ผอ.สถาบันราชประชาสมาสัย เผยพื้นที่จ.ชายแดนใต้ สองอำเภอภาคอีสานพบโรคเรื้อนชุก ตั้งเป้าลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยในปี 2554 หวั่นแพทย์ด้านนี้ลดลง เหตุภาพรวมโรคไม่มาก แพทย์ไม่สนใจ
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) พร้อมด้วย นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นสพ.พลายยงค์ สการะเศรณี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ นำคณะสื่อมวลชนเดินทางเพื่อศึกษาดูงานการป้องกันควบคุมโรคเรื้อนตามแนวพระราชดำริ ที่หมู่บ้านไตรสภาวคาม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
โดย นพ.รัชต์ วงศ์ตรังคพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชประชาสมาชัย กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเรื้อน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียตระกูลเดียวกับวัณโรค แต่แตกต่างตรงที่เชื้อแบคทีเรียของโรคเรื้อนจะอยู่ที่ผิวหนังและบริเวณเส้นประสาท ขณะที่แบคทีเรียของวัณโรคจะเกิดบริเวณปอด สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อนจะมีอาการที่ผิวหนังจะพบตุ่มแดง ไม่คัน แต่รักษาทายาเป็นระยะเวลานานก็ไม่หาย ส่วนเชื้อที่เส้นประสาทจะมีอาการชา นิ้วมือหงิกงอ เป็นต้น ซึ่งเชื้อโรคเรื้อนนี้สามารถติดต่อกันได้จากการคลุกคลีเป็นเวลานาน มีเวลาฟักตัวนานถึง 3-5 ปี ผู้ป่วยบางรายไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคเรื้อนไปรักษาตามอาการก็ทำให้ไม่หายขาด เนื่องจากการรักษาโรคเรื้อนจะต้องให้ยาฆ่าเชื้อ โดยอาการของโรคเรื้อนจะแบ่งเป็น กลุ่มเชื้อน้อย และกลุ่มเชื้อมาก โดยกลุ่มเชื้อน้อยจะใช้เวลารักษาประมาณ 6 เดือน แต่กลุ่มเชื้อมากจะใช้เวลารักษาประมาณ 2 ปี
นพ.รัชต์กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเรื้อนในปัจจุบันพบว่ามีอยู่ประมาณกว่า 10,000คน และเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการสงเคราะห์ทางเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนการฝึกอาชีพ แล้วประมาณ 4,000คน ส่วนแนวทางในการดำเนินงานของทางสถาบันฯ ในปี 2554 นี้ จะมุ่งเน้นให้การช่วยเหลือในจังหวัดที่มีปัญหา และยังมีความชุกของโรคสูงอยู่ คือ พื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี นราธิวาส ขณะที่อีกกลุ่มคือ ชาวไทยภูเขา เนื่องจากเป็นกลุ่มห่างไกล ความรู้ความเข้าใจยังไม่มากพอ และอีกกลุ่มที่สำคัญคือ กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดน ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์การปะทะกัน คนกลุ่มนี้จะอพยเข้ามาในประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบพื้นที่ในอำเภอทางภาคอีสานที่มียังมีความชุกของโรคสูง คือ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด ดังนั้นทางสถาบันฯจึงให้ความสำคัญในการเข้าไปค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดเพื่อให้การช่วยเหลือละทำการรักษา
“สถาบันราชประชาสมาสัย เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในประเทศไทยที่รักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนครบวงจร ทั้งการให้ยา การผ่าตัด การดูแลรักษา การกายภาพบำบัด การพัฒนาอุปกรณ์ผยุงร่างกายให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาในเรื่องของแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคเรื้อนที่นับวันจะยิ่งมีน้อยลง เพราะภาพรวมโรคพบน้อย ขณะที่แพทย์นิยมรักษาโรคด้านอื่นมากกว่า ซึ่งทางสถาบันฯจะต้องหาทางรณรงค์เพื่อให้มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ในจำนวนที่เพียงพอกับผู้ป่วย และอีกปัญหาที่สำคัญคือ ผู้ป่วยจะยังเป็นที่รังเกียจในสังคม การประกอบอาชีพค้าขายต่างๆยังไม่สามารถทำได้ เพราะคนจะไม่ซื้อ ดังนั้นทางรัฐบาลจึงมีการอุดหนุนงบประมาณผ่านสถาบันฯ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจแก่ผู้ป่วยเหล่านี้” นพ.รัชต์กล่าว