กระษัยปลวก ทำให้ปวดขบเอาทรวงอก เป็นแล้วหายไปได้หนึ่งถึงสามเดือนจึงกลับมาเป็นอีกครั้ง เป็นเช่นนี้หลายหน ครั้งแก่เข้าทำให้ผิวเนื้อซีดและผมแห้งลง
กระษัยลิ้นกระบือ บังเกิดเพื่อให้โลหิตเป็นลิ่มติดอยู่ชายตับเป็นตัวแข็งยาวออกมาทางชายโครงข้างขวา มีสัณฐานดังลิ้นกระบือ กระทำให้ครั่นตัวให้ร้อน ให้จับเป็นเวลาให้จุก
กระษัยดาน ตั้งอยู่ยอดอกดังแผ่นศิลา ถ้าตั้งลามลงไปถึงท้องน้อยแล้วเมื่อใด กระทำให้ร้องครางอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน บางครั้งจุกเสียดแน่นหน้าอก บริโภคอาหารมิได้
กระษัยที่เกิดจากอุปปาติกะโรคทั้งสิบแปด ชนิดนั้นมีชื่อและการซ้ำกันสามจำพวกคือ กระษัยไฟ กระษัยน้ำ และกระษัยลม ซึ่งไม่มีคำอธิบายอย่างละเอียด จึงไม่ทราบว่าเป็นชื่อซ้ำกัน แต่มีข้อต่างกันหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ยังมีชื่อที่เกี่ยวกับกระษัยย่อยออกไปอีก เช่น กระษัยข้น กระษัยเถา กระษัยผิวหนัง เป็นต้น
เป็นอันว่าโรคกระษัยในสังคมเกษตรกรรมเช่นในประเทศไทยนั้นมีมากมาย เรียกได้ว่าเกินพรรณนาหมด ใครอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมหาอ่านได้จากพระคัมภีร์ไกษย และบอกกันล่วงหน้าว่าเข้าใจยาก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย
ส่วนสำนวนไทยที่กล่าวว่า “เลือดลมเดินเป็นปกติ” หมายถึง คนที่มีสุขภาพพลานามัยดี สุขภาพแข็งแรง แต่ถ้าเป็นคนร่างกายไม่สมบูรณ์ ขี้โรค ก็จะตรงกับสำนวนว่า “เลือดลมเดินไม่ปกติ” ซึ่งตามคำอธิบายทางการแพทย์แผนไทยว่า เป็นโรคลมและโรคเลือด ดังนั้น คำว่า “ลม” และ “เลือด” ตามความหมายของการแพทย์แผนไทย หมายถึง “โรคชนิดหนึ่ง” นั่นเอง
ตำราที่อธิบายถึงโรคเลือดและลม มีชื่อเรียกว่า พระคัมภีร์ชวดาร ในเล่มนี้กล่าวความสำคัญของเลือดและลมว่า
“สิทธิการิยะ อาจารย์กล่าวไว้ว่า มนุษย์ทั้งหลายจะเกิดสรรพโรคต่างๆ ตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดา ตราบเท่าจนอายุขัย อาศัยโลหิตแลลม...”
เลือดและลมในความเชื่อทางการแพทย์แผนไทยนั้นมีความสำคัญมาก และถือว่าเกี่ยวเนื่องกัน เชื่อว่าทุกชีวิตจะดำรงอยู่ได้ต้องอาศัยเลือดและลม เพราะถ้าเลือดและลมในร่างกายขาดความสมดุล จะทำให้ร่างกายไม่ปกติ ขี้โรค คือมีโรคภัยไข้เจ็บ
ลม ในความหมายทางการแพทย์แผนไทย มีความหมายอยู่สามประการ
หนึ่ง หมายถึง ธาตุอย่างหนึ่งในธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุลม ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว
ความหมายที่สอง คือ ทิศทางการเคลื่อนไหว อาจจะเป็นระบบไหลเวียนของโลหิต ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท เป็นต้น
สำหรับความหมายที่สาม ลมใช้แทนคำว่า โรคชนิดหนึ่ง
ส่วน เลือดหรือโลหิต นั้น เป็นของเหลวในร่างกาย ปกติมีสีแดง คือเลือดดี ร่างกายก็จะเป็นปกติดี แต่ถ้าเลือดไม่ดี ทางการแพทย์แผนไทยเรียกว่า โลหิตทุจริตโทษ แบ่งได้เป็นหัวข้อห้าประการ อธิบายดังนี้
โลหิตระดูร้าง โรคเฉพาะสตรี คือ เมื่อจะบังเกิดระดูมาไม่ปกติ บางทีเป็นสีดำเน่าเหม็น บางทีมีสีดุจน้ำชานหมาก บางทีมีสีขุ่นใสดุจน้ำคาวปลา บางทีมีสีเหมือนน้ำซาวข้าว นานเข้าจะกลายเป็นมานโลหิต คือ อาการท้องพองโตสาเหตุจากเลือดเป็นพิษ
โลหิตเน่า สาเหตุเพราะเลือดคั่งค้างอยู่ภายในร่างกาย ขณะระดูมาไม่ปรกติหรือเรียกว่า โลหิตระดูร้าง เลือดที่ตกค้างอยู่นั้นจะเน่าและพิษจะกระจายไปทั่วขุมขน บางทีแล่นเข้าจับหัวใจ บางทีแล่นออกผิวเนื้อผุดเป็นสีดำแดงหรือเขียว บางครั้งทำให้เกิดอาการคันก็มี
โลหิตคลอดบุตร เกิดอาการเลือดผิดปกติ เวลาสตรีคลอดบุตรเลือดคั่งเป็นก้อน เกิดอาการตาเหลือก ตาซ้อน บางครั้งขอบตา ริมฝีปากและเล็บมือเล็บเท้าเขียว
โลหิตต้องพิฆาต เลือดผิดปกติอันเกิดจากการถูกกระทบจากของแข็ง เกิดห้อเลือดบางครั้งเข้าไประคนกับเลือดที่หมุนเวียนในร่างกาย เกิดแห้งกรังติดกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดเจ็บปวด ซึ่งอาการดังกล่าวนี้เรียกว่า โลหิตต้องพิฆาต
โลหิตตกหมกซ้ำ เกิดจากเลือดเน่าเสียภายใน ซึ่งร่างกายขับออกมาไม่หมด จึงตกหมกซ้ำอยู่ในเส้นเอ็น สันหลัง และหัวหน่าว ต่อมาเกิดเป็นฝีภายใน เช่น ฝียอดคว่ำ ฝีเอ็น ฝีปลวก และมานโลหิต
ในด้านรายละเอียดกับชนิดของโรคเลือดและโรคลมนั้นมีมาก หมอยาไทยกล่าวรวมๆ กันว่าโรคเลือดลมผิดปกตินั้น มีมากกว่าห้าร้อยจำพวก คือมีมากมายหลายชนิดนั่นเอง
ตัวอย่างชื่อของโรคลมหรือโรคที่เกิดจากลมมีมากมาย เช่น
ลมในกองเลือด ลมเกิดจากผิดปกติของดี เอ็นกระดูกเนื้อและหัวใจ ซึ่งหมอยาไทยเป็นแหล่งกำเนิดของเลือด ทำให้เลือดหมุนเวียนไม่สะดวก พบมากในสตรี ทำให้มีอาการไม่ปกติ
ลมปั่นป่วน ลมในและนอกลำไส้ที่ทำให้ปั่นป่วนในท้อง
ลมบ้าหมู เกิดขึ้นแล้วมีอาการชัก น้ำลายเป็นฟอง มือเท้ากำ
ส่วนตัวอย่างโรคเลือดก็มีมากมายเช่นกัน ชื่อออกแปลกๆ มักจะไม่ค่อยคุ้นหูนัก เช่น
เลือดร้อน อาการวูบวาบของสตรีก่อนมีประจำเดือน หรือปรากฏในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือน
เลือดออกทางทวารทั้งเก้า คือ อาการที่เลือดออกหางตา หู จมูก ปาก ทวารหนัก และทวารเบา
การวินิจฉัยโรคเลือดลมนั้น หมอยาไทยจะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจการเต้นของหัวใจ คือการจับชีพจร การตรวจไข้ โดยใช้มือคลำร่างกาย หรือการตรวจดูอวัยวะที่ผู้ป่วยมีอาการ เช่น ทางผิวหนัง หู ตา การตรวจเส้นและโครงสร้างของร่างกาย คือตรวจวัดองศาของข้อต่างๆ ว่าเคลื่อนไหวหรือติดขัดมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์ถึงพฤติกรรม มูลเหตุการณ์เกิดโรค เช่น เรื่องอาหารการกินผิดปกติหรือไม่ มีการอดหรือไม่ คือ อดข้าว อดน้ำ อดอาหาร หรืออดกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ การอยู่ในที่อากาศไม่เหมาะสม มีการฝืนอิริยาบถทำให้โครงสร้างของร่างกายขาดความสมดุล การทำงานหนัก มีกิจกรรมทางเพศมาก หรือการเศร้าเสียใจมากเกินไป ร่างกายมีโรคมาเบียดเบียน ทำให้เกิดโรคเลือดและลมเดินไม่ปกติ
สำหรับการรักษาโรคเกี่ยวกับเลือดลมเดินไม่ปกตินั้น ขั้นพื้นฐานหมอยาไทยมักจะใช้ยารับประทาน แต่มักเริ่มด้วยวิธีนวดบำบัด มีการจับเส้นหรือนวดเฟ้น เพื่อให้เลือดลมเดินเป็นปกติ บางครั้งอาจจะหายโดยไม่ต้องใช้ยากิน แต้ถ้านวดบำบัดแล้ว อาการของโรคไม่ทุเลา หมอยาไทยก็จะต้องเจียดยาสมุนไพรมาให้ผู้ป่วยรับประทาน บางครั้งการนวดบำบัดก็ทำไปพร้อมๆ กับการรับประทานยาสมุนไพร