน 2,281 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 228,000 บาท เป็นเงิน 512 ล้านบาท ในพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ก็ต้องถือเป็นกิจกรรมเชิงปจว.ในการดึงมวลชนของภาครัฐ

ความพยายามสร้าง “Green Zone” หรือพื้นที่ซึ่งมีความปลอดภัยภายใต้แนวทางยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ อ.แม่ลาน และเตรียมจ่อเสนอยกเลิกเพิ่มเติมใน อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เพื่อแสดงถึงการ “สถาปนาอำนาจรัฐ”นั้นก็คือการรุกคืบอย่างแหลมคมของภาครัฐ โดย “นายถาวร เสนเนียม”รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในระหว่างเส้นทางก่อนถึงสันติภาพความสูญเสียก็ยังจะคงมีอย่างปฏิเสธไม่ได้ การเดินหน้าต่อของนายถาวร ในการเพิ่ม พื้นที่นำร่องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อกลับมาใช้กลไกกฎหมายตามปกติ

เอกสารข้อมูลซึ่งมีการสรุปและชงให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกมีรายละเอียดน่า สนใจคือ ประเมินข้อดีว่า

1.การนำร่องในพื้นที่ จ.ยะลา จะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาได้ เช่นเดียวกับ จชต.อื่นๆ ซึ่งภาครัฐต้องการให้เป็นไปตามขั้นตอน โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เช่น อ.เบตง

2.ลดกระแสเกี่ยวกับความรุนแรงของการบังคับใช้กฎหมายตามข้อกำหนดการปฏิบัติตาม กฎอัยการศึกและตามพระราชกำหนดฯ ของฝ่ายทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ลง

3.การนำข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาบังคับใช้จะมีความเหมาะสมกว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ เป็นกฎหมายพิเศษที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน น้อยกว่าพระราชกำหนดฯ รวมทั้งมีลักษณะพิเศษให้ประชาชนที่หลงผิดเข้ารายงานดังกล่าวได้

4.ตอบสนองนโยบายรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี/ผอ.รมน.ที่กำหนดข้อสั่งการเร่งด่วนด้านความมั่นคง ในการพิจารณายกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดฯ ในพื้นที่ โดยนำกฎหมายปกติมาบังคับใช้ปฏิบัติ

5.สามารถสร้างความเชื่อมั่นในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน นักธุรกิจ ให้สามารถประกอบธุรกิจได้ เช่น ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ (มาเลเซีย) ด้าน อ.เบตง

6.สร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประชาชนและสายตาชาวโลกว่ารัฐบาลไทย สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้

7.ตรงตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ใน อ.เบตง ในพื้นที่สามารถประกอบศาสนกิจได้สะดวก โดยไม่กังวลต่อการปฏิบัติผิดกฎหมายทั้งศาสนาพุทธและอิสลาม โดยเฉพาะชุมชนชาวจีน

ขณะเดียวกันยังมีการประเมินข้อกังวลในประเด็นดังนี้

1.ความพร้อมขององค์กร ในระดับอำเภอ ตำบล โดยเฉพาะเขตเทศบาลเมืองเบตง และอบต.ทั้ง 4 แห่งอาจยังไม่พร้อมเต็มที่ในการให้ภาคประชาชนรับผิดชอบงานด้านรักษาความมั่น คงตนเองได้ทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีการประชุมอบรมข้าราชการ ตำรวจ กำลังประจำถิ่นของฝ่ายปกครองให้ทราบแนวทางปฏิบัติประสานงานกับฝ่ายตำรวจ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบด้วย

2.ประชาชนบางส่วนโดยเฉพาะชาวไทยพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีนที่เป็นนักธุรกิจ ซึ่งเป็น Soft Target อาจขาดความมั่นใจในสวัสดิภาพของตนเอง ซึ่งทั้ง 5 ตำบลมีชาวไทยพุทธอยู่ประมาณ 43% ของประชากรในพื้นที่ รัฐต้องทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นแก่กลุ่มคนเหล่านี้

3.รัฐบาลและจังหวัดควรสนับสนุนท้องที่และท้องถิ่น ต้องจัดตั้งงบประมาณมากขึ้น เพื่อการสนับสนุนการป้องกันชีวิตทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีกองกำลังปฏิบัติหน้าที่ในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้านมากขึ้น รวมทั้งการจัดฝึกอบรมอาสาสมัครหมู่บ้าน /ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านหรือสนับสนุนอาวุธปืนลูกซองเพิ่มขึ้นแก่ ประชาชน/ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเพิ่มเติม

4.ในแง่ของความสะดวกในการก่อเหตุในพื้นที่ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ อาจสามารถเคลื่อนไหวปฏิบัติการหรือก่อเหตุได้ง่ายขึ้นเพราะการลดกองกำลัง ทหารลง รวมทั้ง อาจก่อเหตุทันทีในท้องที่ เมื่อประกาศยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.

5.ชาวไทยพุทธและนักธุรกิจทั้งชาวไทยและมาเลเซียที่เข้ามาลงทุน เกรงว่าอาจจะตกเป็นเป้าหมาย เพราะพื้นที่ อ.เบตงล้อมรอบด้วยภูเขาติดชายแดนและพื้นที่ใกล้เคียงมีการก่อเหตุรุนแรงอยู่ มาก คือ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส และ อ.ธารโต จ.ยะลา

อย่างไรก็ตาม การที่ นายถาวร เสนอให้ อ.เบตง เป็นอีกพื้นที่นำร่อง ก็เพราะ ข้อมูลสถานการณ์ความไม่สงบ ตั้งแต่ปี 2547-2554 พบว่า 2550 เกิดเหตุ 11 ครั้ง ปี 2551 เกิดเหตุ 2 ครั้ง ปี 2552 ไม่มีเหตุการณ์ ปี 2553 มีแนวความไม่สงบเพียงการก่อกวนในพื้นที่ 2 ครั้ง (เหตุเผายาง)และปี 2554 ยังไม่ปรากฏเหตุ

ขณะที่ความเห็นของส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนาและจังหวัด ซึ่งมีการจัดประชุมหารือปรากฏว่า ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยความเป็นอำเภอพื้นที่ขนาดเล็กลักษณะเป็นภูเขาสูง และมีทางเข้า-ออกอำเภอจำกัด จึงได้เตรียมการบริหารงานด้านความมั่นคงตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงไว้รองรับแล้ว โดยเฉพาะการจัดตั้งกองกำลังภาคประชาชน ซึ่งข้อมูลของทางการพบว่า มี กำลังประจำถิ่นประกอบด้วย ตำรวจ 384 นาย สมาชิก อส. 342 นาย ชรบ. 960 นาย อรบ./อรม. 1,560 นาย ทส.ปช.73 นาย อปพร. 522 นาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้านผู้ช่วยฯ 150 นาย รวม 3,991 นาย กองกำลังเหล่านี้จะมีการจัดอัตรากำลังและยุทธวิธีที่จะเข้าไปทำงานสอดรับ ทันทีที่ถอนทหารออก อย่างไรก็ตามในข้อเสนอเนื่องจากเป็นอำเภอชายแดน ก็จึงเห็นควรให้คงกำลังทหารสำหรับการป้องกันประเทศตามแนวชายแดนใต้พื้นที่ อ.เบตง หากสามารถสถาปนาอำนาจรัฐได้มั่นคงจะกลายเป็นโมเดลชุมชนสมานฉันท์ซึ่ง คนหลากเชื้อชาติไทย-มลายู-จีน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
กำลังโหลดความคิดเห็น