xs
xsm
sm
md
lg

“ผอมแห้งแรงน้อย” และ “เลือดลมเดินไม่ปกติ” ในทัศนะของหมอยาไทย (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ประทีป ชุมพล


ชาวไทยสมัยก่อน ถ้ามีอาการ “กินไม่ได้ นอนไม่หลับ” มักจะพูดกันว่า น่าจะเป็นโรคกระษัย คำว่า กระษัย คือโรคชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างจะรู้จักกันแพร่หลายและตรงกับสภาพสังคมในสมัยนั้นเป็นอย่างดี เพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรเป็นต้องใช้แรงงาน ฉะนั้นการเป็นโรคกระษัยก็ไม่สามารถทำงานได้เช่นปกติ จึงสำคัญมากในสังคมไทย

กระษัย บางครั้งเขียนว่า ไกษย กไษย หรือกระสัย อาการของกระษัยหรือกษัยโรค ตำราทางการแพทย์แผนไทยอธิบายว่า โรคที่บังเกิดขึ้นแก่มนุษย์ ทำให้มีอาการแห่งความเสื่อมโทรมซูบผอม สุขภาพของร่างกายไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นโรคหรือไข้เสื่อมโทรมไปทีละน้อยเป็นเวลาต่อเนื่องกันโดยมิได้รับการบำบัดรักษา หรือรักษาแต่ไม่ถูกกับโรคหรือไข้นั้นๆ โดยตรง เนื่องจากไม่มีอาการอะไรรุนแรงให้เห็นได้ชัด มีอาการผอมแห้งแรงน้อย โลหิตจาง ผิวหนังซีดเหลือง

ปวดเมื่อยตามร่างกายและกล้ามเนื้อ บางครั้งก็ไอ บางทีไอเป็นโลหิต ทำให้รู้สึกแน่นและหนักตัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ ปัสสาวะเหลือง และปัสสาวะกะปริดกะปรอย ไม่มีกำลังทำให้ชาปลายมือปลายเท้า มีเหงื่อออกตามฝ่ามือฝ่าเท้า และเหงื่อออกตอนกลางคืน ยอกเสียวตามหัวอกและชายโครง บางคนผิวหนังตกกระตามร่างกาย กล้ามเนื้อชักหดและลีบ มีอาการสะท้านร้อนสะท้านหนาวเป็นคราวๆ และท้องผูกเป็นประจำ

ในคัมภีร์ไกษย ตำราที่ว่าด้วยโรคกระษัยกล่าวว่า “ลักษณะไกษยโรค ซึ่งพระอาจารย์ประมวนไว้มีประเภทยี่สิบหกจำพวก คือ ไกษยกล่อน 5 ไกษยน้ำ 1 ไกษยลม 1 ไกษยไฟ 1 ทั้ง 6 จำพวกนี้เกิดแต่กองสมุฏฐานธาตุ แจ้งอยู่ในคัมภีร์วุฒิกะโรค กล่าวคือ กล่อนห้าประการโน้นเสร็จแล้ว ในที่นี้จะกล่าวแต่กไษยอันเปนอุปปาติกะโรคสิบแปดจำพวกนี้ คือ ไกษยล้น ไกษยราก ไกษยเหล็ก ไกษยปู ไกษยจุก ไกษยปลาไหล ไกษยปลาหมอ ไกษยปลาดุก ไกษยปลวก ไกษยลิ้นกระบือ กระไกษยเต่า ไกษยดาน ไกษยท้น ไกษยเสียด ไกษยไฟ ไกษยน้ำ ไกษยเชือก ไกษยลม ประมวณเปนสิบแปดจำพวกด้วยกันดังกล่าวมานี้”

กระษัยยี่สิบหกจำพวกนั้น ตำราอธิบายรายละเอียดว่า แบ่งเป็นสองชนิด คือกระษัยชนิดที่เกิดจาก วุฒิกะโรค (วุทธิโรค) คือกระษัยที่เกิดจากลูกอัณฑะผิดปกติแปดจำพวก และกระษัยที่เกิดจาก อุปปาติกะโรค คือกระษัยที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุมีสิบแปดจำพวก

วุฒิกะโรค มีแปดจำพวก ได้แก่

กระษัยกล่อนดิน เกิดขึ้น คือ เส้นกล่อนตั้งเป็นก้อนอยู่ตามหัวหน่าวหน้าขาทั้งสองข้างแล้วเลื่อนลงไปถึงลูกอัณฑะ เกิดฟกบวมอักเสบ จับต้องไม่ได้ หรือตั้งเป็นก้อนหรือเถา ขึ้นมาที่หัวหน่าว อาการท้องผูก ขัดหัวหน่าว เส้นท้องตึง เจ็บสะเอว มือเท้าชาหรือตาย วิงเวียน ตาฝ้าฟาง หูอื้อ ท้องขึ้น กินอาหารไม่ได้ มักปวดเสียดแทงแต่หัวหน่าวถึงยอดอก

กระษัยกล่อนน้ำ คือ เลือด น้ำเหลือง เสมหะ ทั้ง 3 อย่าง หรือเฉพาะอย่าง เป็นตั้งแต่ที่ใต้สะดือประมาณ 3 นิ้ว บางทีลามถึงยอดอก ถ้าเป็นสตรีท่านว่าโลหิตเข้าฝักหรือโลหิตแห้งติดกระดูกสันหลังและหัวหน่าว บางทีโลหิตจับหัวใจ ให้คลั่งไคล้เช่นผีเข้า มีอาการให้ปวด ขัดยอกและจุกเสียดถึงยอดอกอย่างทรมาน อาจกลายเป็นเป็นโรคมุตกิจมุตฆาต หรือเรียกว่า กระษัยเลือด

กระษัยกล่อนลม ว่าด้วยลมจำพวกหนึ่ง ข้างขึ้นข้างแรมกำเริบขึ้นคล้ายกัน เมื่อถูกความเย็นอาการก็คล้ายคนดีๆ เมื่อถูกความร้อนมีอาการให้ร้อนในอกให้จุกเสียด ท้องลั่นเหมือนถูกขบ กัด ตอดในท้องและปวดเจ็บยิ่งนัก เมื่อรับประทานอาหารแล้วก็ค่อยทุเลา

กระษัยกล่อนไฟ คือ ธาตุไฟพัดไปไม่ตลอด จึงเกิดวิปริตแปรปรวนไปต่างๆ บางทีเกิดขึ้นที่ทรวงอกมีอาการให้จุกแตกขึ้นดังจะขาดใจ ให้ร้อนรุ่มดั่งเปลวไฟ เหงื่อแตกทุกขุมขน

กระษัยกล่อนเถา เกิดขึ้นเพื่อลมแล่นเข้าในลำเส้นนั้นให้เส้นพองแข็งระหว่างหัวหน่าวมาประจบเกลียวข้าง ถ้าชายขึ้นขวา หญิงขึ้นซ้าย เสียดมาตามชายโครงถึงยอดอก อาการให้ปวดขบในอก เสียวตลอดถึงลำคอ เมื่ออาเจียนออกอาการค่อยเบาขึ้น น้ำปัสสาวะแดงหรือเหลืองเล็กน้อย บางครั้งตกตะกอนก็มี

ส่วนอีก 3 จำพวก คือกระษัยไฟ กระษัยน้ำ และกระษัยลม ตำราซึ่งเรียกชื่อเหมือนกันและมีอาการใกล้เคียงกัน อาจเป็นเพราะบางตำราเรียกว่า โรคกระษัย ว่า โรคกล่อน แต่บางตำรากล่าวว่าที่แยกออกไป เพราะว่าคำว่ากล่อนนำหน้า คือโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นเอ็นภายใน

สำหรับกระษัยที่เป็นอุปปาติกะโรคนั้น มี 18 จำพวก ยกตัวอย่างเช่น

กระษัยราก บังเกิดลมร้องภายใน ในอาเจียนลมเปล่า และให้ลั่นอยู่ในท้องดังจ๊อกๆ แล้วให้ตึงไปทั้งกายดุจบุคคลเอาเชือกมารัดไว้ ให้ผู้นั้นร้องครางอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนมิได้ขาด

กระษัยเหล็ก ทำให้ปวดหัวหน่าว และท้องน้อยนั้นแข็งดุจดังแผ่นหิน จะไหวตัวไปมาก็มิได้ ครั้งแก่เข้าแข็งลามขึ้นไปถึงยอดอก แล้วให้บริโภคอาหารมิได้ ให้ปวดขบดังจะขาดใจตาย

กระษัยปู มีอาการดังปูทะเลเข้ากินอยู่ในกระเพาะข้าว ทำให้ปวดขบท้องน้อยเป็นกำลัง บริโภคอาหารลงไปในกระเพาะเมื่อใดค่อยสงบลง ครั้งสิ้นอาหารแล้วกระทำให้พัดอยู่ดุจดังกงเกวียน ลั่นอยู่ในตามลำไส้ เจ็บดังจะขาดใจตาย

กระษัยปลาไหล ปัสสาวะและอุจจาระขัด ลักษณะอุจจาระเหลืองดังขมิ้น บางทีแดงดังฝางต้ม หมอยาเชื่อว่าตัวกระษัยพันขึ้นมาตามลำไส้ หัวหยั่งขึ้นไปถึงชายตับและกระเพาะข้าว ถ้าอาหารหมดกระเพาะก็กัดตับและม้ามทำให้เจ็บปวดเป็นกำลัง บางทีก็เมื่อขบทุกข้อกระดูกและขนลุกชันดังไข้จับ

กระษัยปลาหมอ เกิดขึ้นในลำไส้ ถ้าข้างขึ้นตัวกระษัยบ่ายศีรษะขึ้นมากัดเอาชายตับชายม้ามและปอด กระทำให้จุก หมอยาไทยเชื่อว่าถ้าข้างแรมตัวกระษัยบ่ายศีรษะลงในท้องน้อยและหัวหน่าว กระทำให้ขัดอุจจาระและปัสสาวะ และให้ผู้นั้นเจ็บปวดมีความเวทนาเป็นกำลัง ให้ปวดร้องครางอยู่ดังจะขาดใจตาย

กระษัยปลาดุก เลือดและน้ำเหลืองระคนกัน มีจิตวิญญาณดุจปลาดุกจริงๆ เกิดขึ้นที่กระเพาะข้าว ถ้าสตรีจับเอาที่มดลูก มีสัณฐานดังแม่หญิงทรงครรภ์ได้เจ็ดเดือนแปดเดือน บางทีแทงไปข้างซ้ายขวา ถ้าข้างขึ้นยันไปเอายอดอกให้เจ็บอกต้องลมมิได้ บางทีให้หอบให้สะอึก ถ้าข้างแรมเลื่อนลงมาอยู่ในท้องน้อยและหัวหน่าว บางทีต่ำลงไปกระดูกสันหลัง ดึงลงไปดันขาทั้งสอง (ติดตามตอนจบในสัปดาห์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น