xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงานเผยสถิติลูกจ้างป่วยน้อยลง ชูป้องกันมากกว่าการรักษา ผุดคลินิกรักษาโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“เฉลิมชัย” เปิดประชุมเครือข่ายคลินิกโรคจากการทำงาน เพื่อดูแลลูกจ้างให้เข้าถึงการรักษา-เงินทดแทน เผยสถิติผู้ป่วยลดน้อยลง พร้อมประสานความร่วมมือทุกหน่วยงาน เน้นป้องกันมากกว่าการรักษา

วานนี้ (21 มี.ค.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการดำเนินและสร้างเครือข่ายโครงการคลินิกโรคจากการทำงานให้กับโรงพยาบาล 68 แห่ง ในระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคม 2554 เพื่อจัดระบบการดูแลลูกจ้างให้มีช่องทางเข้าถึงการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ได้รับเงินทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และที่สำคัญให้เน้นการป้องกันดูแลไม่ให้เกิดเจ็บป่วย

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจับมือดูแลลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานที่เจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งมีการฟื้นฟูสมรรถภาพ การเฝ้าระวังสาเหตุที่จะเกิดโรคซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีด้วย

นายเฉลิมชัยเปิดเผยข้อมูลด้วยว่า ในปี 2554 มีโรงพยาบาลเข้าร่วมเครือข่ายเพิ่มอีก 23 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 37 แห่ง ไม่รวมถึงโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี และโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ร่วมโครงการแต่แรกเริ่ม โดยทั้งหมดจำนวนกว่า 308,500 แห่งให้บริการแก่ผู้ใช้แรงงานกว่า 7.9 ล้านรายทั่วประเทศ โดยมีสถิติในปี 2553 มีการลดจำนวนผู้เจ็บป่วยจากการทำงานโดยหยุดงานเป็นระยะเวลา 3 วัน และผู้สูญเสียอวัยวะลง 5.4 ราย/พันราย จากเดิมในปี 2552 ที่มีจำนวน 6.28 ราย/พันราย

“เป็นตัวเลขที่คิดว่าถ้าตัวเลขยิ่งน้อยประสิทธิภาพการให้บริการของโรงพยาบาลในเครือข่ายก็จะยิ่งสูงขึ้น ปีนี้เรามีสถิติลดลงกว่าสองเปอร์เซ็นต์ และเราจะขยายบริการต่อไปเรื่อยๆ โดยจะลดอัตราให้น้อยลง ก็โดยหนทางที่เป็นไปได้คือการป้องกันซึ่งสำคัญกว่าการรักษา” รมว.แรงงานกล่าว

สำหรับข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้ประสบอันตรายจากการทำงานจำนวนมาก รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยในแต่ละปีต้องจ่ายเงินทดแทนเฉลี่ยมากกว่า 1,500 ล้านบาท ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้สัมภาษณ์ว่ามีเงินในกองทุนประกันสังคมอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาทเท่านั้น ในด้านการประสานความร่วมมือต่อเรื่องนี้ ได้มีคณะกรรมการด้านต่างๆ ร่วมมือกันดูแลป้องกันโรคและอุบัติเหตุจากการทำงาน อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน คณะอนุกรรมการบริหารระเบียบวาระแห่งชาติฯ คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน คณะอนุกรรมการความปลอดภัยฯ ระดับจังหวัด คณะกรรมการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (กรมควบคุมโรค) คณะกรรมการสาธารณสุข (กรมอนามัย)

ทั้งนี้ ในส่วนของแนวทางส่งเสริม ป้องกันโรคและอุบัติเหตุจากการทำงาน มีแนวทางหลายประการคือ ออกกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยฯ บังคับใช้กฎหมาย ส่งเสริมความปลอดภัย ความร่วมมือจากเครือข่ายทั้งโรงพยาบาลต่างๆ ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ซึ่งต้องให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม ป้องกัน มากกว่าการเยียวยา รักษา ฟื้นฟูเป็นสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น