xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับตาวิชามาร“มาร์ค”เร่งสลายชุมนุม พธม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อเปรียบเทียบท่าทีการแสดงออกของรัฐบาลนายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.54 ที่ผ่านมา กับท่าทีที่เคยแสดงออกต่อการชุมนุมของคนเสื้อแดงช่วงเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2553 ก็จะเห็นถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

การเริ่มต้นชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปีที่แล้ว ก่อนที่จะบานปลายเป็นการก่อการร้ายและเผาบ้านเผาเมืองนั้น มีข้อเรียกร้องหลักคือการให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ด้วยความคาดหวังที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หลังการเลือกตั้ง แล้วจะสามารถใช้อำนาจรัฐเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นจากความผิดและกลับสู่อำนาจอีกครั้ง

เห็นได้ชัดว่า เป็นข้อเรียกร้องที่มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของอดีตนายกฯ ที่อยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับและคำพิพากษาของศาล รวมทั้งยังออกไปทำลายชื่อเสียงประเทศไทยในเวทีนานาชาติ

แต่ท่าทีของนายอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี แทนที่จะปฏิเสธอย่างแข่งขันต่อข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงที่จะให้มีการยุบสภา และยืนยันว่าจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศต่อไป นายอภิสิทธิ์กลับแบ่งรับแบ่งสู้ บอกว่าจะยุบสภาเมื่อมีเงื่อนไขพร้อมคือมีการแก้ไขกฎกติกาให้เป็นที่ยอมรับและบ้านเมืองมีความสงบ

ทั้งยังส่งสัญญาณล่วงหน้าว่าจะยุบสภาโดยยื่นข้อเสนอปรองดองต่อแกนนำคนเสื้อแดง เพื่อแลกกับการให้คนเสื้อแดงยุติการชุมนุม จนกระแสสังคมออกมาคัดค้าน เพราะนี่คือการประนอมหรือยอมสยบให้กับกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธที่สังหารเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปหลายคน นายอภิสิทธิ์จึงยอมกลับลำ ล้มเลิกข้อเสนอ และอนุญาตให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการ

นอกจากนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงยังมองว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นสิทธิที่จะทำได้ และพร้อมนำรถรับส่งคนเสื้อแดงที่จะมาชขุมนุมในกรุงเทพฯ ในช่วงเริ่มต้นการชุมนุม

ขณะเดียวกัน เมื่อมองถึงท่าทีที่นายอภิสิทธิ์แสดงออกต่อข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ 3 ข้อ คือ 1.การยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณษจักรกัมพูชาว่าด้วยการจัดทำหลักเขตและเขตแดนทางบก พ.ศ.2543 หรือ เอ็มโอยู.2543 และเอกสารที่มีผลผูกพันจากเอ็มโอยู.ดังกล่าว เนื่องจากเป็นเอ็มโอยู.ที่ทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชาจากการที่กำหนดให้ใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน 2.ให้รัฐบาลไทยถอนตัวจากการเป็นภาคีมรดกโลก เพื่อเป็นการไม่ยอมรับกรณีกัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และ 3.ให้ผลักดันชาวกัมพูชาที่รุกล้ำเข้ามาอยู่ในเขตแดนไทยออกให้หมด

ทั้ง 3 ข้อ ล้วนเป็นข้อเรียกร้องที่ต้องการให้รัฐบาลขจัดเงื่อนไขที่ไทยจะเสียเปรียบกัมพูชาในเรื่องการจัดทำเขตแดน โดยเฉพาะกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา รวมทั้งความเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดน 1.8 ล้านไร่ และสูญเสียผลประโยชน์ทางทะเลปริมาณมหาศาล แต่นายอภิสิทธิ์ได้ปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ ทั้ง 3 ข้อ โดยสิ้นเชิง

นายอภิสิทธิ์อ้างว่า ถ้าทำตาม 3 ข้อ ประเทศไทยจะมีโอกาสเสียดินแดน และอาจจะต้องเข้าสู่สภาวะการสู้รบ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ และถ้าทำตามข้อเสนอแนะของพันธมิตรฯ กัมพูชาต้องเดินหน้าแผนบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกบนเขาพระวิหารได้ทันทีเพราะไม่มีใครไปค้าน เนื่องจากไทยถอนตัวไป

นายอภิสิทธิ์อ้างอีกว่า เมื่อเอ็มโอยู.2543 ถูกยกเลิกไปสภาพต่างๆ ที่เคยตกลงกันไว้ ที่เป็นตัวยันว่าเขตแดนต่างๆ ยังไม่ได้ตกลงกัน อาจจะถูกลบล้าง โดยปัญหาเรื่องพฤตินัยการครอบครองจะมีความวุ่นวาย

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากฝ่ายพันธมิตรฯ ที่สามารถหักล้างข้ออ้างของนายอภิสิทธิ์ได้ นั่นคือ หากยกเลิกเอ็มโอยู.2543 ประเทศไทยและกัมพูชายังมีอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี 1904 และ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี 1907 ซึ่งได้ตกลงเรื่องเขตแดนไทยกัมพูชาไว้แล้ว โดยใช้หลักสันปันน้ำแบ่งเขตแดนตั้งแต่ช่องบก จ.อุบลราชธานี ถึงช่อง สะงำ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งครอบคลุมบริเวณเขาพระวิหารด้วย ส่วนบริเวณตั้งแต่ช่องสะงำไปจนถึงบ้านหาดเล็ก จ.ตราด มีการจัดทำหลักเขตไว้แล้ว 73 หลัก ดังนั้น เมื่อยกเลิกเอ็มโอยู.2543 ก็สามารถกลับไปใช้ สนธิสัญญาดังกล่าวได้ หรือหากจะทำเอ็มโอยู.ใหม่ที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายก็ยังสามารถทำได้

ส่วนข้ออ้างเรื่องการสู้รบ หากมีการยกเลิก เอ็มโอยู.2543 ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตก เนื่องจากศักยภาพทางทหารของไทยสูงกว่า การที่กัมพูชาจะเปิดสงครามก่อนจึงเป็นเรื่องยาก

ส่วนการถอนตัวจากภาคีมรดกโลกนั้น ก็เพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับอำนาจของคณะกรรมการมรดกโลก และไม่ยอมรับการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารที่ฮุบเอาพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบตัวปราสาทไปด้วย

อย่างไรก็ดี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ยังบอกว่า ข้อเสนอของผู้ชุมนุมที่เสนอมา ไม่ว่าจะเป็นให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยู43 ให้รัฐบาลผลักดันคนเขมรออกจากพื้นที่ เป็นข้อเสนอที่เป็นอันตรายต่อบ้านเมือง นายกฯ คงไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอนั้นได้

นายสุเทพ ยังมองการชุมนุมของพันธมิตรฯ ว่า เมื่อนายกฯ ปฏิบัติไม่ได้กลุ่มผู้ชุมนุมก็จะชุมนุมยืดเยื้อตามที่ประกาศเอาไว้ ทำให้สงสัยว่าผู้ชุมนุมตั้งใจยื่นข้อเสนอที่รัฐบาลทำไม่ได้หรือไม่ มีเจตนาอะไร ความจริงบ้านเมืองกำลังเริ่มสงบเรียบร้อยดีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการมองการชุมนุมของพันธมิตรฯ ในแง่ร้าย เมื่อเทียบกับที่นายสุเทพเคยมองการชุมนุมของคนเสื้อแดง

จึงมองได้ว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์หวั่นไหวต่อการชุมนุมของพันธมิตรฯ มากกว่าการชุมนุมของคนเสื้แดงที่ผ่านมา ด้วยข้อเรียกร้องที่มีน้ำหนักกว่า และลักษณะการชุมนุมที่เป็นอารยะมากกว่า ซึ่งในระยะยาวจะสามารถเรียกการสนับสนุนจากกระแสสังคมได้มากขึ้น ดังนั้นจึงหาทางยับยั้งการชุมนุมตั้งแต่ต้น

เริ่มตั้งแต่การส่งนายพนิช วิกิตเศรษฐ ส.ส.กรุงเทพฯ ของพรรค ไปดูปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ จ.สระแก้ว เพื่อจะให้เป็นผลงานของรัฐบาล นำไปอ้างไม่ให้ชาวบ้านออกมาชุมนุมได้

แต่เมื่อเกิดการผิดแผน นายพนิชถูกทหารกัมพูชาจับกุม รัฐบาลต้องเปลี่ยนแผนใหม่ การจับกุมอาวุธสงครามจำนวนมากที่บริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ก่อนวันชุมนุมเพียง 1 วัน ก็ถูกตั้งข้อสงสัยว่า นี่คือการจัดฉาก เพื่อให้คนที่จะมาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ เกิดความหวาดกลัวหรือไม่ ซึ่งวิธีการนี้ก็ไม่ได้ผล เมื่อจำนวนผู้ชุมนุมที่สะพานมัฆวานฯ มีมากกว่าที่รัฐบาลคาดหมาย

วีธีการที่จะยุติการชุมนุมโดยเร็ว จึงถูกงัดออกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการขอร้องให้ชุมนุมแค่ 5-7 วัน หรือการขอเปิดเจรจา หรือ เปิดเวทีให้ไปโต้เวทีกันทางทีวี ไม่เว้นแม้แต่การใช้วิชามารเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำลายการชุมนุม เช่น การให้ตำรวจเปิดไฟเขียวน้อยกว่าไฟแดง เพื่อให้การจราจรติดขัด แล้วโยนความผิดให้กับการชุมนุม เป็นต้น

ต้องจับตาว่า จากนี้ไป จะมีวิชามารรูปแบบใหม่ๆ ออกมาทำลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ อย่างไรบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น