xs
xsm
sm
md
lg

จีนสร้างชาติด้วยการสร้างพรรค สิงคโปร์สร้างชาติด้วยการสร้างทีมไทยจะสร้างชาติด้วยอะไร? (2)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

เรื่องการสร้างชาติด้วยการสร้างพรรคของจีน เป็นสิ่งน่าศึกษาอย่างยิ่ง (การศึกษาหมายถึงการทำความเข้าใจและ “เข้าถึง” กฎเกณฑ์ที่เป็นตัวกำหนดการขับเคลื่อนของกระบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศจีนตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และที่จะนำไปสู่อนาคต เพื่อให้เราหูตาสว่าง รู้เขารู้เรา โดยไม่จำเป็นที่เราจะต้องเลียนแบบหรือทำตาม แต่อาจถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการที่เราจะพัฒนาหรือ “นวัตกรรม” แบบวิธีการสร้างชาติที่เป็นของเราเอง ตาม “กฎเกณฑ์เฉพาะ” ของเราเองที่สรุปมาจากการปฏิบัติของเราเอง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่ประเทศจีนกำลัง “เนื้อหอม” เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วทั้งโลก ในความเจริญก้าวหน้าในทุกๆ ด้านที่ดำเนินมาได้อย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี โดยไม่สะดุดหยุดลงแม้ในห้วงวิกฤตใหญ่ทางการเงินของโลก ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008

ยิ่งเมื่อมองย้อนอดีต นับตั้งแต่คนจีน “ทุกฝ่าย” ช่วยกันหาทางออกให้แก่ประเทศชาติด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องรู้สึกทึ่งในจิตใจที่ยืนหยัดต่อสู้ด้วยความทรหดอดทน ทุ่มเทเสียสละของคนจีนที่รักชาติรักประชาธิปไตยเป็นที่สุด

เพราะการต่อสู้ของคนจีนรักชาติ กินเวลายาวนาน นับเนื่องมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 จากการต่อสู้แบบตามมีตามเกิด ไปเป็นการต่อสู้อย่างเป็นขบวนการระดับชาติ มีกลุ่มแกนนำที่ชัดเจน จนกระทั่งการต่อสู้อย่างเป็นระบบแบบแผนในรูปของพรรคการเมืองของประชาชน ที่มีหลักคิดเป็นวิทยาศาสตร์ อุดมการณ์สูงส่ง วิสัยทัศน์ยาวไกล แนวทางนโยบายถูกต้อง และยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเยี่ยมยอด ที่สามารถนำไปสู่ชัยชนะได้ในทุกขั้นตอน สามารถกอบกู้ประเทศชาติได้ในเบื้องต้น และดำเนินการสร้างชาติได้สำเร็จอย่างงดงาม ดังที่กำลังปรากฏอยู่ต่อสายตาชาวโลก

โดยภาพรวม กระบวนการสร้างชาติด้วยการสร้างพรรคของจีน สามารถแบ่งออกเป็นสองช่วงใหญ่ๆ ช่วงแรก เป็นช่วงของการสร้างพรรคเพื่อกอบกู้ประเทศชาติให้พ้นจากการครอบงำของมหาอำนาจต่างชาติ (สร้างพรรคกู้ชาติ) ในทางความคิดก็คือ ทำการปลดปล่อยประเทศจีนให้หลุดพ้นจากการครอบงำของ “ภูเขาสามลูก” (ศักดินานิยม ทุนนิยมขุนนาง และจักรพรรดินิยม) ช่วงที่สอง เป็นการสร้างพรรคเพื่อสร้างชาติ มุ่งสรุปกฎเกณฑ์การสร้างประเทศจีนให้เจริญรุ่งเรืองรอบด้าน ประชาชนชาวจีนอยู่เย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง

ช่วงสร้างพรรคกู้ชาติ เริ่มกันในปี ค.ศ. 1921 โดยสานต่อปณิธานการกู้ชาติและสร้างชาติของ ดร.ซุนยัดเซน หรือ “ซุนจงซัน” (1866 - 1925)

ทั้งนี้ ประเทศจีนตกอยู่ในสภาวะวิกฤตจวนเจียนจะสิ้นชาติตั้งแต่พ่ายแพ้สงครามฝิ่นต่อสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1840 ราชวงศ์ชิงต้องยอมทำสนธิสัญญากับชาติมหาอำนาจตะวันตกอย่างต่อเนื่อง สูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนมากขึ้นเรื่อยๆ คนจีนที่รักชาติในทุกระดับชั้น ต่างตระหนักในสภาวะวิกฤตที่จะนำไปสู่การสิ้นชาติ พากันเร่งหาทางกอบกู้ประเทศชาติในหลายๆ ทาง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่ง ดร.ซุนยัดเซน ประกาศแนวทางการต่อสู้ ไปเป็นการใช้กำลังโค่นล้มราชวงศ์ชิง สถาปนาระบอบสาธารณรัฐตามอย่างประเทศตะวันตก จึงสามารถระดมกำลังจากฝ่ายต่างๆ เข้าร่วม ทั้งในประเทศจีนและในโพ้นทะเล ในที่สุดก็สามารถก่อการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงได้สำเร็จในปลายปี ค.ศ. 1911 แล้วสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นอย่างเป็นทางในต้นปีถัดมา

ประเทศจีนในยุคสาธารณรัฐ (1912-1949) ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลสำคัญคือ อำนาจอิทธิพลของศักดินานิยม ทุนนิยมขุนนาง และจักรพรรดินิยมยังคงครอบงำแผ่นดินจีน ไม่เปิดโอกาสให้คนจีนพัฒนาตนเองได้อย่างเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ประเทศจีนจึงยังตกอยู่ในสภาวะสับสนวุ่นวาย ปั่นป่วนไม่หยุดหย่อน สร้างความวิตกกังวลในหมู่คนจีนรักชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน นักเรียนนักศึกษา และปัญญาชนทั่วไป ที่ทนเห็นประเทศจีนถูกย่ำยีต่อไปไม่ได้ จึงหาทางออกด้วยการปฏิวัติประชาธิปไตยแบบใหม่ (ประชาธิปไตยของประชาชน) ร่วมกันสร้างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ให้เป็นแกนนำการเปลี่ยนแปลงประเทศจีน จากสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา เป็นสังคมนิยม ที่ปลอดพ้นจากการครอบงำของอำนาจอิทธิพลของ “ภูเขาสามลูก” อย่างสิ้นเชิง

ภายหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 แล้ว พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ให้ที่ดินทั้งประเทศอยู่ในกรรมสิทธิ์ของรัฐ และจัดระเบียบการผลิตใหม่ทั้งประเทศ เพื่อเตรียมการพัฒนาประเทศในระบอบสังคมนิยมต่อไป ซึ่งการพัฒนาประเทศของจีนภายใต้การนำของพรรคฯ จีน ตามแนวคิดชี้นำของเหมาเจ๋อตง ที่มุ่งสร้างสังคมจีนให้เป็นสังคมคอมมิวนิสต์ โดยไม่ผ่านกระบวนการพัฒนาพลังการผลิตอย่างจริงจัง ได้ประสบความล้มเหลวในหลายๆ ด้าน ที่สำคัญคือไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจีนได้อย่างแท้จริง

เติ้งเสี่ยวผิงได้สรุปบทเรียนการสร้างสรรค์สังคมนิยมของจีนและของโลกโดยรวม แล้วกำหนดเป็น “แนวทางพื้นฐาน” ให้ประเทศจีนพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้กลไกตลาด ถือเป็นเนื้อหาหลักของการพัฒนาประเทศในระบอบสังคมนิยมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น