xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้”หาดพัทยา”วิกฤต-อีก 5 ปีจะหายไปจากแผนที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้ชายหาดพัทยาที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก กำลังโดนคลื่นทะเลคุกคามอย่างหนัก และภายใน 5 ปีอาจไม่มีหาดพัทยาบนแผนที่อีกต่อไป
ศูนย์ข่าวศรีราชา - หาดพัทยาวิกฤตหนัก จากการถูกน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ด้านนักวิชาการชี้ อีก 5 ปีหาดพัทยาจะหายไปจากแผนที่หากไม่มีการป้องกันที่ดี ขณะที่เมืองพัทยามีแผนเตรียมถมทะเลเพิ่มพื้นที่ชายหาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา ได้ลงสำรวจพื้นที่ชายหาดพัทยา บริเวณใกล้เคียงโรงแรมดุสิตธานี พัทยา ภายหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวว่า ชายหาดบริเวณดังกล่าวความยาวประมาณ 300 เมตร ได้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ จนเวลาน้ำขึ้นชายหาดบางส่วนได้หายไป ซึ่งกังวลว่าในอีกระยะเวลาไม่นานชายหาดพัทยาจะถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนไม่หลงเหลือ และอาจจะทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเสียหาย

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเบื้องต้นนายรณกิจ เปิดเผยว่า พบมีการกัดเซาะของน้ำทะเลจริง จนต้นไม้ใหญ่ไม่มีพื้นดินให้ยึดลำต้น และบริเวณหาดทรายช่วงโค้งโรงแรมดุสิตฯ หดหายลงไปมาก ผู้ประกอบการร่มเตียงจากที่สามารถกางเตียงได้ 40 เตียง ก็เหลือประมาณ 4 เตียงเท่านั้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

สำหรับปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว และเมืองพัทยาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการประชุมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อำเภอบางละมุง กรมเจ้าท่า และนักวิชาการ จากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่งในเบื้องต้นมีการเสนอแผนการแก้ไขในระยะยาว คือ จะมีการนำทรายจากแหล่งธรรมชาติมาเพิ่มบริเวณชายหาด ลึกลงไปประมาณ 50 เมตร แต่เรื่องนี้คงจะต้องประชุมกับนักวิชาการและเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อศึกษาถึงผลดีและผลเสีย ก่อนที่จะมีการอนุมัติงบประมาณมาเพื่อดำเนินการ เนื่องจากในการแก้ไขจะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

ส่วนการแก้ไขในระยะสั้น เมืองพัทยาจะนำกระสอบทรายมาเป็นแนวกั้นน้ำ ส่วนต้นไม้ใหญ่ที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะมีการโค่นลงมาจนอาจจะเกิดอันตรายได้ เจ้าหน้าที่จะรีบลงมาแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นอย่างเร็วที่สุด โดยการแก้ปัญหาการกัดเซาะของทะเลในครั้งนี้ เป็นโครงการเร่งด่วน แต่ถึงอย่างไรก็จะต้องศึกษาและทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เนื่องจากเป็นโครงการที่ละเอียดอ่อน ซึ่งอาจเกิดผลกระทบตามมาได้ แต่ก็เป็นการช่วยรักษาธรรมชาติอีกทางหนึ่ง

5 ปี หาดพัทยาเหลือเพียงแค่ชื่อ

ด้าน ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวไว้ในการประชุมชี้แจงโครงการวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อส่งเสริมทรายชายหาดพัทยา เมื่อเร็วๆนี้ว่า ขณะนี้ชายหาดพัทยามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก โดยมีสาเหตุจากตะกอนทรายที่เคยเติมให้อ่าวพัทยาจากตอนบนของลำน้ำลดน้อยลง การนำพาตะกอนของคลื่นมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการใช้ประโยชน์หรือกิจกรรมชายหาดที่เปลี่ยนไปในพื้นที่อ่าวพัทยา ล้วนส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายหาดพัทยารุนแรงมากขึ้น

จากการศึกษาการกัดเซาะชายหาดพัทยาด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์(Gis) และข้อมูลระยะไกล(RS) พร้อมกับการเปรียบเทียบข้อมูลภาพถ่ายปัจจุบันและภาพถ่ายในอดีตของสภาพชายหาดพัทยา และการลงพื้นที่สอบถามความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายหาดจากชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่มานาน พบว่า ปัจจุบันพื้นที่ชายหาดลดลงจากในอดีตมาก มีความกว้างชายหาดเหลือเพียง 4-5 เมตร นับเป็นวิกฤตการณ์กัดเซาะหนัก หากไม่รีบแก้ไขจะกระทบต่อภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยว ส่งผลต่อรายได้และการประกอบการด้านการท่องเที่ยวแน่นอน ทั้งนี้ได้เสนอแนวทางการแก้ไข โดยใช้หลักวิชาการผสานสภาพภูมิอากาศธรรมชาติ คืนทรายให้ชายหาดพัทยาอีกครั้ง

ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากการเปรียบเทียบข้อมูลของ พ.ศ2495,2510,2517,2539 และ 2545 พบว่า ชายหาดพัทยา มีการกัดเซาะที่รุนแรงในพื้นที่ตั้งแต่พัทยาเหนือถึงพัทยาใต้ระยะทางทั้งสิ้น 2.7 กิโลเมตร จากชายหาดที่มีความสวยงามมากในปี พ.ศ.2495 มีพื้นที่หน้าหาดทั้งสิ้น 96,128.4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 60 ไร่ ความกว้างเฉลี่ยของหน้าหาด 35.6 เมตร เทียบกับ พ.ศ.2545 เหลือพื้นที่หน้าหาด 50,500.7 ตารางเมตร หรือประมาณ 31 ไร่ ความกว้างหน้าหาด 18.7 เมตร

ข้อมูลจากการสำรวจล่าสุด พบว่า ความกว้างหน้าหาด เหลือเพียง 4-5 เมตรเท่านั้น แม้ว่าเหตุการณ์กัดเซาะชายหาดจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่หากไม่มีการช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนทางสภาวะแวดล้อม เชื่อว่าอีกไม่เกิน 5 ปี ชายหาดพัทยาจะหายไปทั้งหมด การสร้างโครงป้องกันชายหาด จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการกัดเซาะได้

ขณะนี้ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการวางแผนแม่บท และสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายบูรณะชายหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ชายหาดพัทยาเหนือ ตั้งแต่ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา ถึงชายหาดพัทยากลาง ระยะทาง 1,300 เมตร ช่วงที่ 2 จากชายหาดพัทยากลางถึงชายหาดพัทยาใต้ ระยะทาง 1,400 เมตร และ ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ชายหาดพัทยาใต้ถึงแหลมบาลีฮาย ระยะทาง 1,780 เมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 4.48 กิโลเมตร

ด้วยการใช้โครงสร้างแบบอ่อน คือ การนำทรายที่ถูกกัดเซาะออกไปอยู่นอกชายฝั่งให้กลับมาโดยการเติมทรายประมาณ 2 แสนคิว บริเวณหัวหาดหรือท้ายหาด (แล้วแต่ว่าช่วงที่ดำเนินการเติมทรายลมมรสุมพัดไปในทิศทางใด) แล้วอาศัยคลื่นลมธรรมชาติให้พัดทรายเข้าสู่หาดพร้อมกับรักษาสมดุลของหาดทรายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

วิธีนี้จะสามารถทำให้มีพื้นที่ชายหาดเพิ่มเป็น 30 เมตร และ จะถูกกัดเซาะไปในระยะเวลา 10-15 ปี แล้วเติมทรายอีกครั้ง วิธีนี้จะทำให้คงสภาพความสวยงามของชายหาดตามธรรมชาติ อีกวิธีหนึ่งคือการสร้างโครงสร้างยื่นลงทะเลในพื้นที่หัวหาดและท้ายหาด พร้อมกับการเติมทรายและอาศัยธรรมชาติดังเช่นแบบแรก จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชายหาด และรักษาพื้นที่ชายหาดไว้ในระยะเวลา 20-25 ปี แล้วจึงเติมทรายเข้าไปอีกครั้ง ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้หลายประเทศใช้และได้ผลเป็นที่น่าพอใจทั้งในญี่ปุ่น สเปน หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์

ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการเติมทรายเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเห็นผลชัดเจน และ มีผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด เพราะทรายที่จะนำมาเติมนั้น จะเป็นทรายจากชายหาดเดิมที่ถูกกัดเซาะและพัดออกไป จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าทรายเดิมของชายหาดพัทยาถูกพัดไปอยู่บริเวณเกาะล้าน ซึ่งคณะนักวิจัยจะมีการสำรวจทรายเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ของความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะได้ร่วมกันคืนทรายจากชายหาดที่หายไปให้กลับมาสู่ชายหาดเมืองพัทยาอีกครั้ง ซึ่งหลังจากนี้ คณะวิจัยจะทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบของโครงการต่อสภาพแวดล้อมและชุมชน พร้อมกับการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนและทำประชามติกับคนในชุมชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และเป็นผู้เลือกวิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดสำหรับชุมชน
กำลังโหลดความคิดเห็น