xs
xsm
sm
md
lg

สำนึกจริยธรรม ดินแดน และ MOU 43

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ปัญญาพลวัตร"
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ชาร์ล ดาร์วิน ได้กล่าวว่า ในบรรดาความแตกต่างระหว่างมนุษย์และสัตว์อื่นๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “สำนึกของจริยธรรม” ซึ่งเป็นการสรุปอย่างสั้นๆแต่เป็นคำที่กินใจและมีความหมายลึกซึ้ง สำนึกจริยธรรมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในบรรดาคุณลักษณะต่างๆของมนุษย์ทุกคน และชี้นำทางแก่มนุษย์ให้ปฏิบัติหน้าที่และรู้อย่างลึกซึ้งว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก และเมื่อตระหนักรู้และไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วว่าสิ่งใดคือความถูกต้อง พวกเขาก็จะลงมือปฏิบัติการในสิ่งนั้นโดยปราศจากความลังเล แม้ต้องแลกกับการเสียสละชีวิตหรือมีความเสี่ยงต่อการถูกจำกัดเสรีภาพหรือถูกกักขังก็ตาม

เดวิด ฮูม ได้เสริมว่า จริยธรรมกระตุ้นความปรารถนาที่ลึกซึ้งภายในจิต ส่งผลให้มนุษย์กระทำหรือป้องกันไม่ให้เขากระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สำหรับ “เหตุผล” แท้จริงแล้วหาได้มีพลังอำนาจในการชี้นำการกระทำของมนุษย์มากอย่างที่ผู้คนทั่วไปคิด ดังนั้นกฎแห่งจริยธรรม หาได้เป็นข้อสรุปที่มาจากเหตุผลของเรา

สิ่งที่กระตุ้นการกระทำของมนุษย์มีทั้งข้อเท็จจริงและการตัดสินเชิงคุณค่าจนกลายเป็นความเชื่อเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้น ข้อเท็จจริงอย่างเดียวไม่มีพลังเพียงพอที่กระตุ้นให้ผู้คนกระทำการทางสังคม แต่เมื่อเราเรียนรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้น และถูกจูงใจโดยรายละเอียดของมัน ก็จะทำให้จิตของเราประเมินและตัดสินว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ

ความแตกต่างระหว่าง “การดำรงอยู่” ของบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) พ.ศ. 2543 ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชากับ “การยกเลิก” คือ การดำรงอยู่ของ MOU ฉบับนี้ส่งผลร้ายแก่ประเทศไทยมากกว่าผลดี ผลร้ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ เป็นการเปิดช่องทางให้กัมพูชาใช้เป็นข้ออ้างในการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลกแก่เพียงฝ่ายเดียว และอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือดินแดนบริเวณเขาพระวิหาร รวมทั้งเปิดโอกาสให้กัมพูชาอ้างสิทธิเหนือดินแดนประเทศไทยในอีกหลายพื้นที่ และที่สำคัญคือความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะสูญเสียดินแดนมีอยู่ค่อนข้างสูง การอ้างเช่นนี้ของกัมพูชาไม่เคยปรากฎมาก่อนการเกิดขึ้นของ MOU 2543

การพูดว่า MOU 2543 เป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการสูญเสียดินแดนเป็นจำนวนของประเทศไทยแก่ประเทศกัมพูชา อาจทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าเป็นการมองโลกในแง่ร้ายและเป็นพวกคลั่งชาติ กลุ่มที่โจมตีผู้เสนอให้ยกเลิก MOU 2543 ว่าเป็นผู้คลั่งชาติ ดูเหมือนจะมี 2 กลุ่ม คือนักวิชาการบางคน กับนักการเมืองเกือบทั้งหมดที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับนักวิชาการบางคนอาจเห็นว่าการสูญเสียดินแดนเป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ เพราะพวกเขามองว่าดินแดนหรือที่ดิน (ที่ไม่อยู่ในการครอบครองหรือเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลของพวกเขา) เป็นเพียง “ชุมชนในจินตนาการ” หมายถึง ดินแดนหรือประเทศ หรือรัฐเป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา

แต่สรรพสิ่งทั้งหลายทางสังคม มีสิ่งใดเล่าที่มิใช่การสร้างของมนุษย์ แม้กระทั่งสิ่งที่มนุษย์เรียกว่าเป็นธรรมชาติ สิ่งที่ดำรงอยู่นั้นอาจดำรงอยู่อย่างนั้นอย่างที่มันเป็น แต่เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์เข้าไปทำความเข้าใจ ให้ความหมาย และพยายามนำมันมาสร้างให้เป็นประโยชน์ มีสิ่งใดบ้างเล่าที่สามารถหลีกเลี่ยงการสร้างภายใต้จินตนาการของมนุษย์ได้

หากนำแนวคิดของนักวิชาการกลุ่มนี้มาวิเคราะห์ความคิดพวกเขาหรือตัวตนของพวกเขาเอง ในทำนองเอา “หอกสนองคืนผู้ใช้” เราก็จะพบว่า นักวิชาการเหล่านั้นก็เป็นเพียง “ตัวตนในจินตนาการ” ซึ่งจินตนาการของพวกเขาได้สร้าง “ชุมชนในจินตนาการ” สำหรับพวกเขาขึ้นมา และพยายามผลักดันให้ผู้อื่นคล้อยตามความคิดของพวกเขา

หากเราคล้อยตามความคิดนี้เข้าไปมากๆหรือถึงกับลุ่มหลง ต่อไปเมื่อรัฐบาลกัมพูชาอ้างว่าปราสาทพนมรุ้งเป็นของพวกเขา หรือ ปราสาทหินพิมาย เป็นของประเทศกัมพูชา เพราะชาวขอมที่เป็นบรรพบุรุษของชาวกัมพูชาปัจจุบันเป็นผู้สร้าง นักวิชาการเหล่านี้ก็คงออกมาสนับสนุนให้คนไทยวางเฉย ขณะเดียวกันพวกเขาเองก็อาจพร้อมกับเขียนบทความหรือพูดสนับสนุนข้ออ้างของกัมพูชาก็ได้ พร้อมกับอาจวิพากษ์วิจารณ์คนไทยที่ออกมาคัดค้านว่าเป็นพวก “คลั่งชาติ” ขณะเดียวกันก็อาจบอกคนไทยอื่นๆให้วางเฉยหรือสนับสนุนให้กัมพูชาครอบครองปราสาททั้งสอง เพราะสิ่งนี้เป็นเพียง “ชุมชนในจินตนาการ” ดังที่พวกเขาพยายามบอกกับคนไทยขณะนี้เกี่ยวกับ ปราสาทเขาพระวิหาร และพื้นที่พิพาทบริเวณชายแดนไทยกับกัมพูชา

การวิเคราะห์ว่าสรรพสิ่งเป็นจินตนาการของมนุษย์ มีนัยว่า ไม่มีสิ่งใดเป็นจริง เมื่อไม่มีสิ่งใดเป็นจริงก็ไม่มีสิ่งใดมีคุณค่าให้มนุษย์ยึดถือ เราจะต้องปล่อยวาง กลุ่มที่วิเคราะห์แบบนี้อาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยเราสามารถแยกออกเป็นสองกลุ่มย่อย กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่วิเคราะห์เพื่อความหลุดพ้นจากสิ่งที่พวกเขาเข้าใจว่าเป็นมายา เช่นหากตัวเราวิเคราะห์สรรพสิ่งว่าล้วนแล้วแต่เป็นจินตนาการ หรือเป็นมายา หรืออวิชชา ยึดถือตามหลักการนี้ นำไปปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในสิ่งที่เราวิเคราะห์ เราก็จะใช้ชีวิตอย่างสมถะ อย่างเป็นนักบวช ห่างจากกิเลส ความเศร้าหมอง และคงหลุดพ้นจากมายาคติแห่งโลกที่เราเข้าใจว่ามันเป็นอย่างนั้น

กลุ่มที่สอง ใช้วิธีวิเคราะห์แบบนี้ และเรียกร้องให้ผู้อื่นยึดถือปฏิบัติตาม หรือวิพากษ์ผู้ที่มีความคิดต่างจากตนเอง ขณะเดียวกันตนเองปฏิบัติไม่เหมือนกับสิ่งที่ตนเองวิเคราะห์ หรือ เป็นพวก “พูดอย่างทำอย่าง” เป้าหมายของกลุ่มนี้คือ ความต้องการให้ผู้อื่นหรือผู้ที่เสียเปรียบยอมรับและจำนนต่อสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่คิดที่จะต่อสู้เรียกร้องใดๆ กล่าวคือวิธีวิเคราะห์แบบนี้ กลายเป็นเครื่องมือของผู้ได้เปรียบเพื่อดำรงรักษาสภาพเดิม หรือเปลี่ยนสภาพเดิมให้ตนเองได้เปรียบเพิ่มขึ้น

ในสังคมไทย กลุ่มนี้ประกอบด้วยนักวิชาการจำนวนหนึ่ง พวกเขาได้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐหรือนักการเมืองที่ได้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยเสียเปรียบกัมพูชา โดยรับงบประมาณจากกลไกของรัฐให้ดำเนินการวิจัยและโฆษณาชวนเชื่อ ภายใต้วาทกรรมของความเข้าใจร่วมหรือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ

ด้านนักการเมืองทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวและบอกกับประชาชนว่า MOU 2543 ส่งผลดีต่อประเทศไทย แต่การยืนยันของบรรดานักการเมืองเป็นจริงหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราจะต้องพิสูจน์ให้เห็นชัด

จากข่าวคราวที่ผมติดตามและสอบถามผู้คนอีกหลายคน ไม่มีใครตอบได้ว่ามีข้อมูลเชิงประจักษ์อะไรเลยที่บ่งชี้ว่า ประเทศไทยได้รับประโยชน์จาก MOU ฉบับนี้ มีบ้างก็เป็นเพียงข้ออ้างที่รัฐบาลพยายามจะพูด แต่ถ้าหากรัฐบาลมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์จาก MOU ฉบับนี้ ก็ขอให้ชี้แจงและแสดงต่อสาธารณะด้วย สำหรับขณะนี้ ผมขอสรุปเป็นเบื้องต้นก่อนว่า MOU 2543 มิได้สร้างประโยชน์ใดๆแก่ประเทศไทย ตรงกันข้ามกลับส่งผลเสียต่อบูรณภาพแห่งดินแดน และเป็นเรื่องที่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง

จากข้อสรุปดังกล่าวนำไปสู่คำถามที่ว่า ทำไมรัฐบาลจึงยังไม่ยกเลิก MOU 2543 เหตุผลที่เป็นไปได้มีสองประการ

ประการแรก คือ การผูกพันกับการตัดสินใจในอดีต กล่าวคือเมื่อมนุษย์ซึ่งอาจเป็นตนเอง หรือ พรรคตนเอง หรือคนที่ตนเองให้ความเคารพ ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป ซึ่งขณะที่ตัดสินใจนั้นยังไม่ทราบว่าผลสืบเนื่องของการตัดสินใจว่าดีหรือไม่ดีประการใด ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไปปรากฎว่าการตัดสินใจแบบนั้นส่งผลเสียต่อตนเอง องค์การ หรือประเทศชาติอย่างชัดเจน แต่เราก็ยังไม่ยกเลิกสิ่งที่ได้กระทำลงไป เพราะ หากยกเลิกก็เท่ากับว่าเราตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอับอายขายหน้า และยิ่งในสังคมไทยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักการเมืองและผู้บริหารยึดติดกันมาก บางครั้งแม้รู้ว่าการตัดสินใจในอดีตมีความผิดพลาด แต่ก็ปล่อยให้ความผิดพลาดนั้นดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ

กรณี MOU 2543 หากคุณอภิสิทธิ์ ไม่กล้ายกเลิกเพราะกลัวว่าคุณชวนจะเสียหน้าหรืออาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกโจมตี ผมอยากจะขอร้องให้คุณชวนใช้สำนึกแห่งจริยธรรมที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้น ซึ่งทำให้คุณชวนทราบดีว่าอะไรผิด อะไรถูก ขอให้คุณชวนบอกหรือขอร้องคุณอภิสิทธิ ซึ่งผมเชื่อว่านายกคนนี้ยังคงมีจริยธรรมหลงเหลืออยู่ไม่มากก็น้อย ให้ยกเลิก MOU 2543 เสียเถิด ก่อนที่จะถลำลึกและสร้างความเสียหายแก่ประเทศมากกว่านี้

ประการที่สอง นักการเมืองบางกลุ่มอาจได้ประโยชน์จาก MOU 2543 ซึ่งหมายความว่าพวกเขาได้ประโยชน์จากการที่ไทยเสียดินแดนแก่กัมพูชา ประโยชน์เหล่านี้ได้อย่างไร สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การเสียดินแดนของไทยย่อมทำให้ ฮุนเซนพึงพอใจ และแน่นอนว่าเขาต้องมอบประโยชน์ต่างตอบแทนแก่บุคลเหล่านี้ เช่น ยอมได้ลงทุนในกัมพูชาต่อไป ได้รับอภิสิทธิ์ในการทำธุรกิจในกัมพูชาต่อไปต่อไป ได้รับการคุ้มครองกรณีเผาประเทศไทยแล้วหนีไปอยู่ในกัมพูชา ยิ่งกว่านั้นสำหรับนักการเมืองบางคนที่ครองอำนาจในรัฐบาลปัจจุบัน ก็อาจได้รับการสัญญาจากฮุนเซน เกี่ยวกับผลประโยชน์ในทะเลอ่าวไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากดินแดนเหล่านั้นอยู่ในเขตกัมพูชา เช่น บริษัทของพรรคพวกตนเองอาจได้รับสัมปทานในแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจากรัฐบาลกัมพูชา

ภายใต้การศึกษาข้อเท็จจริงในรายละเอียด ทำให้เราประเมินและตัดสินใจได้ว่าควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร สิ่งนี้เป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทั่วไปพึงมี หากเราละเลยหรือแสร้งไม่ทราบว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก ภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ของเราก็จะตกต่ำลงไป ถึงเวลานั้นเราก็มีภาวะเดียวกับสัตว์อื่นๆทั่วไปที่ไม่มีสำนึกแห่งจริยธรรม ภาวะของสัตว์ทั่วๆไปนั้นคือ การแสวงหาประโยชน์และความอยู่รอดของตนเองเป็นหลัก โดยมิได้คำนึงถึงสิ่งอื่นๆรอบตัว มนุษย์คนใดที่ถูกครอบงำด้วยภาวะอย่างนี้ ย่อมเป็นผู้แปรเปลี่ยนสถานะของตนเอง

สำนึกแห่งจริยธรรมและความเป็นมนุษย์ของเรา ย่อมทำให้เราตอบตนเองได้ว่า การมีอยู่ของ MOU 2543 เป็นสิ่งที่ผิดหรือถูก ควรจะดำรงอยู่หรือควรจะยกเลิก หากใครยังคิดไม่ได้ก็กลับไปไตร่ตรองให้ดี

กำลังโหลดความคิดเห็น