xs
xsm
sm
md
lg

หลักฐานนี้ ใบ้สนิท !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผมได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ “คำเตือนสุดท้าย ราชอาณาจักรไทยกำลังจะเสียดินแดน” และได้เตือนเอาไว้ล่วงหน้าถึงเหตุผลในตรรกะของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในเรื่องที่ว่า แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสไม่มาใช้สำหรับระวางดงรัก ดังนั้นแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ใน MOU 2543จึงไม่กระทบต่อเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาบริเวณเขาพระวิหาร เป็นตรรกะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดค้นขึ้นมาในภายหลังเพื่อเยียวยาความผิดพลาดของ MOU 2543 และไม่เป็นที่ยอมรับต่อทั้งกระทรวงการต่างประเทศของไทย ไม่เป็นที่ยอมรับกับกัมพูชา และไม่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติด้วย

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งให้ตรงกันว่า ที่พูดกันเสมอว่า “ศาลโลกไม่ได้พิพากษาและตัดสินแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000” นั้นเป็นความจริง เพราะศาลโลกได้พิพากษาเอาไว้เมื่อ พ.ศ. 2505 อย่างชัดเจนว่า

“คำแถลงสรุปข้อที่หนึ่งและข้อที่สองของกัมพูชาที่ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดในเรื่องสภาพทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 และในเรื่องเส้นเขตแดนในอาณาบริเวณที่พิพาท จะรับฟังได้ก็แต่เพียงฐานที่เป็นการแสดงเหตุผล และมิใช้เป็นข้อเรียกร้องที่จะต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ในทางตรงกันข้ามศาลเห็นว่าประเทศไทยนั้นหลังจากที่ได้แถลงข้อเรียกร้องของตนเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือพระวิหารแล้ว ได้จำกัดการต่อสู้คดีตามคำแถลงสรุปของตนจนจบกระบวนพิจารณาภาควาจาอยู่แต่เพียงการโต้แย้งและปฏิเสธเพื่อลบล้างข้อต่อสู้ของคู่ความฝ่ายตรงกันข้ามเท่านั้น โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะเลือกหาเหตุผลที่ศาลเห็นเหมาะสมซึ่งคำพิพากษาอาศัยเป็นมูลฐาน”

ข้อความข้างต้นนั้นคือข้อความสรุปสุดท้ายในการพิพากษาในคดีนี้ ซึ่ง “นักวิชาการ 7.1 ล้าน” มักจะไม่ค่อยกล่าวถึงข้อความนี้ในคำพิพากษาสุดท้ายของศาลโลก

ความหมายของคำพิพากษาท้ายสุดก็คือศาลโลกไม่ได้ตัดสินเรื่องแผนที่และสถานภาพของแผนที่ในคดีปราสาทพระวิหารเพราะถือว่าไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องของกัมพูชาตั้งแต่ตอนต้น แต่เป็นข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นมาภายหลัง ดังนั้นด้วยคำพิพากษานี้หากไม่มี MOU 2543 กัมพูชาจะไม่สามารถนำแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 มาใช้ได้ อย่างเด็ดขาดด้วยเหตุผลถึง 4 ประการ

1.ศาลโลกได้ตัดสินเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น แต่ไม่มีบทปฏิบัติการสำหรับการพิพากษาแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่ ดังนั้นกัมพูชาจึงไม่สามารถให้ศาลโลกขยายความคำพิพากษาเกินขอบเขตของคำพิพากษาได้
และประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยการล้อมรั้วปฏิบัติการเอาไว้ ซึ่งกัมพูชาก็ได้เข้าใจและยอมรับสภาพนั้นแต่โดยดีโดยไม่มีความคาดหวัง หรือ ร้องเรียนต่อศาลโลกที่จะบังคับให้ไทยต้องล้อมรั้วตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ได้แต่อย่างใด

2.ฝ่ายไทยเห็นว่าการตัดสินของศาลโลกไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้อง จึงได้ทำการประท้วงและสงวนสิทธิ์ในคำตัดสินนั้น
ซึ่งการสงวนสิทธิ์แม้กระทั่งคำตัดสินเฉพาะตัวปราสาทนั้นจึงไม่มีกำหนดระยะเวลา กัมพูชาจึงย่อมเข้าใจดีว่าไม่ใช่เพียงแค่แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ไม่ได้รับการพิพากษาจากศาลโลกเท่านั้น แม้แต่ตัวปราสาทพระวิหารฝ่ายไทยก็ยังสงวนสิทธิ์ที่จะทวงคืนในอนาคตอีกด้วย

3.ฝ่ายไทยไม่ต่ออายุคำประกาศยอมรับการบังคับอำนาจของศาลโลก ซึ่งหมดอายุลงในระหว่างการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร
คดีปราสาทพระวิหารจึงเป็นคดีสุดท้ายที่ฝ่ายไทยจะยอมรับการบังคับอำนาจของศาลโลก ดังนั้นกัมพูชาจึงไม่มีโอกาสที่จะขึ้นศาลโลกอีกครั้งเพื่อขยายผลไปถึงแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ได้อีกหากฝ่ายไทยไม่ยินยอม กัมพูชาจึงย่อมตระหนักดีว่าไม่มีโอกาสที่จะใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 กับไทยได้อีกผ่านเวทีของศาลโลกหรือเวทีอื่นใด

4.ฝ่ายกัมพูชาไม่สามารถที่จะรุกล้ำตามที่ฝ่ายไทยตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ได้ เพราะแสนยานุภาพทางการทหารไทยสูงกว่ากัมพูชามาก


แม้ว่าฝ่ายไทยและกัมพูชาจะยอมรับว่า ศาลโลกไม่ได้ตัดสินแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่คนไทยควรจะตระหนักด้วยว่า “การบรรยายเหตุผล” ก่อนถึงคำพิพากษาสุดท้ายของศาลโลกนั้น ศาลโลกได้อ้างอิงกฎหมายปิดปาก ที่ฝ่ายไทยไม่ได้ปฏิเสธและนิ่งเฉยกับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งทำให้ฝ่ายไทยต้องเสียเปรียบ มาเป็น “มูลฐาน” ในการตัดสินตัวปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา

ไม่ว่าฝ่ายไทยจะคัดค้านว่า แผนที่ฉบับนี้ไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศสแต่เป็นผลงานของฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยสยามไม่เคย “เซ็นรับ” แผนที่ดังกล่าวก็ดี หรือจะคัดค้านว่าแผนที่ดังกล่าวนั้นมีความผิดพลาดไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์หรือขัดแย้งกับแนวสันปันน้ำก็ดี ศาลโลกก็ไม่ได้ให้น้ำหนักเหนือไปกว่ากฎหมายปิดปากในเรื่องที่ฝ่ายไทยไม่ปฏิเสธแผนที่ดังกล่าว ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นสาระสำคัญที่ฝ่ายไทยเห็นว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งในการตัดสินครั้งนี้

แต่เนื่องจากศาลโลกได้ตัดสินจำกัดขอบเขตอยู่เพียงแค่ตัวปราสาทพระวิหาร และไม่พิพากษาเกินขอบเขตไปถึงแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 อีกทั้งกัมพูชาไม่สามารถจะใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 กับไทยได้อีกเลยตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กัมพูชาจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆกับการ “บรรยายเหตุผล”ก่อนถึงคำพิพากษาสุดท้ายของศาลโลกได้อีกเลยหากไม่มี MOU 2543


แต่ทันทีมีชื่อเรียก แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ขึ้นมาบนโต๊ะเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชาผ่าน MOU 2543 อีกครั้งทำให้กัมพูชาย่อมอยู่ในสถานภาพที่ได้เปรียบกับไทยดังนี้

1.กัมพูชาสามารถยกสถานภาพของแผนที่มาตราส่วน 1:20,000 ที่ไทยเสียเปรียบและไม่เคยยอมรับ ให้กลับมาเป็นข้อผูกพันในการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

2.จากเดิมที่ศาลโลกได้ตัดสินจำกัดขอบเขตของศาลโลกอยู่เฉพาะแค่ตัวปราสาทพระวิหาร ทำให้กัมพูชาสามารถสามารถอ้าง MOU 2543 ควบคู่ “การบรรยายเหตุผล”คำพิพากษาของศาลโลก พ.ศ.2505 ว่าฝ่ายไทยและกัมพูชาได้ลงนามผูกพันให้พิจารณาแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ในข้อ 1 (ค) เป็นครั้งแรก ทำให้กัมพูชาสามารถนำการบรรยายคำพิพากษาในเรื่องกฎหมายปิดปากแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 มาเป็นมูลฐานที่ตัดสินตัวปราสาทพระวิหารให้อยู่บนพื้นที่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ซึ่งศาลโลกได้เคยพิจารณาว่าอยู่เหนือเหตุผลอื่นที่ฝ่ายไทยเคยคัดค้านมาทั้งหมดเอาไว้แล้ว

MOU 2543 จึงถือเป็นการทลายขอบเขตคำพิพากษาศาลโลก พ.ศ. 2505 ที่จำกัดเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร ให้กัมพูชาสามารถขยายลามไปถึงผลกฎหมายปิดปากในเรื่องแผนที่และสถานภาพของแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งต้องทำให้ฝ่ายไทยต้องเสียเปรียบ ในเวทีการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชาเป็นครั้งแรก

3.แม้สมมุติว่าฝ่ายไทยไม่ยินยอมจะใช้แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ในระวางดงรัก แต่กัมพูชาอาศัย MOU 2543 ควบคู่ไปกับ การอ้างอิงการบรรยายเหตุผลคำพิพากษาของศาลโลก พ.ศ. 2505 ในเวทีคณะกรรมการมรดกโลก เพราะฝ่ายไทยจะไม่สามารถอ้างขอบเขตคำตัดสินของศาลโลกนั้นจำกัดเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารได้อีกต่อไป เพราะใน MOU 2543 มีข้อความให้พิจารณาแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ด้วย ทำให้กัมพูชาสามารถนำการบรรยายเหตุผลคำพิพากษาของศาลโลกในเรื่องกฎหมายปิดปากในเรื่องแผนที่ดังกล่าวที่ใช้เป็น “มูลฐาน” ในการตัดสินตัวปราสาทพระวิหารให้เป็นของกัมพูชาไปชี้แจงกับคณะกรรมการมรดกโลก ทำให้ฝ่ายไทยต้องเสียเปรียบให้นานาชาติยอมรับเป็นครั้งแรก

เหตุผลดังกล่าวนี้กัมพูชาใช้ได้ผลมาแล้วในเวทีคณะกรรมการมรดกโลก ที่กล่าวร้ายประเทศไทยว่า ทหารไทยรุกรานกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 จนองค์การยูเนสโกได้ให้เงินกัมพูชามาสร้างตลาดกัมพูชาในดินแดนประเทศไทยมาแล้ว

4.กัมพูชาสามารถใช้ MOU 2543 ที่กำหนดว่าหากมีข้อพิพาทให้ใช้การเจรจาโดยสันติวิธี ทำให้กัมพูชาใช้เงื่อนไขนี้มัดแสนยานุภาพทางการทหารของไทยเอาไว้ แล้วดำเนินการรุกราน และยึดครองดินแดนไทยเอาไว้อย่างง่ายดาย
จึงเท่ากับกัมพูชาได้ยึดครองดินแดนไทยในทางปฏิบัติ อีกทั้งกัมพูชายังได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 บริเวณเขาพระวิหารเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2550 (หลังมี MOU 2543) และพยายามดันให้นานาชาติรับรองผ่านเวทีคณะกรรมการมรดกโลกอีกด้วย

การแถลงการณ์ของกัมพูชาที่ตอบโต้ฝ่ายไทยฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 คือหลักฐานชัดเจนอย่างที่สุดว่า กัมพูชาได้ใช้หลักการข้างต้น โดยอ้าง MOU 2543 ที่มีสภาพบังคับให้นำเอาแผนที่ 1: 200,000 มาพิจารณาเป็นข้อผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชา ในข้อ 1(ค)ของ MOU 2543 กัมพูชาจึงได้สบโอกาสใช้แผนที่ 1:200,000 ใน MOU 2543 ควบคู่ไปกับ “การบรรยายเหตุผล”ในคำพิพากษาของศาลโลกคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 เรื่องกฎหมายปิดปากที่ประเทศไทยไม่ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 มาเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าเส้นเขตแดนตาม MOU 2543 ย่อมหมายถึงแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แถลงการณ์ของกัมพูชาทำให้ฝ่ายไทยแทบไปไม่เป็น เพราะถือเป็นแถลงการณ์ที่ประจานความเลวร้ายใน MOU 2543 ที่จะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนอย่างชัดเจนที่สุด

เพราะหากไม่มี MOU 2543 กัมพูชาจะได้เพียงแค่คำพิพากษาของศาลโลกสุดท้ายที่จำกัดเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น และไม่สามารถอ้างการบรรยายเหตุผลในคำพิพากษาศาลโลกได้ในเวทีไหนเลย เพราะไม่เคยมีข้อผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชาให้พิจารณาแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 มาก่อน

MOU 2543 จึงเสมือนข้อผูกพันที่ขยายผลคำพิพากษาศาลโลก พ.ศ. 2505 ที่เดิมจำกัดเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร ให้ขยายผลลามไปถึงแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เป็นครั้งแรก ทั้งในเวทีการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา และในเวทีนานาชาติที่ต้องทำให้ไทยต้องเสียเปรียบอย่างชัดเจนที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น