xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มแพทย์หนุนนายกฯแบน “แร่ใยหิน” หลังทั่วโลกแบนแล้วกว่า 60 ประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
หลายหน่วยงานร่วมแบน “แร่ใยหิน” หลังพบสารก่อมะเร็ง เผยกว่า 60 ประเทศแบนแล้ว ขณะชาวอเมริกา-ยุโรป พบป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดนับพันราย ส่วนไทยพบผู้ป่วยด้วยมะเร็งชนิดเดียวกัน 1 ราย

วันนี้ (11 มี.) ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ สมาพันธ์อาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม สมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ราชวิทยาลัยแพทย์โรคทรวงอกและพยาธิแพทย์ นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม และพยาบาลอาชีวอนามัย ร่วมกันแถลงข่าวสนับสนุนนายกรัฐมนตรีในการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย หลังฝ่ายต่อต้านยกเหตุผลขึ้นมาต่อสู้กับข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยอมรับของนานาชาติแล้วก็คือแทบจะไม่มีผู้ป่วยด้วยโรคเนื่องจากแร่ใยหิน โดยเฉพาะไครโซไทล์ในประเทศไทยเลย ทั้งนี้แร่ใยหินทุกชนิด รวมทั้งไครโซไทล์ เป็นสารก่อมะเร็ง จากการพิจารณาขององค์การอนามัยโลก(WHO)และองค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ ประเทศต่างๆ เห็นถึงผลเสียของแร่ใยหินที่มีต่อสุขภาพมนุษย์จึงได้ยกเลิกการผลิต นำเข้าและส่งออกแร่ใยหิน รวมแล้วเกือบ 60 ประเทศ

ผศ.พญ.ดร.พิชญา พรรคทองสุข หัวหน้าหน่วยอาชีวอนามัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สมาพันธ์อาชีวอนามัยฯขอสนับสนุนนายกรัฐมนตรีในการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย รวมทั้งการผลิตและนำเข้า ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติไว้เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2554 และเตรียมจะนำเข้าให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เนื่องจากเป็นวัสดุที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง จากประสบการณ์นานาชาติ ที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมในทวีปยุโรปและอเมริกา ที่ใช้แร่ใยหินมาก่อนไทย ก็พบการป่วยด้วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากแร่ใยหินจำนวนมาก เช่น อังกฤษพบผู้ป่วยประมาณปีละ 1,600 คน สหรัฐอเมริกาปีละ 2,800 คน ฝรั่งเศสปีละ 750 คน เช่นเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น พบมะเร็งเยื่อหุ้มปอดประมาณปีละ 800 ราย และแม้ประเทศเหล่านี้จะยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้ว ก็ยังมีรายงานการเกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการบริโภคในอดีตมายาวนาน ประเทศไทยเองพบผู้ป่วยรายแรกที่เป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากสารแร่ใยหินเมื่อ 2 ปีก่อน โดยผู้ป่วยรายนี้ มีประวัติทำงานสัมผัสแร่ใยหินเป็นเวลานาน และมีอาการและภาพรังสีปอด รวมทั้งพยาธิวิทยาเข้าได้กับมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากแร่ใยหิน แต่ยังมีข้อขัดแย้งกันเองระหว่างนักวิชาการ ซึ่งไม่ได้มองความรู้หรือสิ่งที่พบในต่างประเทศ

“ขณะนี้องค์กรสุขภาพนานาชาติเช่น องค์การอนามัยโลก องค์กรกรรมการสากล (ILO) และองค์กรสุขภาพอื่นๆอีกมากมายสนับสนุนและเรียกร้องให้ทั่วโลกยกเลิกการใช้แร่ใยหิน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชีย ซึ่งกลายเป็นตลาดหลักของบริโภคแร่ใยหิน หลังจากการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในหลายประเทศทั่วโลกในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขอุตสาหกรรมเกี่ยวกับแร่ใยหินปีละแสนกว่าตัน ที่หลายประเทศยกเลิกการใช้แล้วทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ไหลเข้ามาในตลาดอุตสาหกรรมของประเทศไทยจำนวนมากกว่าร้อยละ 90 เป็นอุตสาหกรรมกระเบื้องมุงหลังคา รองลงมาคืออุตสาหกรรมการผลิตเบรก คลัชท์ในรถยนต์ อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดของผู้ป่วยในประเทศไทย ยังไม่พบมากนัก เพราะเกิดจากปัจจัยที่เชื้ออยู่ในระยะฟักตัว 30-40 ปี กอปรกับคนงานที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่มีความรู้ว่าตนเองได้สัมผัสหรือทำงานเกี่ยวกับแร่ใยหิน จึงไม่ได้ให้ข้อมูลกับแพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยโรค ดังนั้นการสัมมนาครั้งนี้ทีมแพทย์ได้มีการบูรณาการการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่สืบเนื่องมาจากการสัมผัสแร่ใยหิน ขณะเดียวกันต้องให้ความรู้แก่คนงานด้วยว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร และสังเกตอาการป่วยได้อย่างไร” ผศ.พญ.ดร.พิชญา กล่าว

ศ.นพ.ดร.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ฝ่ายวิชาการ สมาพันธ์อาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และหัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม กรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยเคยมีรายงานการเกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากแร่ใยหิน 1 ราย ในปี 2550 เป็นชายไทยอายุ 75 ปี ทำงานสัมผัสแร่ใยหินเป็นเวลา 24 ปี และก่อนหน้านี้ก็มีรายงานมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมาก่อน แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับประวัติอาชีพสัมผัสแร่ใยหินได้ การที่ประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในระยะนี้ก็คล้ายกับประสบการณ์ระยะแรกของการระบาดของโรคในต่างประเทศที่เคยใช้แร่ใยหินหลายประเทศทั้งประเทศกำลังพัฒนา เช่น บราซิล อินเดีย หรือประเทศพัฒนาแล้วเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี ซึ่งจากประสบการณ์ต่างประเทศดังกล่าวสรุปปัญหาว่าน่าจะเกิดจากขาดการซักประวัติอาชีพ กระบวนการวินิจฉัยโรคยังขาดความสมบูรณ์ หรือการที่ระยะฟักตัวของโรคยาวมากถึง 40 ปี ทำให้ยากต่อการเชื่อมโยงกับการสัมผัสแร่ใยหินในอดีต นอกจากนี้ ประเทศไทยเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมตามหลังประเทศอุตสาหกรรมก็มีผลโดยตรงทำให้การก่อตัวของโรคช้ากว่าในยุโรปและอเมริกา

“สมาพันธ์คาดการณ์ว่า ไทยต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติจากโรคมะเร็งปอด และเยื่อหุ้มปอดจากแร่ใยหินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคตอันใกล้ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการบริโภคแร่ใยหินปริมาณประมาณ 3 กก.ต่อคนต่อปีซึ่งสูงเป็นอันดับสองของโลกของประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน สมาพันธ์ฯจึงได้เล็งเห็นปัญหาสุขภาพจากแร่ใยหิน และได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรณรงค์ยกเลิกการใช้แร่ใยหินมาโดยตลอด จนขณะนี้เป็นมติของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และได้ขับเคลื่อนผ่านขั้นตอนต่างๆ จนเหลือแค่รอการพิจารณาจาก ครม.ในอีก 2 เดือนข้างหน้า” ศ.นพ.ดร.พรชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น