xs
xsm
sm
md
lg

พัทยาฝันสลายถมทรายเพิ่มชายหาด ติดปัญหา สวล.-ต้องรอผลศึกษา 3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายหาดที่สวยงามของพัทยา กำลังโดนน้ำทะเลกัดเซาะอย่างหนักจนมีสภาพอย่างที่เห็น
ศูนย์ข่าวศรีราชา - พัทยาพบทางตันปัญหาชายหาดถูกกัดเซาะ หลังเตรียมโครงการถมทรายเพิ่มชายหาดเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าติดปัญหาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมและกฎหมายหลายเรื่อง จำใจรอผลการศึกษาสำรวจวางแผนแม่บท ของกรมขนส่งทางน้ำฯที่อาจต้องใช้เวลานานอีกกว่า 3 ปี เชื่อ หาดทรายชายทะเลที่เป็นจุดขายสำคัญไม่เหลือแน่

เมื่อเร็วๆ นี้ นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยาได้เป็นประธานการประชุมแก้ปัญหาน้ำ ทะเลกัดเซาะชายหาดพัทยา หลังจากที่ผ่าน พบว่า สภาพชายหาดพัทยาโดยเฉพาะช่วงบริเวณพัทยาเหนือ-ใต้ ระยะทางประมาณ 2.7 กิโลเมตร ถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรง จนมีการคาดการณ์กันว่าหากไม่มีการดำเนินการแก้ไขและป้องกันอย่างถูกต้อง ภายใน 5 ปีอาจทำให้เมืองพัทยาสูญเสียชายหาดซึ่งถือว่าจุดขายที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวไป และอาจไม่มีหาดพัทยาปรากฏในแผนที่ด้วย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก

นายพิเชษฐ์ อุทัยวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการช่างเมืองพัทยา กล่าวว่า ในปี 2532 องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ได้ศึกษาปัญหาต่างๆ ของเมืองพัทยา และได้จัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาเมืองพัทยา โดยเสนอโครงการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูบูรณะเมืองพัทยารวมไว้ 9 โครงการ ซึ่งมี 5 โครงการเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ 1.โครงการถมทะเลบริเวณพัทยาใต้ 2.โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยา 3.โครงการฟื้นฟูบูรณะชายหาดพัทยา 4.โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือเกาะล้าน 5.โครงการก่อสร้างถนนพัทยาสาย 3

สำหรับโครงการแก้ปัญหาและพัฒนาชายฝั่งทะเลเมืองพัทยา กรมโยธาธิการฯ ได้โดยว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด ตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งรวมทั้งการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฟื้นฟูบูรณะ และพัฒนาเมืองพัทยา แต่สุดท้ายแล้วโครงการถมทะเล และโครงการฟื้นฟูบูรณะชายหาดพัทยา ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเห็นว่าชายหาดพัทยามีสภาพสมบูรณ์ไม่มีปัญหาการกัดเซาะ หากดำเนินการถมทะเลและบูรณะชายหาดอาจสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้

ต่อมาในปี 2544-2547 ทางกรมโยธาธิการ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจชายหาด เพื่อพิสูจน์ทราบอีกครั้งว่ามีการกัดเซาะจริงหรือไม่โดยได้ตั้งข้อสมมติฐานไว้ว่าจะต้องมีการกัดเซาะอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ มีการกัดเซาะไม่น้อยกว่า 1 เมตร/ปี โดยไม่กลับคืน หลังจากมีสำรวจทุกเดือน ทุกฤดูกาล เป็นเวลา 3 ปี โดยจัดทำเป็นรูปตัดขวางของหาดทรายชายหาดพัทยาเปรียบเทียบกัน

ผลสรุปมีรายงานว่ามีการเคลื่อนย้ายของทรายตามฤดูกาลจริง แต่ยังไม่พบว่ามีการกัดเซาะอย่างมีนัยยะสำคัญจึงทำให้ต้องชะลอโครงการดังกล่าวไปอีก

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า สภาพชายหาดนั้นถูกบั่นทอนลงอย่างต่อเนื่อง จากการกัดเซาะของน้ำทะ เล เมืองพัทยาจึงได้ผลักดันให้มีการสำรวจและศึกษาปัญหาดังกล่าวขึ้นใหม่ รวมทั้งยังได้นำทรายมาเติมบริเวณชายหาดเพิ่มเติมในปี 2550 อีกด้วย แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณและข้อห้ามตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันจึงทำให้พื้นที่ที่ดำเนินการไปนั้นถูกน้ำกัดเซาะไปจนหมดแล้ว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีโครงการของสำนักงานขนส่งทางน้ำ ที่มีแผนในการแก้ไขปัญหาโดยทำการว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาสำรวจข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ด้วยเห็นว่า ปัญหาเกิดขึ้นจริงและหากปล่อยทิ้งไว้อาจได้รับความเสียหายในระยะยาวได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นประโยชน์และจะใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนสำคัญในการผลักดันโครงการถมทะเลต่อไป

ด้านนายเรวัตร โพธิ์เรียง หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 6 สาขาพัทยา กล่าวว่าปัจจุบันสำนักงานได้จัดสรรงบประมาณจำนวนกว่า 3 ล้านบาท เพื่อว่าจ้างสถาบันวิจัยทางน้ำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาสำรวจเกี่ยวกับปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยา โดยมีระยะเวลาการว่าจ้าง 1 ปี ระหว่างเดือน ก.ย.2553-ก.ย.2554 ซึ่งขณะนี้จากการรับรายงานเบื้องต้นพบว่าสภาพชายหาดมีการถูกกัดเซาะรุนแรงโดยเฉพาะช่วงพัทยาเหนือ-ใต้

ข้อมูลจากการตรวจสอบพื้นที่แต่เดิมในปี 2495 พื้นที่ชายหาดพัทยามีขนาดพื้นที่รวมประมาณ 60 ไร่ กว้าง 35.6 เมตร ขณะที่ในปัจจุบันเหลือพื้นที่รวมไม่ถึง 30 ไร่ และมีความกว้างหน้าหาดไม่ถึง 5 เมตรเท่านั้น เรียกว่า จากอดีตจนถึงปัจจุบันหาดพัทยามีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ย 1.8 เมตร/ปี ทั้งนี้ได้มีการเสนอทางเลือกของการแก้ไขไว้ใน 4 รูปแบบ คือ 1.การถมทรายขยายชายหาดออกไปในระยะความกว้าง 30 เมตรตลอดแนวความยาวของหาดคือ 2.7 กิโลเมตร (กม.)ซึ่งคาดว่าจะใช้ทรายประมาณ 2 แสนลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) 2.การถมทรายขยายชายหาดออกไปในระยะความกว้าง 40 เมตร ตลอดแนวความยาวของหาด 2.7 กม.ซึ่งคาดว่าจะใช้ทรายประมาณ 3-3.5 แสน ลบ.ม. 3.การถมทรายขยายชายหาดกว้าง 30 เมตร

รวมทั้งการสร้างแหลมกันคลื่นบริเวณหัวแหลมพัทยาเหนือและปลายแหลมบาลีฮาย ในระยะความยาว 725 เมตร ซึ่งจะสามารถกักทรายและคงสภาพหาดให้อยู่ได้ในระยะ 15 ปี และ 4.การเสริมโครงสร้างตัวดักทรายบริเวณหัวและท้ายหาด พร้อมกับทำการเติมทรายเพื่อสร้างแนวในการการกักทรายเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการดังกล่าวจะมีการสำรวจพร้อมทำแผนแม่บทแล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.ย.2554 จากนั้นก็จะต้องนำผลสำรวจเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อม (สผ.) เพื่อดูข้อเท็จจริงและขอรับความเห็นชอบต่อโครงการ ก่อนจะนำเรื่องเสนอต่อเมืองพัทยาเพื่อทำโครงการเสนอต่อ ครม.เพื่อของบประมาณ ซึ่งคาดว่าคงต้องใช้ระยะเวลาอีกกว่า 3-4 ปี ซึ่งช่วงดังกล่าวอาจไม่ทันการณ์กับสภาพชายหาดที่ถูกกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง

ในที่ประชุมจึงได้มีการนำเสนอ ที่จะตั้งโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ โดยการนำทรายมาปรับถมขยายพื้นที่ชายหาดเพิ่มเติมบริเวณพัทยาเหนือ ซึ่งพบว่ามีการถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง โดยจะดำเนินการขยายพื้นที่ออกไปในระยะความกว้าง 15 เมตร และมีความยาวในระยะ 400 เมตร ซึ่งจะต้องใช้ทรายประมาณ 3.3 หมื่น ลบ.ม.และงบประมาณเข้ามาดำเนินการกว่า 40 ล้านบาท โดยเสนอให้มีการดำเนินการไปก่อนเพื่อรอโครงการของสำนักงานขนส่งทางน้ำฯ ที่มีโครงการอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้งในเร็ววันนี้

กรณีดังกล่าว นายสนิท บุญมาฉาย สมาชิกสภาเมืองพัทยา กล่าวว่าปัญหาการกัดเซาะชายหาดเมืองพัทยาเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์เป็นหลัก โดยเฉพาะสภาพของชายหาดพัทยา ต้นตอน่าจะมาจากการบุกรุกก่อสร้างแนวถนนหรือแหลมยื่นออกไปในทะเลบริเวณหัวหาดพัทยาเหนือของผู้ประกอบ การโรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้เคยนำเรื่องเข้าหารือต่อสภาเมืองพัทยามาแล้วหลายครั้ง แต่พบว่า เมืองพัทยายังคงเพิกเฉยไม่เข้ามาแก้ไข ดังนั้น วิธีการแก้ไขเบื้องต้นคงจะต้องไปทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออก พร้อมทำแนวคันหินกันคลื่นหรือดักทรายไว้ ก็จะทำให้กระแสน้ำพัดเอาทรายกลับมาเติมบริเวณชายหาดได้เหมือนเดิมได้

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีดังกล่าว จำเป็นต้องมีการหารือร่วมอีกครั้งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนของคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เนื่องจากการถมทรายหรือดำเนินการโครงการใดๆตามแนวชายหาด จะมีปัญหาในเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกฎหมายเกี่ยวกับน่านน้ำ ที่มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่งคงจะได้มีการหารือร่วมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น