รมช.สธ.เผย ศูนย์เด็กเล็กเป็นแหล่งของโรคติดต่อในเด็ก ทั้งไข้หวัด โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน พร้อมทำคู่มือประเมินโดยใช้มาตรฐาน 3 ดี เชื่อสามารถทำให้ศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่ 20,000 แห่งทั่วประเทศเป็นเขตปลอดโรคได้ภายในปี 2556
ดร.พรรณสิริ กลุนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายจะพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศที่มีประมาณ 20,000 แห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กอยู่รวมกันจำนวนมากให้เป็นเขตปลอดโรคติดต่อภายในปี 2556 ปัจจุบันทั่วประเทศมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ประมาณ 700,000 คน ที่ถูกฝากเลี้ยงในศูนย์เด็กเล็ก โรคที่พบบ่อยในเด็กวัยนี้ ได้แก่ ไข้หวัด โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน หากมีการเจ็บป่วยในศูนย์เด็กเล็ก จะสามารถแพร่เชื้อโรคติดต่อกันได้ง่าย เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิต้านทานต่ำอยู่แล้ว จึงมีโอกาสป่วยบ่อย และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและสุขภาพโดยรวมของเด็กในปี 2554 นี้ ตั้งเป้าพัฒนา 6,000 แห่ง
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กดังกล่าว จะให้กรมควบคุมโรคต่อยอดจากโครงการศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ของกรมอนามัย ที่เน้นเรื่องการเลี้ยงดูให้เด็กมีความสมบูรณ์ทางกาย จิต สังคม และสติปัญญา สภาพแวดล้อมสะอาด ปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพ และพัฒนาการเด็กอย่างเหมาะสม โดยเชื่อมโยงเรื่องการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ให้เป็นศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค เพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจาย และลดการป่วยของเด็ก ทั้งนี้ จากการประเมินการเจ็บป่วยของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ พบว่า เด็กในเขตเมืองจะป่วยเป็นหวัดเฉลี่ยคนละ 5-8 ครั้งต่อปี เด็กในเขตชนบทจะป่วยน้อยกว่าเฉลี่ยคนละ 3-5 ครั้งต่อปี ส่วนโรคมือเท้าปาก ในปี 2553 มีเด็กป่วย 11,075 ราย หรือร้อยละ 90 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่มี 12364 ราย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน พบเด็กป่วย 377,022 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 ของผู้ป่วยที่มีทุกอายุ 1,335,794 ราย
ด้านนายแพทย์ มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมากรมควบคุมโรค ได้นำร่องศึกษาพัฒนารูปแบบการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลจำนวน 18 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา และสุราษฎร์ธานี โดยอบรมให้ความรู้ครูผู้ดูแลเด็ก ผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการในการป้องกันควบคุมโรค พบว่า ได้ผลดี แนวโน้มอัตราป่วยโรคหวัดในเด็ก ลดลงจาก 25 ครั้ง เหลือ 6 ครั้งต่อเด็ก 100 คน ส่วนโรคมือ เท้า ปาก ไม่มีการระบาดในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลเลย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมีอัตราป่วยลดลง
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้เป็นเขตปลอดโรค กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือการประเมินศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์และมาตรฐาน 3 ดี ได้แก่ 1.ครูมีสุขภาพดีและความรู้ดี 2.การบริหารจัดการดี 3.สภาพแวดล้อมดี โดยมีแนวทางปฏิบัติ 10 มาตรการสู่ศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค ได้แก่ 1.ครูผู้ดูแลทุกคน ต้องได้รับการอบรมเรื่องการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กเล็กอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 2.มีการตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนเด็กทุกราย 3.มีการตรวจสุขภาพร่างกายและบันทึกอาการป่วยของเด็กทุกคน ทุกวัน 4.มาตรการเบื้องต้นในแยกเด็กป่วย เพื่อป้องกันควบคุมโรค ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ การทำความสะอาด และการทำลายเชื้ออย่างถูกต้อง 5.ครูผู้ดูแลเด็กทุกคน ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีหรือเอ็กซเรย์ปอดอย่างน้อยละทุก 1-2 ปี 6.ครูผู้ดูแลเด็กทุกคน มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ หากเจ็บป่วย ควรหยุดอยู่บ้านจนกว่าจะหาย 7.ครูผู้ดูแลเด็ก สอนให้ความรู้เด็กในการป้องกันควบคุมโรคสัปดาห์ละ1ครั้ง 8.ครูผู้ดูแลเด็ก จัดให้มีกิจกรรมการล้างมือทุกวัน 9.ครูผู้ดูแลเด็ก ดูแลเด็กป่วยเบื้องต้นและส่งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 10.ครูผู้ดูแลเด็กจัดกิจกรรมให้เจ้าหน้าทีสาธารณสุขให้ความรู้ผู้ปกครอง เรื่องโรคหวัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และโรคมือเท้าปาก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง