xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่มงบเฉียด 80 ล้าน สร้าง “แล็บตรวจไดออกซินแห่งแรกของไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.ทุ่ม 77 ล้านบาท เปิดแล็บตรวจไดออกซินแห่งแรกของไทย ช่วยลดค่าใช้จ่ายส่งตรวจต่างประเทศแพงเฉียดแสนบาท เผยพบไดออกซินในอาหารไขมันสูง นม เนย ช็อกโกแลต ฯลฯ กินสะสมเป็นเวลานานเสี่ยงเป็นมะเร็ง เป็นสิวหัวช้าง ผื่นคันตามผิวหนัง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ความต้องการทางเพศลดส่งสัญญาณป่วย

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดห้องปฏิบัติการไดออกซินแห่งแรกของประเทศไทย ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่า สธ.ได้สนับสนุนกรมวิทยาศาสตร์ฯ ในการจัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการไดออกซิน” ด้วยงบประมาณจำนวน 77 ล้านบาท เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการดังกล่าว ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีระบบตรวจหาสารชนิดนี้ ต้องส่งออกต่างประเทศอย่างเดียว ทั้งๆที่สารไดออกซินพบได้ในอาหารไขมันสูง เช่น นม เนย ช็อกโกแลต ปลา หมู ไก่ ไข่ เป็นต้น ซึ่งหากผู้บริโภครับประทานเข้าไปสะสมเป็นเวลานานจะส่งผลต่อการรับรู้ มือเท้าชา และนำไปสู่มะเร็งในที่สุด

นางพรรณสิริกล่าวต่อว่า ในสหรัฐอเมริกาพบไดออกซินในไก่ ไข่ และปลาดุก เพราะสัตว์เหล่านี้กินอาหารที่มีดินปนเปื้อนสารดังกล่าว ขณะที่เบลเยี่ยมพบไดออกซินในสัตว์ปีก และไข่ เพราะมีการนำน้ำมันที่ปนเปื้อนไปทำเป็นอาหารสัตว์ องค์การอนามัยโลก จึงกำหนดว่า ในแต่ละวันร่างกายไม่ควรรับสารไดออกซินเกิน 1-4 พิโคกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขณะที่สหภาพยุโรป ได้ออกกฎระเบียบกำหนดค่าไดออกซินปนเปื้อนในอาหาร โดยขึ้นอยู่กับอาหารแต่ละชนิด ซึ่งหากเกินค่าที่กำหนดจะไม่อนุญาตนำเข้าอาหารประเภทนั้นๆ ดังนั้น ห้องปฏิบัติการดังกล่าวจะมีประโยชน์ทั้งในแง่ความปลอดภัยของผู้บริโภคและการส่งออกด้วย

ด้าน นางดวงจันทร์ สุประเสริฐ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไดออกซิน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ไดออกซิน เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ อาทิ การเผาขยะ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในรถยนต์ หรือในโรงงานอุตสาหกรรม โดยสารเหล่านี้จะกระจายไปในสิ่งแวดล้อม และปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร จำพวกอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากไดออกซินเป็นสารที่ละลายได้ดีในไขมัน มีความคงตัวสูง สลายตัวได้ยาก เมื่อได้รับสารนี้จะส่งผลเสียต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยจะทำให้เกิดสิวหัวช้างบริเวณจมูก แก้ม คอ หลังใบหู หน้าอก หลัง อวัยวะสืบพันธุ์ ขา ทำให้เกิดผื่นคันตามผิวหนัง รอยไหม้บนผิวหนัง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ทำให้เดินหรือเคลื่อนไหวลำบาก ปวดข้อ อาการแพ้ง่าย การนอนหลับผิดปกติ ความต้องการทางเพศลดลง มีความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน และอาจเกิดเนื้องอกลุกลามจนเป็นมะเร็ง

นางดวงจันทร์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีระบบการตรวจหาสารไดออกซินมาก่อน ต้องส่งตรวจต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง อย่างประเทศญี่ปุ่น ผู้ประกอบการไทยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 90,000 บาทต่อ 1 ตัวอย่าง และใช้เวลาในการตรวจราว 40 วัน สำหรับห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์ฯ จะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก โดยแบ่งวิธีการตรวจเป็น 2 วิธี คือ 1.การตรวจเบื้องต้นด้วยวิธี DR CALUX ซึ่งเป็นวิธีทำให้เกิดการเรืองแสง สำหรับตรวจหาปริมาณไดออกซินในอาหารในระดับน้อยมาก ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ตัวอย่างละ 15,000 บาท และ 2.การตรวจยืนยันด้วยวิธี HRGC/HRMS โดยใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ค่าใช้จ่ายตัวอย่างละ 50,000 บาท ทั้ง 2 วิธีใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น