xs
xsm
sm
md
lg

ยุบสภาหนีปัญหาม็อบ : ทางที่มาร์คจำต้องเลือก

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในที่สุดปัญหาความขัดแย้งในเรื่องดินแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 อันเนื่องมาจากการสูญเสียปราสาทพระวิหารอันเป็นผลของการที่ประเทศไทยแพ้คดีในศาลโลกได้ถึงทางตัน และส่อเค้าอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะต้องรับกรรมทางการเมือง อันเนื่องมาจากการยืนกรานที่คง MOU 2543 ไว้เป็นเครื่องมือเจรจาในการปักปันเขตแดนกับเขมร โดยมีความเชื่อมั่นว่าจะช่วยป้องกันมิให้ไทยสูญเสียดินแดนเพิ่มจากที่เคยเสียมาแล้วในปี พ.ศ. 2505

แต่ในความเป็นจริง ในขณะที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยึดคือ MOU 2543 เป็นคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ในการป้องกันเขมรฮุบดินแดนไทย รัฐบาลเขมรภายใต้การนำของนายกฯ ฮุนเซน ได้รุกคืบเข้ามาเป็นระยะๆ ทั้งการใช้กำลังทหารข่มขู่ และใช้ประชาชนบุกรุกเข้ามาตั้งบ้านเรือนและวัด จนกลายเป็นชุมชนเขมรไปแล้วโดยสิ้นเชิงบนพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รวมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และยิ่งกว่านี้ในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายจุดตามแนวชายแดนติดต่อระหว่างเขมรกับไทย

แต่ที่ทำให้ความขัดแย้งได้เดินมาถึงจุดแตกหัก ก็เมื่อมีการบุกจับคนไทย 7 คนที่บ้านหนองจาน และนำขึ้นศาลเขมร โดยที่รัฐบาลไทยไม่ดำเนินการประท้วงใดๆ ในทางการทูตเพื่ออ้างสิทธิเหนือดินแดนไทย และยื่นคำขาดให้รัฐบาลเขมรปล่อยคนไทยทั้ง 7 คนโดยไม่มีเงื่อนไข และปราศจากข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย

แต่รัฐบาลไทยได้กระทำตรงกันข้าม หรือไปวิ่งเต้นเพื่อให้ทางการเร่งดำเนินการทางกฎหมายตามกระบวนการทางศาล และยื่นขอประกัน ซึ่งก็เท่ากับการยอมรับว่าการที่เขมรอ้างว่าคนไทยเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นเรื่องจริง

ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมา นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ออกมาพูดผ่านทางสื่อว่าคนไทย 7 คนถูกจับในแผ่นดินไทย และบอกต่อว่าได้ทำบันทึกคัดค้านคำตัดสินของศาลเขมรแล้ว พร้อมกับยืนยันว่าผลตัดสินของศาลในคดีนี้จะไม่มีผลผูกพันต่อการเจรจาแบ่งเขตแดนของเจบีซีไปแล้วก็ตาม แต่ผู้เขียนก็ยังเชื่อเหมือนคนไทยหลายๆ คนว่า การที่รัฐบาลไทยดำเนินการทุกอย่างช้ากว่าเขมรเกือบในทุกๆ เรื่องนี้ ส่อให้เห็นชัดเจนว่า ขาดศักยภาพในการปกป้องอธิปไตยของไทยเหนือดินแดนไทย และถ้าทุกอย่างยังเป็นไปในทำนองนี้ เมื่อถึงเดือนมิถุนายนการยื่นขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขมรแต่ฝ่ายเดียวก็คงจะลุล่วงไปได้อย่างราบรื่น โดยที่คนไทยได้แต่มองดูด้วยความไม่เห็นด้วย และรู้สึกเสียดายแผ่นดินเกิดเหมือนกับกรณีของการเสียปราสาทพระวิหารในปี พ.ศ. 2505 นั่นเอง

จะด้วยความเชื่อและความคิดในทำนองนี้กระมัง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งนำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นต้น จึงได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 2543 ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกมรดกโลก และผลักดันให้เขมรออกไปให้พ้นดินแดนไทย ดังที่ปรากฏการชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์อยู่ในขณะนี้ จากจำนวนคนที่มาชุมนุมซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการเรียกร้องจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการใช้มาตรการกดดันรัฐบาลเหมือนกับที่เคยใช้ในการขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรจนเห็นผลมาแล้ว

จากข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ และจากท่าทีของรัฐบาลเท่าที่พอจะอนุมานได้ในเชิงตรรกะ เชื่อได้ว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ ในครั้งนี้คงจะไม่จบลงง่ายๆ และพันธมิตรฯ เองคงจะไม่ได้เห็นรัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง โดยร้องในลักษณะวอนทางการเมืองหรือแม้กระทั่งการเจรจาเพื่อขอซื้อเวลาก็คงจะไม่เกิดขึ้น แต่คงจะจบลงด้วยการยุบสภาหนีปัญหาข้อเรียกร้องของม็อบพันธมิตรฯ แน่นอน ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คงได้ตระหนักถึงความเข้มแข็ง และความอดทนในการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้เป็นอย่างดีว่า ไม่ชนะไม่เลิก โดยดูจากการต่อสู้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ และในขณะเดียวกัน ด้วยอัตลักษณ์ของคนประชาธิปัตย์คงไม่ยอมให้ใครมากดดันทางการเมืองจนตนเองเข้าตาจน และประสบภาวะล้มละลายทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในกรณี ส.ป.ก. 4-01 และนี่เองคือเหตุประการหนึ่งแห่งการยุบสภา

2. ในเดือนมิถุนายนจะมีการพิจารณาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ถ้าเขมรสามารถขึ้นได้โดยฝ่ายเดียว ก็จะทำให้คำพูดของนายกฯ อภิสิทธิ์ หมดความหมาย ไร้น้ำหนัก ทำลายอัตลักษณ์ของตนเองโดยสิ้นเชิง จึงเชื่อได้ว่าคงจะไม่ปล่อยให้รัฐบาลอยู่ไปถึงวันนั้น นี่คือเหตุผลประการที่สองแห่งการยุบสภา

3. ในการยุบสภาและมีการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์จะใช้เวทีปราศรัยหาเสียงแก้ตัวแก้ต่างข้อกล่าวหาของคู่แข่งทางการเมือง รวมทั้งข้องหาของพันธมิตรฯ ด้วย แต่ที่สำคัญและเป็นอัตลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ จะถือโอกาสหาเสียงกล่าวโจมตี และขุดคุ้ยจุดด้อยทั้งทางสังคม และการเมืองของศัตรูคู่แข่งทางการเมือง หรือแม้กระทั่งปัจเจกบุคคลที่ออกมาแสดงท่าทีต่อต้านพรรคประชาธิปัตย์ไปพร้อมๆ กับการแก้ตัว นี่คือเหตุผลประการที่สาม

ด้วยเหตุผล 3 ประการที่ว่ามานี้ เชื่อได้ว่าค่อนข้าง 100 เปอร์เซ็นต์จะมีการยุบสภาไม่เกินเดือนเมษายน และมีการเลือกตั้งไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2554 แน่นอน

ส่วนเลือกแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่อยู่ที่คนเลือกพรรคประชาธิปัตย์จะยังคงเลือกเหมือนเดิมหรือไม่ แต่ถ้าให้เดาโดยใช้ศาสตร์แห่งการคาดเดาคือโหราศาสตร์แล้ว คนไทยที่ไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์ก็คงจะต้องเป็นทุกข์ เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสได้รับเลือกมากกว่าพรรคอื่นอยู่ด้วยเหตุผลประการเดียวคือ เลวน้อยกว่าพรรคอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น