ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ภายหลังจากเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญประจำปี ในวันที่ 21 ม.ค.2554 แล้ว พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างแน่นอน หลังจากมีการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านไปแล้ว
ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบรัฐบาลไทย (คตร.) และสำนักงานปราบโกง (สปก.) ขึ้นมาติดตามการทำงานของรัฐบาล และได้ข้อสรุปว่า จะเปิดอภิปรายในกรอบการบริหารราชการและดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ล้มเหลวการทุจริตคอร์รัปชัน และการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง
เมื่อแยกเป็นรายประเด็นที่พรรคเพื่อไทยจะนำมาอภิปราย ได้แก่
การก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 2 ปี เพื่อนำมาใช้ในโครงการไทยเข้มแข็ง (SP1,SP2) โครงการประชาภิวัฒน์ ของขวัญ 9 ข้อที่มอบให้ประชาชนช่วงปีใหม่ รวมทั้งการตั้งงบกลางในปีงบประมมาณ 54 ถึง 1.12 แสนล้านบาท โดยจะมีการอธิบายเพิ่มมากขึ้นว่าหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น ภาระหนี้ของรัฐบาลและประชาชนที่จะต้องแบกรับในอนาคต
โดยผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายในการอภิปรายประเด็นนี้อยู่ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหลัก
ประเด็นต่อมา คือ การบริหารงานในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กรณีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการฯ สั่งชะลอการอนุมัติซื้อกิจการของฮัทช์ โดยการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท) ซึ่งจะถือว่า รัฐมนตรีทำเกินหน้าที่หรือไม่
นอกจากนี้นายจุติ ยังอาจจะถูกอภิปราย กรณียินยอมให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเปิดบริการระบบโทรศัพท์ 3 จีบนคลื่น 800 เพื่อทดสอบระบบ แต่บริษัทดังกล่าวกลับเอาโครงการไปทำสัญญาทางธุรกิจ
อีกประเด็นที่ต้องถูกบรรจุไว้ในญัตติอภิปรายฯ ทุกครั้งสำหรับพรรคเพื่อไทยก็คือกรณีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยรัฐมนตรีที่ตกเป็นเป้าหมายการอภิปรายคือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม
แม้ว่าจะมีการนำประเด็นนี้มาอภิปรายหลายครั้งแล้ว แต่พรรคเพื่อไทยอ้างว่าครั้งนี้จะเป็นการขยายแผลเก่าในส่วนของการสลายการชุมนุม โดยได้มีการเตรียมข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อตอกย้ำว่ารัฐบาลเป็นผู้ออกคำสั่งจนทำให้เกิดเหตุการณ์สลดและมีผู้สูญเสียชีวิตกว่า 90 คน
รวมทั้งจะอภิปรายในประเด็นการใช้ของงบประมาณลับในภารกิจด้านความมั่นคง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก
นอกจากนี้จะมีประเด็นที่ครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ
ส่วนประเด็นการทุจริตนั้น จะมีกรณีที่ดินเขาแพง ของ ตระกูลเทือกสุบรรณ-พร้อมพันธ์ ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะนำมาอภิปรายซ้ำรอยแผลเดิมของนายสุเทพอีกครั้ง
รัฐมนตรีอีกคนที่ตกเป็นเป้าหมายซักฟอกก็คือนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ที่เคยถูกอภิปรายเรื่องประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงของชิโน-ไทย มาคราวนี้ก็จถูกอภิปรายเช่นกัน ในประเด็นการประมูล-การจัดซื้อจัดจ้างในกระทรวง ที่เกี่ยวพันกับคนในเครือข่ายพรรคภูมิใจไทย
อย่างไรก็ตาม การอภิปรายครั้งนี้ จะเน้นที่ประเด็นเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยจะมีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วนของพรรคเป็นผู้นำการอภิปราย และเป็นที่คาดหมายกันว่าด้วยจำนวน ส.ส.เสียงข้างมากในขั้วพรรคร่วมรัฐบาล จึงเป็นเรื่องยากที่การอภิปรายจะส่งผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ แต่พรรคเพื่อไทยหวังว่าการอภิปรายเที่ยวนี้จะทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งของรัฐบาลให้มากที่สุด
กระนั้นก็ดี เมื่อตรวจสอบประเด็นอภิปรายแต่ละประเด็นแล้ว ฝ่ายรัฐบาลคงชี้แจงได้ไม่ยาก และบางเรื่องก็ย้อนเข้าตัวพรรคเพื่อไทยเอง เนื่องจากเคยทำมาก่อนเมื่อครั้งได้เป็นรัฐบาลแม้จะในนามชื่อพรรคอื่นก็ตาม
ในประเด็นการก่อหนี้สาธารณะเพื่อนำงบประมาณมาทำโครงการในลักษณะประชานิยมนั้น หากนำมาอภิปราย พรรคเพื่อไทยจะถูกย้อนกลับอย่างแน่นอน เพราะเป็นนโยบายที่เคยทำเมื่อครั้งยังเป็นรัฐบาลในนามพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน รวมทั้งภาพรวมของตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลชี้แจงได้ไม่ยาก
ส่วนประเด็นปัญหาในกระทรวงไอซีที ทั้งเรื่อง “ฮัทช์”และโทรศัพท์มือถือระบบ“3จี”นั้น ปัญหาความหมักหมมล่าช้า ก็เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการมีธุรกิจโทรคมนาคมเป็นของตนเอง ดังนั้นหากมีการนำประเด็นนี้มาอภิปราย พรรคเพื่อไทยจะกล้าลงลึกในประเด็นปัญหาเพียงใด
กรณีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ก็เช่นเดียวกัน พรรคเพื่อไทยจะถูกย้อนเกล็ดในฐานะเป็นผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการชุมนุมซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐบาล ดังนั้นฝ่ายรัฐบาลจึงสามารถที่จะใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการชุมนุมได้ หากจะอภิปรายในประเด็นนี้ ควรจะเป็นเรื่องความอ่อนแอของรัฐบาลจนทำให้สถานการณ์บานปลายเป็นการก่อจลาจลเผาบ้านเผาเมืองมากกว่า
การนำประเด็นการชุมนุมฯ มาอภิปรายอีกครั้งนั้น จึงหวังผลทางการเมืองในการปลุกระดมคนเสื้อแดงและสอดรับการเคลื่อนไหวในต่างประเทศ ของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความที่ทักษิณ ชินวัตร จ้างเอาไว้ มากกว่าการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างจริงจัง
ส่วนประเด็นที่ดินเขาแพง และการจัดซื้อจัดจ้างในกระทรวงมหาดไทย ก็เป็นที่รู้กันว่าคนในกลุ่มของพรรคเพื่อไทยเองก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนในประเด็นเหล่านั้นทั้งสิ้น แล้วพรรคฝ่ายค้านจะนำข้อมูลมาอภิปรายอย่างครบถ้วนหรือไม่
นอกจากนี้ ความไม่เป็นเอกภาพ ระหว่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองประธานพรรคเพื่อไทย และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค ยังจะส่งผลทำให้ประเด็นการอภิปรายไม่แหลมคมพอ
การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น จึงน่าจะเป็นเพียงการอภิปรายตามกำหนดการประจำปี หรือการอภิปรายแบบแก้บน ตามคำสั่งของทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริง มากกว่าที่จะเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเอาจริงเอาจังตามหน้าที่ของฝ่ายค้าน
และเป็นที่น่าสังเกตว่า ประเด็นสำคัญๆ ที่จะส่งผลอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศ อย่างกรณีการเสียดินแดนและผลประโยชน์ทางทะเลให้แก่กัมพูชา ที่สังคมกำลังจับตาอยู่ในขณะนี้ พรรคเพื่อไทยไม่แตะแม้แต่นิดเดียว เพราะตนเองก็มีส่วนร่วมในการสร้างความเสียหายดังกล่าวด้วย จึงมองได้อีกแง่หนึ่งว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้น ก็เป็นเพียงปาหี่ตบตาประชาชนระหว่างรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น