xs
xsm
sm
md
lg

เมืองพัทยาประกาศจุดยืนดันต่อเนื่องโครงการถมทะเลขยายชายหาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - เมืองพัทยาประกาศจุดยืนดันต่อเนื่อง โครงการถมทะเลขยายชายหาด ชี้ถือเป็นจุดขายสำคัญด้านการท่องเที่ยว

วันนี้ (27 ม.ค. ) นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวในที่ประชุมสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ถึงกรณีสภาพปัญหาชายหาดพัทยาถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนเกิดความทรุดโทรมอย่างหนัก และมีกระแสว่าหากปล่อยทิ้งไว้ในอนาคตชายหาดพัทยา อาจสูญหายไปนั้น ว่า เรื่องดังกล่าวมีปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต สมัย นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และได้ร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น นำทีมวิจัยของสถาบัน Jica มาทำแผนฟื้นฟูบูรณะเมืองพัทยา ซึ่งได้กำหนดไว้ 9 โครงการ โดย 1 ในนั้นมีโครงการถมทะเลชายหาดพัทยารวมอยู่ด้วย

แต่ปรากฏว่า โครงการดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขณะนั้นไม่เห็นชอบด้วย เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เชื่อว่ามีปัญหาการกัดเซาะชายหาดจริง

อย่างไรก็ตาม จากอดีตในปี 2495 ชายหาดพัทยา มีความกว้างกว่า 50 เมตร และถูกกัดเซาะมาเรื่อยจนมีพื้นที่คับแคบลง เมืองพัทยาจึงได้ร่วมกับกรมโยธาธิการ ทำการวิจัยเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จนมีนัยสำคัญที่บ่งชี้แน่ชัดว่าชายหาดถูกกัดเซาะไปจริง และปัจจุบันก็มีสภาพความกว้างเหลือแค่ 5 เมตรเท่านั้น

ล่าสุด จึงได้ร่วมกับกรมเจ้าท่า และสถาบันวิจัยจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาหาข้อมูลอย่างจริงจัง พร้อมทำแผนแม่บทในการแก้ไข รวมทั้งสอบถามความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับแนวนโยบายในการถมทะเล ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เห็นชอบด้วย เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้ในระยะเวลาอีกเพียง 5-10 ปีนี้ ชายหาดเมืองพัทยาอาจถูกกัดเซาะจนไม่เหลือสภาพชายหาดให้เห็นอีก หากเกิดขึ้นจะถือว่าเป็นความเสียหายต่อเมืองพัทยา และการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง ทั้งนี้ เพราะชายหาดถือเป็นจุดขายสำคัญของเมืองท่องเที่ยวชายทะเล

นายรณกิจ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันจากการวางแผนแม่บทและศึกษาได้กำหนดทิศทางการแก้ไข ปัญหาไว้ 2 แนวทางหลัก คือ 1.การทำแนวเขื่อนหินบริเวณด้านนอกห่างจากชายฝั่งประมาณ 70 เมตร เพื่อกันคลื่นในการกัดเซาะชายหาด หรือ 2.การถมทรายเพิ่มปริมาณพื้นที่ชายหาด โดยการนำทรายที่มีสภาพใกล้ เคียงกันมาขยายเพิ่มขึ้นในระยะ 50 เมตร

ทั้งนี้ ปัจจุบันเมืองพัทยากำลังดำเนินการในขั้นตอนของการรวบรวมเอกสาร ข้อมูล สถิติและสภาพปัญหาเพื่อเสนอต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขอความเห็นชอบอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากได้รับคำตอบที่น่าพอใจก็จะตั้งเรื่องและโครงการเสนอตรงต่อสำนักงบประมาณ หรือ ครม.เพื่อขออนุมัติงบประมาณในการจัดทำต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น