xs
xsm
sm
md
lg

พบผู้ป่วยเรื้อรังร้อยละ 10 ในศูนย์อพยพมีโอกาสป่วยรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
พบผู้ป่วยเรื้อรังร้อยละ 10 ในศูนย์อพยพมีโอกาสป่วยรุนแรง กรมควบคุมโรคแนะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วยการสังเกตอาการ เตือน หากผิดปกติให้รีบพบแพทย์


นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังในศูนย์พักพิงประมาณร้อยละ 5-10 มีโอกาสป่วยรุนแรงขึ้น ถ้าขาดยาหรือมีความเครียด ดังนั้น กรมควบคุมโรคจึงขอแนะนำผู้ที่อยู่ในศูนย์พักพิงช่วยสังเกตอาการผู้ป่วยโรคเรื้อรังในศูนย์ของตนเอง และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น หรือรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ศูนย์ เพื่อให้การช่วยเหลือดังนี้โรคเบาหวาน ผู้ป่วยเมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จะแสดงอาการหิว ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมาก มึนงง หงุดหงิด ถ้าเป็นมากอาจเกร็งชัก หมดสติได้ เบื้องต้น ต้องรีบให้น้ำหวาน หรือน้ำตาลทันที อาการจะดีขึ้นภายใน 5-10 นาที ถ้ามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จะมีอาการกระหายน้ำมาก ปัสสาวะมาก อ่อนเพลีย อาจชักกระตุก ซึมหมดสติ ต้องรีบส่งเจ้าหน้าที่ให้การรักษาด้วยอินซูลินความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่บางรายอาจมีอาการเตือน เช่น ปวดมึน ท้ายทอย วิงเวียน ปวดศีรษะตุบๆ ถ้าเป็นมากอาจมีเลือดกำเดาไหล ตามัว ใจสั่น มือเท้าชา จึงควรรีบวัดความดันและพาไปพบแพทย์โรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการ เจ็บแน่นหรือจุกหน้าอก หรือปวดบริเวณกลางหน้าอก ปวดร้าวไปที่ไหล่ แขน หลัง คอ ขากรรไกร หรือ กระเพาะอาหาร หายใจถี่ขึ้น บางรายมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กระวนกระวาย แน่นท้อง เหงื่อออก ตัวเย็น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลมร่วมด้วย ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ศูนย์เพื่อพาไปพบแพทย์โรคหลอดเลือดสมอง โรคนี้อาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต อาการนำของโรค คือ

1. เวลายิ้มพบว่ามุมปากข้างหนึ่งตก 2. ยกแขนข้างใดข้างหนึ่งไม่ขึ้น 3. การพูดผิดปกติแม้ประโยคง่ายๆ พูดแล้วคนฟัง ฟังไม่รู้เรื่อง ถ้ามีอาการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้รีบส่งเจ้าหน้าที่ในศูนย์โดยด่วนเพื่อให้แพทย์รักษา หากได้รับการรักษาภายใน 3 ชั่วโมง จะช่วยรักษาชีวิตและสามารถฟื้นฟูกลับมาได้เป็นปกติ หรือใกล้เคียงคนปกติ

นพ.พรเทพกล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญควรช่วยกันดูแลผู้ป่วยเรื้อรังอย่าให้ขาดยาประจำตัว ถ้ารู้ว่าขาดยาให้ติดต่อโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเคยรักษา หรือโรงพยาบาลของรัฐใกล้ศูนย์พักพิง หรือโทร.ไปปรึกษาที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข 1422 หรือศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-3333
กำลังโหลดความคิดเห็น