ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
กรณีตัวอย่างแผ่นหินกล่าวร้ายและประจานไทยในบริเวณวัดแก้วสิขะคีรีสะวาราในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เห็นเป็นตัวอย่างได้ว่า ประเทศไทยสามารถใช้วิธีการ “นอกกฎเกณฑ์ของ MOU 2543” ที่สามารถทำให้กัมพูชาต้องยอมทุบรื้อทิ้งแผ่นหินที่ประจานไทยได้ในที่สุด
จากวิธีการเจรจาในเบื้องต้นด้วย MOU 2543 ผลปรากฏว่ากัมพูชาได้รื้อถอนป้ายภาษาเขมรว่า “ณ จุดนี้ที่ทหารไทยรุกล้ำ” แต่กัมพูชาได้ใช้วิธีกวนประสาทด้วยการเปลี่ยนเป็นป้ายใหม่เป็นภาษาเขมรและแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Here! is Cambidia” หรือ “ที่นี่! คือประเทศกัมพูชา”
แน่นอนเป็นที่สุดว่ากรณีนี้กัมพูชาได้เป็นฝ่าย “เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม” ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดต่อ ข้อ 5 ใน MOU 2543 ก่อน และกัมพูชาไม่ได้เพิ่งทำเฉพาะการสร้างแผ่นหินเท่านั้น แต่ยังปรากฏทั้งการสร้างถนน สร้างวัด สร้างตลาด สร้างชุมชน และสำแดงอำนาจอธิปไตยกัมพูชาบนผืนแผ่นดินไทยด้วยการเชิญธงชาติกัมพูชาขึ้นสู่ยอดเสาหน้าทางเข้าบริเวณวัดแก้วสิขะคีรีสะวารา
แต่เนื่องจาก ป้ายหินที่แกะสลักเป็นอย่างดีเพื่อกล่าวร้ายประเทศไทย นั้นเป็นการทำลายศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของชาติไทยให้เห็นเด่นชัดเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ทหารไทยซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลได้ดำเนินการตอบโต้ด้วยการละเมิด MOU 2543 กลับโดยทันที
ฝ่ายทหารไทยเริ่มต้นด้วยการทำป้ายว่า “ที่นี่คือประเทศไทย” เพียงข้อนี้ก็ถือว่าเป็นการดำเนินการของประเทศไทยที่ “เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม” ซึ่งถือว่าเป็นการขัดต่อข้อ 5 ของ MOU 2543 เช่นเดียวกับที่กัมพูชาได้ละเมิดเอาไว้ก่อนหน้า
นอกจากนี้ฝ่ายทหารไทยยังได้ดำเนินการต่อด้วยการติดอาวุธประจำกายและพร้อมปะทะและพร้อมรบในระดับสูงสุด หมายความว่าทหารไทยได้ “เตรียมใช้กำลังทหารเข้าต่อสู้” ซึ่งถือว่าเป็นการขัดต่อข้อ 8 ของ MOU 2543 ที่ระบุให้ใช้การปรึกษา หารือ และสันติวิธีในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา
เพียงแค่ประเทศไทยได้ใช้วิธี “ละเมิด MOU 2543” เพื่อหยุดยั้งการละเมิด MOU 2543 ของกัมพูชา จนกัมพูชาต้องยอมสยบและดำเนินการทุบแผ่นป้ายหินบนวัดแก้วสิขะคีรีสะวาราโดยทันที และเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า หากฝ่ายไทยปฏิบัติตามเงื่อนไขใน MOU 2543 ประเทศไทยจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการละเมิดอธิปไตยครั้งนี้ได้เลย
และการแก้ไขปัญหาของไทยด้วยการ “ไม่ปฏิบัติตาม MOU 2543” เป็นการตอบโต้กลับที่ไม่เกิดสงครามแต่อย่างใด
เหตุการณ์เล็กๆครั้งนี้ บทพิสูจน์ยืนยันให้เห็นว่าทหารไทยมีแสนยานุภาพทางการทหารสูงกว่ากัมพูชาอย่างเทียบกันไม่ได้ หากไม่ติดเงื่อนไขใน MOU 2543 หรือไม่มี MOU 2543 กัมพูชาจะไม่มีโอกาสที่จะมาละเมิดอธิปไตยไทยได้อย่างแน่นอน และหากมีการละเมิดอธิปไตยไทยเมื่อใด ทหารไทยก็จะสามารถผลักดันและทวงคืนอธิปไตยไทยได้อย่างไม่ยากเย็น
และด้วยแสนยานุภาพทางการทหารของไทยที่สูงกว่ากัมพูชาอย่างมาก จึงไม่มีทางจะเกิดสงครามระหว่างไทย-กัมพูชาได้ อย่างมากสุดก็คือมีการปะทะกันแล้วต้องกลับมาสู่โต๊ะเจรจากันทุกครั้ง เพราะอย่างไรเสียกัมพูชาย่อมเป็นฝ่ายเสียเปรียบไทยในทางทหารอยู่แล้ว และไม่สามารถจะต่อกรกับฝ่ายไทยได้เลย
และการเจรจาที่ประเทศไทยสามารถพร้อมใช้แสนยานุภาพทางการทหารเมื่อใด อำนาจการเจรจาของไทยไม่มีทางจะเสียเปรียบกับกัมพูชาได้ ดังที่ปรากฏอยู่ทั่วโลกมาช้านานว่า
“อำนาจต่อรองบนโต๊ะการเจรจา ขึ้นอยู่กับแสนยานุภาพทางการทหารของคู่เจรจา”
เหมือนกับสยามประเทศต้องยอมย้ายหลักเขตที่ 73 ร่นเข้ามาในดินแดนสยามโดยไม่เป็นไปตามสนธิสัญญาและไม่มีสงคราม เพราะฝรั่งเศสมีแสนยานุภาพสูงกว่าสยามอย่างเทียบกันไม่ได้
เพียงแต่ว่าในทุกวันนี้กัมพูชาได้อาศัย MOU 2543 เป็นพันธนาการมัดแสนยานุภาพทางการทหารของไทยเอาไว้จนมั่นใจว่าใช้งานไม่ได้ ทำให้ประเทศเล็กๆอย่างกัมพูชาเหิมเกริม รุกล้ำ ยึดครองดินแดนไทย และสำแดงอธิปไตยของกัมพูชาเหนือดินแดนไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ทั้งนี้ความผิดพลาดใหญ่ 3 ประการของ MOU 2543 คือ
1. ยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ซึ่งฝ่ายไทยเสียเปรียบใน “การบรรยายคำฟ้อง”ของศาลโลกเพราะเป็นแผนที่ดังกล่าวประเทศไทยโดนกฎหมายปิดปากเพราะนิ่งเฉยและไม่คัดค้านจนกลายเป็นเป็นมูลฐานสำคัญทำให้ไทยต้องเสียตัวปราสาทพระวิหาร ในคำพิพากษาของศาลโลก พ.ศ. 2505 ซึ่งแผนที่ดังกล่าวได้กลับมาใช้บนโต๊ะเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชาเป็นครั้งแรก
2. ห้ามเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในระหว่างการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ทำให้กัมพูชาที่เป็นฝ่ายมารุกล้ำและอพยพมาอยู่ในดินแดนไทยก่อนหน้านั้นสามารถยึดครองดินแดนไทยได้ไม่มีกำหนดระยะเวลาตราบใดการเจรจานั้นไม่เป็นไปตามที่กัมพูชาต้องการ เป็นผลทำให้ชุมชนชาวกัมพูชาเติบโตและขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. หากมีข้อพิพาทให้ใช้วิธีการปรึกษาหารือ และเจรจา โดยสันติวิธี ซึ่งทำให้กัมพูชารุกล้ำ ยึดครองดินแดนไทย และละเมิด MOU 2543 โดยกัมพูชาเลือกแนวทางการดื้อแพ่ง สู้ด้วยปากและรบกับไทยด้วยจดหมาย ที่ทำอย่างไรเสียกัมพูชาก็ไม่มีทางพ่ายแพ้ฝ่ายไทยอยู่แล้ว
หนังสือจดหมายจำนวนมากที่ประเทศไทยประท้วงกัมพูชาไปหลายสิบครั้งโดยที่กัมพูชาไม่สนใจในการละเมิดอธิปไตยของไทย จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะต้องนำมาใช้ในการเป็นเหตุผลสำคัญในการที่จะยกเลิก MOU 2543 กับกัมพูชา โดยสามารถอ้างการละเมิดของกัมพูชาอยู่ตลอดเวลา ทั้งการสร้างสิ่งปลูกสร้าง การขยายชุมชน ฯลฯ
เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป ชุมชนกัมพูชาจะขยายเติบโตยึดครองดินแดนไทยมากขึ้น สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะเหลือแค่ 2 ทางเลือก คือ
1.สูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนไทยเป็นการถาวร เพราะผลักดันชุมชนชาวกัมพูชา
ไม่ได้แล้วเนื่องจากมีการขยายตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนเกินไป
หรือ 2. รักษาอธิปไตยเหนือดินแดนไทยเอาไว้ได้ แต่เกิดการสูญเสียอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่ควรจะเป็นเพราะปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป
ความจริงแล้วการยกเลิก MOU 2543 ไม่ใช่เพื่อนำไปสู่สงคราม แต่จะนำไปสู่สถานการณ์ใหม่ ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถนำแสนยานุภาพทางการทหารนำมาต่อรองเจรจากับกัมพูชา เพื่อเริ่ม MOU ฉบับใหม่ (MOU 2554) ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมกับคนทั้งสองประเทศ อุดรอยรั่วในความผิดพลาดทั้งปวงที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียหายในช่วงเวลาที่ผ่านมา
แสนยานุภาพที่ฝ่ายไทยมีมากกว่ากัมพูชา หากไทยมี “ความพร้อมรบโดยไม่มีพันธนาการ” และสามารถนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อใด นอกจากจะสามารถปกป้องรักษาอธิปไตยของชาติเอาไว้ได้แล้ว ยังสามารถสยบความขัดแย้งตามแนวชายแดนไทยได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
เพราะแสนยานุภาพทางการทหารที่ไทยได้สะสมด้วยงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลนั้นมีไว้ก็เพื่อเป็นหลักประกันเพื่อที่ไม่ให้ประเทศใดมารุกราน รุกล้ำ ยึดครองอธิปไตยของชาติไทย และแสนยานุภาพทางการทหารของไทยที่สูงกว่ากัมพูชาอย่างมากก็เป็นหลักประกันได้ว่า การรักษาอธิปไตยของชาติไทยจะไม่มีทางเกิดสงครามจริงกับกัมพูชา