องค์การอนามัยโลกคาด ปี 2025 ทั่วโลกจะมีคนป่วยความดันสูงกว่า 1.56 พันล้านคน ขณะที่ไทยพบป่วยเพิ่มขึ้น 5 เท่า กว่า 60% ไม่รู้ว่าเป็นโรค สธ.ชี้เป็นฆาตกรเงียบคร่าชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน
วันนี้ (5 เม.ย.) นพ.วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการเปิดเปิดงานวันอนามัยโลก 2013 (World Health Day 2013) ภายใต้แนวคิดความดันโลหิตดี ด้วยวิถีสุขภาพดี (Healthy blood pressure,Healthy lifestyle) ว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังกลายเป็นปัญหาทั่วโลก โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งถือเป็นฆาตกรเงียบ เพราะผู้ที่เป็นไม่รู้ตัวและกว่าจะรู้ตัวก็มีภาวะแทรกซ้อนของโรคจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน อัมพฤกษ์ อัมพาต และไตวาย อย่างไรก็ตาม โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ กินผักผลไม้ (รสหวานน้อย) ลดอาหารหวาน มัน เค็ม คลายเครียด ลดเหล้า งดบุหรี่ รวมถึงการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันและสอบสวนโรค ด้วยสื่อสัญลักษณ์ “ปิงปอง 7 สี”
นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุสำคัญของการตายก่อนวัยอันควร ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่าในปี พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ประชากรกว่า 1.56 พันล้านคน จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ละปีประชากรแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 1.5 ล้านคน สำหรับประเทศไทย พบว่าในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุความดันโลหิตสูง จำนวน 3,665 คน เปรียบเทียบอัตราป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงจากปี 2553 และปี 2554 พบว่ามีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า โดยผู้ชายที่เป็นโรคนี้ไม่ทราบว่าเป็นโรคถึงร้อยละ 60 ส่วนผู้หญิงไม่ทราบว่าเป็นโรคร้อยละ 40
นพ.นิทัศน์ รายยวา รองปลัด สธ.กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูงเกิดจากภาวะความผิดปกติที่มีระดับความดันโลหิตสูงกว่าระดับปกติของคนทั่วไป คือ ค่าความดันโลหิตตั้งแต่ 120/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ถือว่าเป็นภาวะที่ต้องทำการควบคุม แต่ถ้าวัดความดันโลหิตสูงได้ค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ถือว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะความดันโลหิตสูงส่วนมากจะไม่แสดงอาการเตือน แต่มักตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาจากปัญหาอื่น มีบางรายที่อาจมีอาการเตือน เช่น ปวดมึนท้ายทอย วิงเวียน ปวดศีรษะตุบๆ หากเป็นมานาน หรือความดันโลหิตสูงมากๆ อาจมีอาการเลือดกำเดาไหล ตามัว ใจสั่น มือเท้าชา เมื่อเกิดอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้ถูกต้องและทันท่วงที